ภาษาชอง
ภาษาชอง | |
---|---|
พะซา ช์อง | |
ออกเสียง | /pʰəsaː cʰɔ̤ːˀŋ/ [pʰasaː t͡ɕʰɔ̤̀ːˀŋ] |
ประเทศที่มีการพูด | ไทย |
ภูมิภาค | จังหวัดจันทบุรี, จังหวัดตราด, จังหวัดระยอง |
ชาติพันธุ์ | ชาวชอง 2,000 คน (2550)[1] |
จำนวนผู้พูด | 500 คน (2550)[1] |
ตระกูลภาษา | |
ระบบการเขียน | อักษรไทย, อักษรเขมร, อักษรชอง (ประดิษฐ์เมื่อ พ.ศ. 2553)[2] |
สถานภาพทางการ | |
ภาษาชนกลุ่มน้อยที่รับรองใน | ไทย |
รหัสภาษา | |
ISO 639-3 | cog |
ภาษาชอง (ชอง: พะซา ช์อง) เป็นภาษาหนึ่งในตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติก สาขามอญ-เขมร สาขาย่อยปอร์ตะวันตก[3] ใช้พูดกันในหมู่ชาวชองในจังหวัดจันทบุรี จังหวัดตราด และจังหวัดระยอง (ในอดีตมีในจังหวัดฉะเชิงเทรา เรียกว่า ภาษาป่า)[4] ในปัจจุบันภาษาชองเป็นจุดสนใจของโครงการฟื้นฟูภาษาโครงการหนึ่งในประเทศไทย[5]
ลักษณะเด่นอย่างหนึ่งของภาษาชองคือการจำแนกความต่างระหว่างลักษณะน้ำเสียง 4 ลักษณะ ระบบไวยากรณ์ยังไม่ได้รับการศึกษาอย่างกว้างขวาง ภาษาชองเป็นภาษาที่ไม่มีตัวเขียนจนกระทั่ง พ.ศ. 2543 เมื่อเจ้าของภาษาได้ร่วมกับนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดลสร้างระบบการเขียนภาษาชองด้วยอักษรไทย หลังจากนั้นจึงมีการจัดทำสื่อการเรียนการสอนเป็นภาษาชองขึ้น
ในขณะที่ภาษาชองในประเทศไทยได้รับการศึกษาเรื่อยมา แต่ภาษาชองในประเทศกัมพูชายังไม่ได้รับการค้นคว้าวิจัยมากนัก เดวิด แบรดลีย์ นักภาษาศาสตร์ชาวอเมริกัน รายงานว่าไม่มีผู้พูดภาษานี้เหลืออยู่แล้วในประเทศกัมพูชา[1]
การจำแนก
[แก้]ภาษาจำนวนหนึ่งในกลุ่มภาษาปอร์ถูกเรียกว่า "ภาษาชอง" แต่ทั้งหมดไม่ได้ประกอบกันเป็นภาษาเดียว ภาษาชองแท้ประกอบด้วยวิธภาษาส่วนใหญ่ที่พอล ซิดเวลล์ จัดอยู่ในกลุ่ม "ชองตะวันตก" ซึ่งรวมถึงภาษาถิ่นภาษาหลักในจังหวัดจันทบุรี (ส่วนใหญ่อยู่ทางตอนใต้ของอำเภอเขาคิชฌกูฏและทางด้านตะวันตกของอำเภอโป่งน้ำร้อน)[6] วิธภาษาในกลุ่มดังกล่าวเป็นคนละกลุ่มกับวิธภาษาที่เรียกว่า "กะซอง" หรือ "ชองจังหวัดตราด" ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่ม "ชองกลาง" ร่วมกับภาษาซำเร ในทำนองเดียวกัน บรรดาภาษาและวิธภาษาที่เรียกว่า "ชอุง" หรือ "สโอจ" ในจังหวัดกาญจนบุรีและในประเทศกัมพูชาเป็นภาษาย่อยของภาษาเดียวกันคือภาษาชอุง และจัดอยู่ในกลุ่ม "ชองใต้" ร่วมกับภาษาซูโอย
ภาษาหรือวิธภาษาในกลุ่มภาษาชองตะวันตก (ชองแท้) ตามการจำแนกของซิดเวลล์มีดังนี้[7]
- ชองจันทบุรี (Baradat ms.)
- (สาขา)
- ชองเฮิบ (Martin, 1974)
- ชองคลองพลู (Siripen Ungsitibonporn, 2001)
- (สาขา)
- ชองลอ (Martin, 1974)
- ชองวังกระแพร (Siripen Ungsitibonporn, 2001)
- ชอง (Huffman, 1983)
มารี อา. มาร์แต็ง ได้แบ่งภาษาชอง (ในจังหวัดจันทบุรี) ออกเป็น 2 ภาษาถิ่นตามคำลงท้ายประโยค โดยเรียกภาษาชองที่พูดในอำเภอเขาคิชฌกูฏว่า ชองลอ และเรียกภาษาชองที่พูดในอำเภอโป่งน้ำร้อนว่า ชองเฮิบ[8] ต่อมาอิสระ ชูศรี ได้ศึกษาภูมิศาสตร์ภาษาถิ่นของภาษาชองในจังหวัดจันทบุรีแล้วเสนอให้แบ่งภาษาชองออกเป็น 3 ภาษาถิ่นตามที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ดังนี้[6]
- ภาษาชองถิ่นเหนือ อยู่บริเวณบ้านคลองพลู บ้านน้ำขุ่น ตำบลคลองพลู และบ้านตะเคียนทอง บ้านชำเคราะห์ ตำบลตะเคียนทอง อำเภอเขาคิชฌกูฏ เป็นภาษาถิ่นที่มีจำนวนผู้พูดมากที่สุดและเป็นส่วนหนึ่งของภาษาชองถิ่นตะวันตกหรือ ชองลอ ตามการแบ่งของมาร์แต็ง
- ภาษาชองถิ่นใต้ อยู่บริเวณบ้านพังคะแลง บ้านทุ่งตาอิน บ้านกระทิง ตำบลพลวง และบ้านทุ่งสะพาน ตำบลชากไทย อำเภอเขาคิชฌกูฏ เป็นส่วนหนึ่งของภาษาชองถิ่นตะวันตกหรือ ชองลอ ตามการแบ่งของมาร์แต็ง
- ภาษาชองถิ่นตะวันออก อยู่บริเวณบ้านวังกระแพร ตำบลทับไทร อำเภอโป่งน้ำร้อน ในปัจจุบันมีผู้พูดอยู่เพียงจำนวนน้อยและส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ภาษาถิ่นนี้ยังมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า ชองเฮิบ ตามการแบ่งของมาร์แต็ง
จากการสัมภาษณ์ผู้พูดภาษาถิ่นเหนือและผู้พูดภาษาถิ่นใต้ของอิสระ ชูศรี ทำให้ทราบว่าผู้พูดภาษาถิ่นทั้งสองสามารถเข้าใจภาษาของอีกฝ่ายได้ดีแม้จะมีความแตกต่างด้านการออกเสียงและด้านวงศัพท์อยู่บ้าง แต่พวกเขาไม่ทราบเกี่ยวกับภาษาถิ่นตะวันออก (ซึ่งอยู่อีกด้านหนึ่งของเขาสอยดาว) มากนัก[9]
สัทวิทยา
[แก้]พยัญชนะ
[แก้]ลักษณะการออกเสียง | ตำแหน่งเกิดเสียง | |||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|
ริมฝีปาก | ปุ่มเหงือก | เพดานแข็ง | เพดานอ่อน | เส้นเสียง | ||||
เสียงนาสิก | m | n | ɲ | ŋ | ||||
เสียงหยุด | ก้อง | b | d | |||||
ไม่ก้อง | ไม่พ่นลม | p | t | c | k | ʔ | ||
พ่นลม | pʰ | tʰ | cʰ | kʰ | ||||
เสียงเสียดแทรก | (f) | s | h | |||||
เสียงรัว | r | |||||||
เสียงข้างลิ้น | l | |||||||
เสียงกึ่งสระ | w | j |
- หน่วยเสียงที่อยู่ในวงเล็บคือหน่วยเสียงที่ปรากฏในคำยืมจากภาษาไทย
- หน่วยเสียงที่เป็นได้ทั้งพยัญชนะต้นและพยัญชนะท้ายมี 12 หน่วยเสียง ได้แก่ /m/, /n/, /ɲ/, /ŋ/, /p/, /t/, /c/, /k/, /ʔ/, /h/, /w/ และ /j/
- หน่วยเสียงพยัญชนะต้นควบในภาษาชองถิ่นตะเคียนทองและคลองพลูมี 12 หน่วยเสียง ได้แก่ /mr/, /ml/, /pr/, /pl/, /pʰr/, /pʰl/, /kr/, /kl/, /kw/, /kʰr/, /kʰl/ และ /kʰw/ ทั้งนี้ ในภาษาชองถิ่นวังกระแพรออกเสียง /kʰw/ เป็น [f]
สระ
[แก้]สระเดี่ยว
[แก้]ระดับลิ้น | ตำแหน่งลิ้น | ||
---|---|---|---|
หน้า | กลาง | หลัง | |
สูง | i, iː | ɨ, ɨː | u, uː |
กลาง | e, eː | ə, əː | o, oː |
ต่ำ | ɛ, ɛː | a, aː | ɔ, ɔː |
สระประสม
[แก้]ภาษาชองถิ่นตะเคียนทองและคลองพลูมีหน่วยเสียงสระประสม 3 หน่วยเสียง ได้แก่ /iə/, /ɨə/ และ /uə/ สองหน่วยเสียงแรกปรากฏเฉพาะในคำยืมจากภาษาไทย[11]
ลักษณะน้ำเสียง
[แก้]ภาษาชองถิ่นตะเคียนทองและคลองพลูมีลักษณะน้ำเสียง 4 ลักษณะ ได้แก่ ลักษณะน้ำเสียงปกติ (เสียงกลางปกติ) [V], ลักษณะน้ำเสียงก้องมีลม (เสียงต่ำใหญ่) [V̤̀], ลักษณะน้ำเสียงปกติตามด้วยการกักของเส้นเสียง (เสียงสูงบีบ) [V̂ˀ] และลักษณะน้ำเสียงก้องมีลมตามด้วยการกักของเส้นเสียง (เสียงต่ำกระตุก) [V̤̀ˀ][12]
ระบบการเขียน
[แก้]เดิมทีภาษาชองไม่มีตัวอักษรสำหรับเขียน เนื่องจากเป็นภาษาที่ใช้พูดเท่านั้น ต่อมาเฉิน ผันผาย อดีตกำนันตำบลคลองพลู อำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี ที่มีความพยายามในการรักษาอัตลักษณ์ชอง ได้คิดค้นระบบการเขียนใหม่ โดยศึกษาจากอักษรไทย อักษรมอญ อักษรเขมร และอักษรโรมัน และได้รับคำแนะนำจากนักภาษาศาสตร์แคนาดาที่ออกแบบอักษรให้ใช้งานง่าย มีระบบการเขียนบรรทัดเดียวแบบภาษาอังกฤษ ไม่มีสระและวรรณยุกต์อยู่เหนือหรือใต้บรรทัด และมีความพยายามที่จะทำเป็นชุดแบบอักษร ใน พ.ศ. 2553 มีผู้สามารถใช้อักษรนี้ได้ระดับคล่องแคล่ว 20 คน[13][2]
ตัวเขียนภาษาชองอักษรไทยตามที่คณะกรรมการจัดทำระบบเขียนภาษาท้องถิ่นของกลุ่มชาติพันธุ์ด้วยอักษรไทยแห่งราชบัณฑิตยสถาน (ปัจจุบันคือสำนักงานราชบัณฑิตยสภา) ได้กำหนดไว้ มีดังนี้
|
|
|
สถานการณ์ในปัจจุบัน
[แก้]ปัจจุบันภาษาชองอยู่ภาวะวิกฤตใกล้สูญ คนเฒ่าคนแก่เสียดายที่ภาษาชองจะสูญหายไป โดยปัจจุบันมีชาวชองอยู่อาศัยถิ่นฐานเดิมบริเวณตำบลคลองพลู อำเภอเขาคิชฌกูฏ (แต่แหล่งที่พูดกันมากที่สุดอยู่ที่ตำบลตะเคียนทอง) จังหวัดจันทบุรี ประมาณ 6,000 คน แต่ที่พูดได้มีเพียงประมาณ 500 คน โดยส่วนใหญ่เป็นคนสูงอายุที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ส่วนวัยรุ่นชาวชองนั้นอายที่จะพูดภาษาดั้งเดิมประจำชาติพันธุ์ของตน
ขณะนี้มหาวิทยาลัยมหิดลพยายามจะฟื้นฟูโดยให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการบันทึกเสียงและถอดภาษาพูดเป็นภาษาเขียน ให้โรงเรียนบ้านคลองพลูสอนภาษาชองให้กับลูกหลานชอง แทรกเป็นหลักสูตรท้องถิ่นในช่วงชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 5
จากการศึกษาของอิสระ ชูศรี พบว่า ผู้พูดภาษาชองถิ่นเหนือ (ตะเคียนทอง–คลองพลู) มองว่าตนเองเป็นกลุ่มผู้พูดภาษาถิ่นแยกต่างหากจากผู้พูดภาษาชองถิ่นใต้ (พลวง–ชากไทย) ความตระหนักนี้เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผู้พูดภาษาถิ่นเหนือเลือกที่จะเปิดโครงการฟื้นฟูภาษาชองในถิ่นตนเองแทนที่จะเป็นภาษาชองของทั้งอำเภอเขาคิชฌกูฏ[9] อิสระ ชูศรี ยังให้ความเห็นว่า จากมุมมองทางภาษาศาสตร์สังคม ภาษาชองถิ่นเหนือมีอนาคตที่สดใสกว่าภาษาชองถิ่นใต้ในแง่การคงจำนวนผู้พูดไว้ ในขณะที่ภาษาชองถิ่นตะวันออก (วังกระแพร) ในอำเภอโป่งน้ำร้อนนั้นอยู่ในภาวะใกล้สูญเต็มที[9]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 ภาษาชอง ที่ Ethnologue (21st ed., 2018) อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ
<ref>
ไม่สมเหตุสมผล มีนิยามชื่อ "e21" หลายครั้งด้วยเนื้อหาต่างกัน - ↑ 2.0 2.1 แบบเรียนภาษาชอง = Chong language
- ↑ Hammarström, Harald; Forke, Robert; Haspelmath, Martin; Bank, Sebastian, บ.ก. (2020). "Chong of Chanthaburi". Glottolog 4.3.
- ↑ วิบูลย์ เข็มเฉลิม. วิถีคนป่าตะวันออกผืนสุดท้าย. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, หน้า 69–71.
- ↑ Premsrirat, Suwilai. "Chong Language Revitalization Project" (PDF). Mekong Watch. Mahidol University. สืบค้นเมื่อ 22 June 2019.
- ↑ 6.0 6.1 Choosri, Isara. (2002). Mapping dialects of Chong in Chanthaburi province, Thailand: an application of Geographical Information System (GIS) (M.A. dissertation, Mahidol University).
- ↑ Sidwell, Paul. (2009). Classifying Austro Asiatic languages: history and state of the art. LINCOM studies in Asian linguistics, 76. Munich: Lincom Europa.
- ↑ * Martin, Marie A. (1975). "Les dialectes Pears dans leurs rapports avec les langues nationales." Journal of the Siam Society, 63(2), 86.
- ↑ 9.0 9.1 9.2 Choosri, Isara. (2002). "Dialects of Chong." Mon-Khmer Studies, 32, 67.
- ↑ ราชบัณฑิตยสถาน. (2555). คู่มือระบบเขียนภาษาชองอักษรไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน, หน้า 33.
- ↑ 11.0 11.1 ราชบัณฑิตยสถาน. (2555). คู่มือระบบเขียนภาษาชองอักษรไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน, หน้า 38.
- ↑ ราชบัณฑิตยสถาน. (2555). คู่มือระบบเขียนภาษาชองอักษรไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน, หน้า 39.
- ↑ องค์ บรรจุน. (2553). สยาม หลากเผ่าหลายพันธุ์. กรุงเทพฯ: มติชน, หน้า 132.
อ่านเพิ่ม
[แก้]- เจตน์จรรย์ อาจไธสง, พระอธิการธวัชชัย จนฺทโชโต, พระอาจารย์สี เตชพโล, เฉิน ผันผาย, และคำรณ วังศรี. (2556). แบบเรียนภาษาชอง. พิมพ์ครั้งที่ 3. จันทบุรี: [ต้นฉบับ].
- พระครูธรรมสรคุณ (เขียน ขนฺธสโร), และธรรม พันธุศิริสด. (2541). "อารยธรรมชอง จันทบุรี." ใน อารยธรรม ชอง จันทบุรี และอาณาจักรจันทบูร เมืองเพนียต. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ไทยรายวัน.
- Gordon, Raymond G., Jr. (ed.). (2005). Ethnologue: Languages of the World, Fifteenth edition. Dallas, Tex.: SIL International. Online version: http://www.ethnologue.com/.
- DiCanio, C.T. (2009) The Phonetics of Register in Takhian Thong Chong, Journal of the International. Phonetic Association, 39(2): 162–188
- Huffman, Franklin E. (1985). "The phonology of Chong, a Mon-Khmer language of Thailand".
{{cite journal}}
: Cite journal ต้องการ|journal=
(help) - Isarangura, N. N. (1935). Vocubulary of Chawng words collected in Krat Province. [S.l: s.n.].
- Premsrirat, Suwilai; Rojanakul, Nattamon (2015). Chong. In Paul Sidwell and Mathias Jenny (eds.), The Handbook of Austroasiatic Languages, 603-642. Leiden: Brill.
- Suphanphaiboon, Surekha (1982). The Phonology of Chong (Takianthong, Makham District Chantaburi) (วิทยานิพนธ์).