ข้ามไปเนื้อหา

อันดับกิ้งก่าและงู

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Squamata)
อันดับกิ้งก่าและงู
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่:
Early JurassicPresent, 199–0Ma[1]
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Reptilia
อันดับ: Squamata
Oppel, 1811
อันดับย่อย
แผนที่ (สีดำ) แสดงให้เห็นถึงการกระจายพันธุ์ของสัตว์ในอันดับกิ้งก่าและงู

อันดับกิ้งก่าและงู (อังกฤษ: Lizard and Snake) เป็นอันดับของสัตว์เลื้อยคลานที่ยังคงสืบเผ่าพันธุ์มาจนถึงปัจจุบันนี้ ใช้ชื่อว่า Squamata (/สะ-ควอ-มา-ตา/) นับเป็นอันดับที่มีจำนวนสมาชิกมากที่สุดและพบได้หลากหลายกว้างขวางมากที่สุด

โดยอันดับนี้แบ่งได้เป็น 2 อันดับย่อย คือ Lacertilia หรือ อันดับย่อยกิ้งก่า กับ Serpentes หรือ อันดับย่อยงู

การที่รวมสัตว์เลื้อยคลานทั้ง 2 ประเภทนี้ไว้ด้วยกัน เหตุเพราะมีโครงสร้างบางอย่างที่ร่วมกันถึง 70 ประการ โดยงูนั้นมีวิวัฒนาการมาจากกิ้งก่าในวงศ์ Amphisbaenidae ที่มีการลดรูปของขา นอกจากนั้นแล้วยังมีกล้ามเนื้อ, กระดูก, กะโหลก, อวัยวะถ่ายอสุจิที่เป็นถุงพีนิสคู่ แต่มีความแตกต่างกันทางด้านสรีระ พฤติกรรม และการทำงานของโครงสร้างอวัยวะ

ทั้งกิ้งก่าและงูมีเกล็ดปกคลุมลำตัว โดยมีปริมาณ ลักษณะ และจำนวนที่ปกคลุมอวัยวะแต่ละส่วนแตกต่างกันตามลักษณะทางอนุกรมวิธาน กิ้งก่าบางชนิดมีกระดูกในชั้นหนังซ้อนอยู่ใต้เกล็ดซึ่งไม่มีในงู พื้นผิวลำตัวของกิ้งก่ามีต่อมผิวหนังไม่มากแต่บริเวณด้านหน้าช่องเปิดทวารร่วมและทางด้านในของต้นขาหลังของกิ้งก่าหลายชนิดมีต่อมผิวหนังค่อนข้างมาก ซึ่งสังเคราะห์สารเคมีเพื่อใช้ในการกำหนดอาณาเขตและหน้าที่ประการต่าง ๆ ซึ่งจำนวนต่อมดังกล่าวนี้อีกทั้งตำแหน่งที่ตั้งแตกต่างกันระหว่างเพศ โดยตัวผู้จะมีมากกว่าและใหญ่กว่า ซึ่งต่อมดังกล่าวนี้ยังใช้เป็นลักษณะในการจำแนกประเภทอีกด้วย

กิ้งก่าและงูหลายชนิดสามารถปล่อยท่อนหางให้หลุดจากลำตัวเพื่อหนีเอาตัวรอดจากศัตรูได้ เช่น ในวงศ์จิ้งเหลน (Scincidae) บางตัวอาจหลุดได้หลายครั้งในช่วงชีวิต เหตุที่หลุดและงอกใหม่ได้เนื่องจากลักษณะการเรียงตัวของกล้ามเนื้อกับเนื้อเยื่อที่เกี่ยวพันซึ่งอาจมีตำแหน่งเดียวหรือหลายตำแหน่ง เมื่อหางหลุดไปแล้วอาจงอกขึ้นมาใหม่สั้นกว่าเดิมหรือใช้เวลานานกว่าจะเท่าเดิม เพราะมีแกนเป็นแท่งกระดูกอ่อนทดแทนปล้องของกระดูกสันหลังแทน แต่ส่วนของงูแล้วเมื่อหลุดไปแล้วไม่อาจงอกใหม่ได้

กิ้งก่าในหลายวงศ์ ได้ลดรูปของขาลงจนหดเล็กสั้นจนดูเหมือนไม่มีขา รวมทั้งนิ้วด้วย เพื่อเป็นประโยชน์ในการอาศัยอยู่ในโพรงดิน เช่น จิ้งเหลนด้วง เป็นต้น

อวัยวะถ่ายอสุจิของตัวผู้ของกิ้งก่าและงูจะมีลักษณะเป็นถุงพีนิสอยู่ทางด้านท้ายของช่องเปิดทวารร่วม พื้นผิวด้นนอกจะเป็นร่องเพื่อใช้เป็นเส้นทางในการลำเลียงตัวอสุจิเข้าสู่ช่องทวารร่วมของตัวเมียขณะผสมพันธุ์ ซึ่งถุงนี้มีลักษณะเป็นหนามและเป็นสันซึ่งอยู่ทางด้านหน้าของถุง ซึ่งลักษณะรูปร่างและหนามของถุงนี้จะแตกต่างกันไปตามวงศ์ เช่น กิ้งก่าในวงศ์เหี้ย (Varanidae) มีแท่งกระดูกอยู่ภายในถุงเพื่อเสริมให้มั่นคงขณะผสมพันธุ์ ขณะเดียวกันในตัวเมียก็มีกระดูกดังกล่าว แต่มีขนาดเล็กมาก

ขยายพันธุ์ได้ด้วยการวางไข่และตกลูกเป็นตัว ซึ่งปริมาณและจำนวนที่ออกมาแตกต่างกันไปตามวงศ์, สกุล และชนิด แต่ในส่วนของกิ้งก่าแล้วมีเพียงร้อยละ 20 เท่านั้นที่ตกลูกเป็นตัว อีกทั้งยังมีบางส่วนที่เกิดได้โดยไม่ผ่านการผสมพันธุ์ด้วย เช่น ในวงศ์เหี้ย, Leiolepidinae หรือ แย้ หรืองูในวงศ์ Typhlopidae [2][3][4]

อ้างอิง

[แก้]
  1. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ Hutchinson2012
  2. วีรยุทธ์ เลาหะจินดา, วิทยาสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก หน้า 371-373 (พ.ศ. 2552) ISBN 978-616-556-016-0
  3. Scientists Discover Self-Cloning Lizard Species On Vietnamese Restaurant Menu (อังกฤษ)
  4. เวอร์จินเบิร์ธ !! มังกรโคโมโดสาวฟักไข่ไม่ใช้ตัวผู้

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
pFad - Phonifier reborn

Pfad - The Proxy pFad of © 2024 Garber Painting. All rights reserved.

Note: This service is not intended for secure transactions such as banking, social media, email, or purchasing. Use at your own risk. We assume no liability whatsoever for broken pages.


Alternative Proxies:

Alternative Proxy

pFad Proxy

pFad v3 Proxy

pFad v4 Proxy