ไทยวน
ᨤᩫ᩠ᨶᨾᩮᩬᩥᨦ คนเมือง | |
---|---|
การรำของชาวยวนในจังหวัดเชียงใหม่ โดยนางรำ นุ่งซิ่นต๋าลื้อสวมเสื้อปั๊ด แบบชาวไทลื้อ ไทเขิน ประกอบการรำ | |
ประชากรทั้งหมด | |
6,000,000[1] | |
ภูมิภาคที่มีประชากรอย่างมีนัยสำคัญ | |
ประเทศไทย, ประเทศลาว (ห้วยทราย, เมืองต้นผึ้ง), ประเทศพม่า (ท่าขี้เหล็ก, เมียวดี) | |
ภาษา | |
ภาษาไทยเหนือ (คำเมือง) และ ภาษาไทยกลาง | |
ศาสนา | |
ศาสนาพุทธเถรวาท และศาสนาผี ส่วนน้อยนับถือ ศาสนาพุทธมหายาน ศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลาม | |
กลุ่มชาติพันธุ์ที่เกี่ยวข้อง | |
ชาวไท |
ส่วนหนึ่งของชุดบทความ |
วัฒนธรรมล้านนา |
---|
ยวน, โยน, โยนก, ไทยวน, ไตยวน, ไทยภาคเหนือ, ไทยล้านนา, คนเมือง (คำเมือง: ᨤᩫ᩠ᨶᨾᩮᩬᩥᨦ, คนเมือง)[2] เป็นประชากรที่พูดภาษาตระกูลภาษาขร้า-ไทกลุ่มหนึ่ง ตั้งถิ่นฐานทางตอนเหนือของประเทศไทยซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของอาณาจักรล้านนา[3] เป็นกลุ่มประชากรที่ใหญ่ที่สุดในอาณาจักร ปัจจุบันชาวไทยวนเป็นพลเมืองหลักในภาคเหนือของประเทศไทย มักเรียกตนเองว่า "คนเมือง" ซึ่งเป็นคำเรียกที่เกิดขึ้นในยุคเก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง เพื่อฟื้นฟูประชากรในล้านนาหลังสงคราม โดยการกวาดต้อนกลุ่มคนจากที่ต่าง ๆ เข้ามายังเมืองของตน
ประวัติ
[แก้]สมัยก่อนล้านนา
[แก้]หลักฐานการตั้งถิ่นฐานของชาวไทยวนนั้นไม่แน่ชัด เช่นเดียวกับประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานของชนชาติไทย บ้างก็ว่าชาวไทยวนกลุ่มหนึ่งที่เข้ามาสู่แหลมอินโดจีน แล้วมาตั้งหลักแหล่งอยู่ทางภาคเหนือของประเทศไทยซึ่งมีผู้คนอยู่อาศัยตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์ ต่อมาตั้งชุมชนตามหุบเขา ริมแม่น้ำ ที่ราบลุ่มต่าง ๆ ของจังหวัดเชียงราย[4]
ตามตำนานสิงหนวัติกล่าวว่า สิงหนวัติกุมารได้อพยพผู้คนบริวารมาจากนครไทยเทศ เมืองราชคฤห์ (เข้าใจว่าอยู่ในมณฑลยูนนาน) มาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เชียงแสนราวต้นสมัยพุทธกาล ตั้งชื่อบ้านเมืองนี้ว่า โยนกนครไชยบุรีราชธานีศรีช้างแส่น เรียกประชาชนเมืองนี้ว่า ยวน ซึ่งเป็นเสียงเพี้ยนมาจากชื่อเมือง "โยนก" นั่นเอง[5]
ส่วนตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ระบุว่ามีชนชาติหนึ่งเข้ามาอยู่อาศัยอยู่ทางทิศเหนือของจังหวัดลำพูนและลำปาง บริเวณรอยต่อประเทศพม่า ลาว และไทย ในปัจจุบัน กล่าวกันว่ากษัตริย์ชาวลัวะองค์แรกเสด็จลงมาจากสวรรค์พร้อมกับบริวาร 1,000 คน มาเพื่อปกครองชนชาติอื่น ๆ นามว่า พระเจ้าลาวจักรเทวราชา (ลาวจกราช, ลวจักราช) ทรงสร้างเมืองหิรัญนครเงินยาง ปฐมกษัตริย์น่าจะมาพร้อมกับผู้ติดตามกลุ่มไทยกลุ่มใหญ่ อพยพเข้าทางดินแดนของชาวลัวะเมื่อประมาณ พ.ศ. 1600–1700[6]
อาณาจักรล้านนา
[แก้]พญามังรายทรงสถาปนาอาณาจักรล้านนาเมื่อ พ.ศ. 1802 เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 25 แห่งหิรัญนครเงินยางเชียงลาว ต่อมาย้ายราชธานีมาอยู่เชียงราย และมีอำนาจเหนือเมืองอื่น ๆ ในภาคเหนือคือ แคว้นหริภุญไชย เชียงของ ลำปาง เป็นต้น ต่อมาทรงสร้างเมืองใหม่ที่นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. 1839 พอในสมัยพญาผายูได้ย้ายราชธานีมาอยู่ที่เชียงใหม่เมื่อ พ.ศ. 1882 เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางของอาณาจักร จนต่อมา พ.ศ. 2101 พระเจ้าบุเรงนองแห่งหงสาวดีได้นำทัพมาตี อาณาจักรล้านนา ทำให้พม่าปกครองเมืองเหนือเป็นเวลานานถึง 200 ปี
แยกย้าย
[แก้]ใน พ.ศ. 2347 ซึ่งขณะนั้นเชียงแสนตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดเกล้าฯ ให้กรมหลวงเทพหริรักษ์และพระยายมราช พร้อมด้วยกองทัพลาว ยกทัพไปตีเมืองเชียงแสน เมื่อตีเมืองเชียงแสนได้แล้วจึงให้รื้อกำแพงเมือง รื้อบ้านเมือง และรวบรวมผู้คนชาวเชียงแสนโดยแบ่งเป็น 5 ส่วน ส่วนหนึ่งให้ไปอยู่เชียงใหม่ ส่วนหนึ่งให้ไปอยู่ที่ลำปาง ส่วนหนึ่งอยู่ที่น่าน ส่วนหนึ่งอยู่ที่เวียงจันทน์ และอีกส่วนหนึ่งให้เดินทางมายังภาคกลางโดยให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ราชบุรีและสระบุรี[7]
ที่มาของชื่อ
[แก้]ชื่อที่ใช้เรียกตนเอง
[แก้]ตำนานชินกาลมาลีปกรณ์และสังคีตวงศ์ ได้ระบุชื่อถึงว่าล้านนามีศูนย์กลางที่เชียงใหม่ชื่อ “พิงครัฐ” และมีคำว่า โยนรัฐและโยนประเทศ ที่หมายถึงแคว้นโยนก ในพงศาวดารโยนก ได้เรียกล้านนาว่า ล้านนาไทยโยนกประเทศ มหารัฏฐะ และสามเทสะ[8] ส่วนในตำนานพระเกศธาตุเมืองสร้อยได้เรียกล้านนาว่า "เมืองไทย" เช่นเดียวกับในโคลงเรื่องมังทรารบเชียงใหม่ก็ได้เรียกล้านนาว่า "เมืองไทย" เช่นเดียวกัน และ "เมืองพิง" ก็เป็นอีกคำที่ใช้เรียก[9] แต่ชาวล้านนาในสมัยดังกล่าวจะนิยามตนเองหลากหลายชื่อ เช่น ไทย ไต ไท ไทโยน ไทยวน ไตโยน ไตยวน[10]
ส่วนคำว่า “คนเมือง” เป็นคำเรียกที่เกิดขึ้นในยุคเก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง เพื่อฟื้นฟูประชากรในล้านนาหลังสงคราม โดยการกวาดต้อนกลุ่มคนจากที่ต่าง ๆ เข้ามายังเมืองของตน เช่น ไทลื้อ ไทเขิน ไทใหญ่ และไทยอง[ต้องการอ้างอิง]
ชื่อที่ชาวไทยภาคกลางใช้เรียก
[แก้]ชาวไทยภาคกลางในสมัยโบราณเคยเรียกชาวไทยในถิ่นเหนือว่า "ยวน" โดยปรากฏหลักฐานในวรรณคดีเช่น ลิลิตยวนพ่าย ซึ่งกวีของอยุธยารจนาขึ้นในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ นักวิชาการต่างประเทศสันนิษฐานว่า คำว่า ยวน อาจจะมาจากคำสันสกฤตว่า yavana แปลว่าคนแปลกถิ่นหรือคนต่างถิ่น[11]
ชื่อที่ชาวต่างชาติใช้เรียก
[แก้]ชื่อที่ชาวอังกฤษใช้เรียก
[แก้]เจ้าอาณานิคมอังกฤษในสมัยที่เข้าปกครองพม่ามองว่าชาวยวนเป็นพวกเดียวกับชาวชาน (ไทใหญ่) โดยเรียกพวกนี้ว่า "ชานสยาม" (Siamese Shan) เพื่อแยกแยะออกจากจากชาวรัฐชานในประเทศพม่าที่อังกฤษเรียกว่า "ชานพม่า" (Burmese Shan)[12] แสดงให้เห็นถึงความใกล้ชิดทางวัฒนธรรมประเพณีของชาวไทใหญ่หลาย ๆ กลุ่ม
ชื่อที่ชาวจีนใช้เรียก
[แก้]หลักฐานจีนเรียกล้านนาว่า ปาไป่สีฟู่กั๋ว แปลว่า "อาณาจักรสนมแปดร้อย" เป็นชื่อที่ราชวงศ์หยวนใช้เรียกอาณาจักรล้านนา ที่มาของชื่อมีอธิบายในพงศาวดารราชวงศ์หยวนฉบับใหม่ กล่าวไว้ว่า "อันปาไปสีฟู่ [สนมแปดร้อย] นั้น ชื่อภาษาอี๋ว่าจิ่งไม่ [เชียงใหม่] เล่าลือกันว่าผู้เป็นประมุขมีชายาถึงแปดร้อย แต่ละคนเป็นผู้นำค่ายหนึ่ง จึงได้นามตามนี้…"[13] พระยาประชากิจกรจักร์(แช่ม บุนนาค) ได้กล่าวไว้ในพงศาวดารโยนกว่า “ยวน” เป็นคำที่เพี้ยนมาจากคำว่า “ยุนซาง” หรือ “ฮวนซาน” ในภาษาจีนแปลว่า กลุ่มที่อยู่อาศัยอยู่ทางทิศใต้ ซึ่งหมายถึงคนซานหรือสยามนั่นเอง[8] ส่วนชาวจีนยูนนาน หรือฮ่อ เฉพาะที่อาศัยอยู่ในภาคเหนือของประเทศไทยเท่านั้น เรียกชาวไทยวน หรือชาวไทยภาคเหนือว่า “เกอหลอ” บางท้องถิ่นออกเสียงว่า “โกโล” หรือ “กอลอ” ซึ่งชื่อเรียกนี้เป็นคำที่มาจากคำว่า กร๋อม กล๋อม กะหลอม ก๋าหลอม หรือ “ขอม” ซึ่งคำนี้เป็นคำที่ใช้เรียกผู้คนที่อยู่บริเวณทางทิศใต้เขตแดนของตนลงมา ไม่ได้หมายถึงชาวเขมรแต่อย่างใด[14]
ชื่อที่ชาวพม่าใช้เรียก
[แก้]“ไตยวน” “ไตยน” “โยน” “ยูน” เป็นคำเรียกจากกลุ่มชาวพม่า[15]
ชื่อที่ชาวลาวใช้เรียก
[แก้]ชาวลาวเรียกชาวไทยภาคเหนือว่า “ยน” หรือ “ยวน”[14]
อื่นๆ
[แก้]จากตำนานชินกาลมาลีปกรณ์และสังคีติยวงศ์ได้ระบุชื่อถึงว่าล้านนามีศูนย์กลางที่เชียงใหม่ชื่อ “พิงครัฐ” และมีคำว่า โยนรัฐและโยนประเทศ ที่หมายถึงแคว้นโยนก แต่ชาวล้านนาในสมัยดังกล่าวจะนิยามตนเองหลากหลายชื่อ เช่น ไตหรือไท ไทโยน ไทยวน
ในงานเรื่อง ชนชาติไท ซึ่งตีพิมพ์ใน พ.ศ. 2466 วิลเลียม คลิฟตัน ดอดด์ มิชชันนารีชาวอเมริกันซึ่งทำงานที่เชียงรายนานถึง 32 ปี (พ.ศ. 2429–2461) กล่าวถึงคนเขตภาคเหนือตอนบนของไทยว่าเป็น "ชาวยวน" มิใช่ “ชาวลาว” ดังที่หลายฝ่ายเข้าใจ
นิยามชาติพันธุ์ไทยวน
[แก้]ไทยวนเป็นชื่อเรียกกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลไทซึ่งเป็นประชากรหลักของแคว้นโยนกและอาณาจักรล้านนาในอดีต มีศูนย์กลางอำนาจอยู่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำกกและแอ่งเชียงใหม่-ลำพูน แต่ในบริบทปัจจุบันมิได้หมายถึงเชื้อชาติเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการแสดงออกทางสังคมที่เป็นอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ ส่วนคำว่า คนเมือง ในบริบทปัจจุบัน ก็มิได้หมายถึงคนยวนแต่เพียงกลุ่มเดียว แต่ยังรวมถึงคนหลายกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งพูดภาษาตระกูลไทที่มีสำนึกและแสดงออกในทางสังคมบางประการร่วมกัน
หากนิยามชาวไทยวนแบ่งตามยุคสมัย ดังตารางดังนี้[16]
ช่วงเวลา | แนวโน้มกลุ่มชาติพันธุ์ไทยวน |
---|---|
ในระหว่างยุคตำนานถึง พ.ศ. 1839 (แคว้นโยนกและแคว้นพะเยาในยุคก่อนประวัติศาสตร์) | ชาวไทยวนหมายถึงกลุ่มคนผู้ใช้ภาษาตระกูลไท (อาจเป็นชาวไทลื้อ) และคนพื้นเมือง (อาจเป็นชาวลัวะ) |
สถาปนาเมืองเชียงใหม่ (พ.ศ. 1839 ถึงช่วง พ.ศ. 1985–2030) | ชาวแคว้นโยนกเดิมรวมถึงคนพื้นเมืองในบริเวณลุ่มน้ำปิง (แอ่งเชียงใหม่-ลำพูน) และชาวแคว้นพะเยาเดิม |
อาณาจักรล้านนา–ฟื้นม่าน | ชาวแคว้นโยนกเดิม แคว้นพะเยาเดิม และแคว้นพิงค์ รวมถึงคนพื้นเมืองบางกลุ่มในภาคเหนือ เช่นประชากรกลุ่มใหญ่บริเวณลุ่มน้ำวัง ยม น่าน ฯลฯ และอาจรวมถึงคนกลุ่มน้อยและเชลยจากต่างถิ่นที่ถูกกลืนกลายเป็นชาวยวน |
ต้นรัตนโกสินทร์ | ประชากรของอาณาจักรล้านนาเดิมที่หลงเหลืออยู่ในภาคเหนือรวมถึงชาวยวนในภาคเหนือที่เรียกตนเองว่า คนเมือง และชาวล้านนาเดิมนอกภาคเหนือของประเทศไทยที่ยังเรียกตนเองว่า ยวน |
สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว | ชาวพื้นเมืองในภาคเหนือ (ประกอบด้วยชาวล้านนาเดิมและคนกลุ่มอื่น ๆ ที่ใช้ภาษาตระกูลไทและมีวิถีชีวิตแบบสังคมเมือง โดยเรียกตนเองว่า คนเมือง) และชาวล้านนาเดิมนอกภาคเหนือของประเทศไทยที่ยังเรียกตนเองว่า ยวน |
ปัจจุบัน | จากข้อมูลทางพันธุศาสตร์ประชากร อาจกล่าวได้ว่าชาวยวนอยู่ในเขตภาคเหนือของไทย คือ คนพื้นเมือง ไทลื้อ ไทยอง ปะหล่อง พล่าง และอื่น ๆ รวมถึงนอกเขตภาคเหนือของไทย ซึ่งเป็นประชากรที่เป็นลูกหลานของชาวล้านนาเดิม และยังพบว่ามีพันธุกรรมใกล้ชิดกับไทลื้อ โดยยังมีสำนึกทางชาติพันธุ์และเรียกตนเองว่า ยวน |
ชาติพันธุ์วิทยา
[แก้]เริ่มมีการศึกษาชาวไทยวนครั้งแรกในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยเป็นส่วนหนึ่งในร้อยกรองชื่อ "โคลงภาพคนต่างภาษา" ที่ปรากฏในจารึกวัดโพธิ์ ซึ่งโคลงนี้เรียกชาวไทยวนว่า ลาวยวน ถอดความได้ว่า "เป็นคนแถวหริภุญไชย ชอบสักขาสักพุงดำเหมือนพวกพม่า ใส่ต่างหูทองเนื้อแปด โพกผ้าสีชมพู ชอบใส่กำไลข้อมือทั้งสองข้าง โคลงซอเป็นลักษณะเด่นตามประเทศ คนทั้งแก่หนุ่มชอบแอ่วสาว"[17]
แนวคิดทางพันธุศาสตร์ประชากรจากการอ้างอิงหลักฐานทางชีววิทยา เมื่อ พ.ศ. 2537 มีการวิเคราะห์ลักษณะทางพันธุกรรมของตัวอย่างประชากร 15 กลุ่ม ใน 10 จังหวัด ในทุกภาคของประเทศไทยพบว่า ตัวอย่างของกลุ่มคนไทยมีความใกล้ชิดทางทางพันธุกรรมมากที่สุดกับพวกออสโตร-เอเชียติก (กลุ่มที่พูดภาษาตระกูลมอญ-เขมร) และห่างมากที่สุดจากพวกที่พูดภาษาตระกูลจีน-ทิเบตทุกกลุ่ม ส่วนกลุ่มคนไทยพื้นเมืองจากจังหวัดเชียงใหม่ ยังเกาะกลุ่มพันธุกรรมกับคนไทยและเขมรจากตอนใต้ของภูมิภาคดังกล่าว โดยได้แยกตัวออกจากกลุ่มชาติพันธุ์พื้นเมืองทางตอนใต้ของจีน (กลุ่มที่พูดภาษาตระกูลจีน-ทิเบต) อย่างชัดเจน
ในการศึกษาเมื่อ พ.ศ. 2548 โดยใช้ดีเอ็นเอของไมโทคอนเดรีย ระหว่างประชากรที่พูดภาษาตระกูลภาษาไทในภาคเหนือของประเทศไทย 4 กลุ่ม (เรียกรวมในชื่อ คนเมือง) ได้แก่ ไทยวน ไทลื้อ ไทยอง และไทเขิน เปรียบเทียบกับกลุ่มประชากรที่พูดภาษาตระกูลมอญ-เขมรในภาคเหนือ 3 กลุ่ม ได้แก่ มลาบรี ปะหล่อง และพล่าง พบว่า การแบ่งกลุ่มประชากรโดยอาศัยข้อมูลทางพันธุศาสตร์นั้น ไม่สอดคล้องกับการจัดแบ่งกลุ่มด้วยข้อมูลทางภาษาศาสตร์ การกระจายทางภูมิศาสตร์หรือประวัติศาสตร์การอพยพ ชาวไทยวนจากจังหวัดสระบุรีมีความแตกต่างจากชาวไทยวนในภาคเหนืออย่างชัดเจน ตัวแทนประชากรกลุ่มไทยวนจากจังหวัดสระบุรีจึงมีความใกล้ชิดทางพันธุกรรมกับชาวไทลื้อและไทยองมากกว่า ส่วนตัวแทนประชากรกลุ่มไทยวนในภาคเหนือ พบว่ามีความใกล้ชิดทางพันธุกรรมกับชาวไทลื้อและไทยองและยังมีความใกล้ชิดกับกลุ่มประชากรที่พูดภาษาในตระกูลมอญ-เขมร (ชาวปะหล่องและชาวพล่าง) มากกว่าตัวแทนประชากรกลุ่มอื่น ๆ[16]
วัฒนธรรม
[แก้]ไทยวน มีภาษา ขนบธรรมเนียม จารีตประเพณี ศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิต และความเชื่ออันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน ในสังคมของชาวไทยวนมีความคิดในเรื่องผีผสมศาสนาพุทธ โดยเฉพาะผีปู่ย่า (ผีบรรพบุรุษ) จะมีบทบาทในการควบคุมพฤติกรรมของลูกหลานไทยวนให้ประพฤติตนถูกต้องตามจารีตประเพณีและกรอบที่ดีงามของสังคม รวมไปถึงประเพณีการฟ้อนผีมด ผีเม็ง อีกทั้งมีความเชื่อเรื่อง ขึด คือข้อห้ามหรือข้อควรปฏิบัติเพื่อไม่ให้เกิดสิ่งไม่ดีขึ้นกับตัวเองและครอบครัว[18]
ภาษา
[แก้]ภาษาเขียนและภาษาพูดของไทยวนมีรูปแบบเป็นของตนเอง ซึ่งในปัจจุบันก็ยังพบเป็นการใช้ภาษาเขียนในพระธรรมคัมภีร์ศาสนาพุทธ และปั๊บสา ใบลาน ทั้งนี้ภาษาเขียนของไทยวน (หรือเรียกว่า "อักษรล้านนา" และ "อักษรธรรม") ยังใช้ในกลุ่มชาวไทลื้อที่เชียงรุ่งและชาวไทเขินที่เชียงตุง ด้วย เนื่องจากในอดีตชาวล้านนาได้นำศาสนาพุทธเข้าไปเผยแพร่ยังสองดินแดนนี้[19]
คำเมืองหรือภาษาไทยวนยังสามารถแบ่งออกเป็นสำเนียงล้านนาตะวันตก (ในจังหวัดเชียงใหม่, ลำพูน และแม่ฮ่องสอน) และสำเนียงล้านนาตะวันออก (ในจังหวัดเชียงราย, พะเยา, ลำปาง, อุตรดิตถ์, แพร่ และน่าน) ซึ่งจะมีความแตกต่างกันบ้าง คือ สำเนียงล้านนาตะวันออกส่วนใหญ่จะไม่พบสระเอือะ เอือ แต่จะใช้สระเอียะ เอียแทน (มีเสียงเอือะและเอือเพียงแต่คนต่างถิ่นฟังไม่ออกเอง เนื่องจากเสียงที่ออกมาจะเป็นเสียงนาสิกใกล้เคียงกับเอียะ เอีย)
คำเมืองหรือภาษาไทยวนมีไวยากรณ์คล้ายกับภาษาไทยกลาง แต่ใช้คำศัพท์ไม่เหมือนกันและไวยากรณ์ที่แตกต่างกันอยู่บ้าง แต่เดิมใช้คู่กับอักษรธรรมล้านนาซึ่งเป็นตัวอักษรของอาณาจักรล้านนาที่ใช้อักษรมอญเป็นต้นแบบ
ในยุคสมัยปัจจุบัน ชาวยวนในภาคเหนือเป็นพลเมืองไทย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ได้รับการศึกษาแบบไทย ทำให้ส่งผลต่อวัฒนธรรมทางภาษาไทยวนเป็นอย่างมาก ที่มักไม่มีการสนับสนุนการสอนในโรงเรียนเกี่ยวกับวิชาภาษาท้องถิ่น ทำให้บางคนไม่ได้เติบโตในสิ่งแวดล้อมที่คลุกคลีกับภาษาไทยวน หรือ อาจเกิดจากครอบครัวไม่สืบทอดความรู้ทางภาษาโดยหันไปพูดคุยด้วยภาษาไทยกลางแทน กลายเป็นว่าชาวยวนรุ่นใหม่บางส่วนพูดคำเมืองไม่ได้เลย ในทางกลับกัน คนที่เติบโตในสิ่งแวดล้อมที่คลุกคลีภาษาไทยวนกับครอบครัวเป็นประจำก็จะสามารถสื่อสารตามสำเนียงท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ได้ ทั้งยังสื่อสารคำเมืองทางข้อความโดยใช้อักษรไทย มีส่วนน้อยที่สามารถเขียนและอ่านอักษรธรรมล้านนาดั้งเดิมไว้ได้ เพราะเกิดจากในอดีตรัฐไทยสั่งห้ามใช้อักษรธรรมล้านนาและพูดภาษาไทยวนตามที่สาธารณะ[20]
อักษร
[แก้]อักษรธรรมล้านนา หรือ ตัวเมือง เป็นอักษรที่ใช้ในสามภาษา ได้แก่ ภาษาไทยถิ่นเหนือ, ภาษาไทลื้อ ในประเทศจีน และภาษาไทเขิน ในประเทศพม่า นอกเหนือจากนี้ อักษรล้านนายังใช้กับลาวธรรม (หรือลาวเก่า) เพราะเนื่องจากอักษรธรรมล้านนาได้แพร่เข้าไปยังอาณาจักรล้านช้างเดิมผ่านความสัมพันธ์ทางการทูตและทางศาสนาระหว่างล้านนากับล้านช้างและภาษาถิ่นอื่นในคัมภีร์ใบลานพุทธและสมุดบันทึก อักษรนี้ยังเรียก อักษรธรรมหรืออักษรยวน นอกจากอักษรธรรมล้านนาแล้ว ยังมีอักษรไทยฝักขาม และอักษรไทยนิเทศอีกด้วย
อักษรไทยฝักขาม หรือ อักษรไทยล้านนา เป็นอักษรที่เคยใช้ในล้านนา คาดว่าพัฒนาไปจากอักษรไทยสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช และแพร่หลายเข้าสู่ล้านนาในสมัยพญาลิไท พบจารึกภาษาไทยเขียนด้วยอักษรฝักขามในล้านนาชิ้นแรกคือจารึกวัดพระยืน อายุราว พ.ศ. 1954 ถือว่าเป็นจารึกอักษรไทย ภาษาไทยที่เก่าแก่ที่สุดที่พบในล้านนา และคาดว่าใช้มาจนถึงประมาณ พ.ศ. 2124 จึงเปลี่ยนมาใช้อักษรธรรมล้านนาแทน[21]
อักษรไทยนิเทศ เป็นอักษรชนิดหนึ่งของล้านนา พัฒนาขึ้นจากอักษรไทยฝักขาม และอักษรธรรมล้านนา
ภาษาไทยถิ่นเหนือเป็นภาษาใกล้ชิดกับภาษาไทยและเป็นสมาชิกของตระกูลภาษาเชียงแสน มีผู้พูดเกือบ 6,000,000 คนในภาคเหนือของประเทศไทย และหลายพันคนในประเทศลาว ซึ่งมีจำนวนน้อยที่รู้อักษรล้านนา อักษรนี้ยังใช้อยู่ในพระสงฆ์อายุมาก ภาษาไทยถิ่นเหนือมีหกวรรณยุกต์ ขณะที่ภาษาไทยมีห้าวรรณยุกต์ ทำให้การถอดเสียงเป็นอักษรไทยมีปัญหา มีความสนใจในอักษรล้านนาขึ้นมาอีกบ้างในหมู่คนหนุ่มสาว แต่ความยุ่งยากเพิ่มขึ้น คือ แบบภาษาพูดสมัยใหม่ ที่เรียก คำเมือง ออกเสียงต่างจากแบบเก่า
พยัญชนะ
[แก้]อักษรธรรมล้านนาจัดตามกลุ่มพยัญชนะวรรคตามพยัญชนะภาษาบาลี แบ่งออกเป็น 5 วรรค วรรคละ 5 ตัว เรียกว่า“พยัญชนะวรรค”หรือ“พยัญชนะในวรรค”อีก 8 ตัวไม่จัดอยู่ในวรรคเรียกว่า“พยัญชนะอวรรค”หรือ“พยัญชนะนอกวรรค”หรือ“พยัญชนะเศษวรรค”ส่วนการอ่านออกเสียงเรียกพยัญชนะทั้งหมดนั้น จะเรียกว่า“ตั๋ว”เช่น ตั๋ว กะ/ก/ ตั๋ว ขะ/ข/ ตั๋ว จะ/จ/ เป็นต้น
สระ
[แก้]- สระจม
เป็นสระที่ไม่สามารถออกเสียงได้ด้วยตัวเอง ต้องนำไปผสมกับพยัญชนะก่อนจึงจะสามารถออกเสียงได้เลย
- สระลอย
เป็นสระที่มาจากภาษาบาลี สามารถออกเสียงได้ด้วยตัวเองไม่จำเป็นต้องนำไปผสมกับพยัญชนะก่อน แต่บางครั้งก็มีการนำไปผสมกับพยัญชนะหรือสระแท้ เช่น คำว่า "เอา" สามารถเขียนได้โดยเขียนสระจากภาษาบาลี 'อู' ตามด้วย สระแท้ 'า' คือ ᩐᩣ
วรรณยุกต์
[แก้]เนื่องจากล้านนาได้นำเอาระบบอักขรวิธีของมอญมาใช้โดยแทบจะไม่มีการปรับเปลี่ยนเลย และภาษามอญเองก็เป็นภาษาที่ไม่มีวรรณยุกต์ ดังนั้นในอดีตจึงไม่ปรากฏว่ามีการใช้เครื่องหมายวรรณยุกต์ในการเขียนอักษรธรรมล้านนาเลย (เคยมีการถกเถียงกันเรื่องชื่อของล้านนาว่าจริงๆแล้วชื่อ "ล้านนา" หรือ "ลานนา" กันแน่ แต่ในที่สุดก็ได้ข้อสรุปว่า "ล้านนา") จนกระทั่งในระยะหลังเมื่ออิทธิพลของสยามแผ่เข้าไปในล้านนาจึงปรากฏการใช้รูปวรรณยุกต์ในการเขียนอักษรธรรมล้านนา
การแต่งกาย
[แก้]การแต่งกายของบุรุษไทยวนในอดีตนิยม กางเกงชาวเลหรือกางเกงแบบชาวไทใหญ่ ที่เรียกว่า " เตี่ยวสะดอ" แจ็คเก็ตสไตล์แบบจีนสีขาวและบางครั้ง มักจะมีผ้าโพกหัว นอกจากนั้นบุรุษไทยวนมักนิยมสักขาถึงเอวเรียกว่า สับหมึก และใส่ผ้าต้อย มีการนุ่งแบบสั้นกับแบบยาวเรียกว่า โจงกระเบน แบบสั้นเรียกว่า เค็ดหม้าม หรือ เก๊นหม้าม นิยมนุ่งตามกาลเทศะ[22] ส่วนในโอกาสทางการผู้คนอาจเลือกสวมใส่ชุดประจำชาติไทยหรือชุดไทยพระราชนิยม
การแต่งกายของสตรีไทยวนในอดีตนิยม นุ่งผ้าซิ่นตะเข็บเดียวลายขวางลำตัว ซึ่งประกอบด้วย หัวซิ่น และตีนซิ่น นิยมใช้ผ้าสีอ่อน คล้องคอ ใช้ผ้าแถบคาดอก ปล่อยชายข้าวหนึ่งลงมา หรือห่มเฉวียงไหล่ ต่อมานิยมสวมเสื้อแขนกระบอก เสื้อแขนกุด เสื้อคอกระเช้า เสื้อแบบกี่เพ้าประยุกต์ เสื้อไทใหญ่ ห่มสไบเฉียง ไว้ผมยาวเกล้ามวย ปักปิ่นและประดับด้วยดอกไม้หอม[23]
การแต่งกายในราชสำนัก
[แก้]การแต่งกายของสตรีไทยวนในราชสำนักได้ รูปแบบมาจากสยามประเทศ เนื่องด้วยยุคสมัยที่สยามประเทศได้มีอิทธิพลต่อล้านนาไทยมากขึ้น การแต่งกาย จึงมีการปรับเปลี่ยน และผสมผสานวัฒนธรรม ดังเช่นสมัยของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี มีการสวมเสื้อที่ตัดจากผ้าลูกไม้ ที่เรียกกันติดปากว่า “เสื้อแขนหมูแฮม” ชาวสยามนิยมที่จะนุ่งผ้าโจง หรือโจงกระเบน แต่พระราชชายาโปรดที่จะนุ่งผ้าซิ่น ตามแบบฉบับของล้านนาประเทศ ซิ่นที่พระราช ชายาเจ้าดารารัศมี ได้ทรงคิดค้นและประยุกต์ขึ้นและพระองค์พร้อมทั้งพระประยูร ญาติได้สวมใส่เมื่อครั้นพำนักอยู่ในสยามประเทศนั้นคือ “ซิ่นลุนตยาต่อตีนจก” ซึ่งเป็นการผสมผสานผ้าทอของราชสำนักมัณฑะเลย์ กับผ้าจกพื้นเมืองเหนือ เข้าด้วยกัน ทรงผมที่พระองค์ใช้ในสมัยนั้น เรียกกันว่า ทรงอี่ปุ่นหรือญี่ปุ่น
การแต่งกายของบุรุษไทยวนในราชสำนัก นิยมเสื้อที่ตัดเย็บตามแบบของสยามประเทศ คอเสื้อตั้งผ่าอก มีกระดุมทองเรียงกัน ๕ เม็ด หรือที่ชาวสยามเรียกว่า “เสื้อราชประแตน” นิยมตัดด้วยผ้าไหม หรือผ้าอื่น ๆ ตามชั้นยศ นิยมนุ่งโจงกระเบนตามแบบฉบับของกรุงสยาม แต่ผ้าที่นำมานุ่งนั้น นิยมนุ่งด้วยผ้าไหมพื้นเมือง หรือผ้าหางกระรอก พร้อมทั้งคาดเอวด้วยผ้าแพรนอก และทับด้วยเข็มขัดทองตามฐานะของผู้สวมใส่ จึงนับเป็นยุคสมัยที่ไทยวนในดินแดนล้านนา มีการเปลี่ยนแปลงและผสมผสานวัฒนธรรมกับสยามประเทศเป็นอย่างมาก[24]
การแต่งกายยุคฟื้นฟูวัฒนธรรม
[แก้]ปัจจุบันได้มีการฟื้นฟูวัฒนธรรมการแต่งกายพื้นเมืองขึ้น ซึ่งหลายรูปแบบตามเผ่าพันธ์กลุ่มชนที่อาศัยอยู่อยู่ในอาณาจักรล้านนาในอดีต เป็นการประยุกต์รูปแบบของเสื้อผ้าในยุคดั้งเดิมมาแต่ง โดยพยายามรักษา ความเป็นเอกลักษณ์ของชาวพื้นเมืองไว้ ดังนั้น จึงได้มีการพิจารณา ให้ความเห็นชอบในรูป แบบการแต่งกายพื้นเมือง โดยคณะอนุกรรมการวัฒนธรรม จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2534[25] ทำให้ปัจจุบัน ชาวไทยวนและชนกลุ่มต่างๆภาคเหนือของไทย แต่งกายแบบพื้นเมืองมากขึ้น โดยได้มีการแต่งชุดพื้นเมืองทุกวันศุกร์ ไม่ว่าจะเป็น ข้าราชการหรือนักเรียน
อาหาร
[แก้]อาหารส่วนใหญ่รสชาติไม่จัด ไม่นิยมใส่น้ำตาลในอาหาร ความหวานจะได้จากส่วนผสมของอาหารนั้น ๆ เช่น ผัก ปลา และนิยมใช้ถั่วเน่าในการปรุงอาหาร ชาวยวนมีน้ำพริกรับประทานหลายชนิด เช่น น้ำพริกหนุ่ม น้ำพริกอ่อง ผักที่ใช้จิ้มส่วนมากเป็นผักนึ่ง ส่วนอาหารที่รู้จักกันดีได้แก่ ขนมจีนน้ำเงี้ยว ที่มีเครื่องปรุงสำคัญคือ เกสรตัวผู้ของดอกงิ้วแดง(ดอกเงี้ยว)ตากแห้ง ถือเป็นเครื่องเทศพื้นบ้านที่มีกลิ่นหอม; ตำขนุน และแกงขนุน ที่มีส่วนผสมเป็นผักชนิดอื่น เช่น ใบชะพลู ชะอม มะเขือเทศ นอกจากนี้ยังมีอาหารที่ได้รับอิทธิพลจากชนชาติอื่นด้วย[26] เช่น แกงฮังเล ได้รับอิทธิพลมาจากชาวพม่า; ข้าวซอย ได้รับอิทธิพลมาจากชาวจีน
นาฏศิลป์
[แก้]นาฏศิลป์การแสดงพื้นบ้านและราชสำนักของไทยวน นั้นมีการผสมผสานอิทธิพลทางนาฏศิลป์จากคนหลายกลุ่มชาติพันธุ์เข้าไว้ด้วยกันไม่ว่าจะเป็นนาฏศิลป์ ไทยภาคกลาง ไทลื้อ ไทเขิน ไทใหญ่ จีน พม่า ลาว และชาวไทยภูเขาอย่าง ลีซอ เข้ามาปรับท่าฟ้อนรำให้เข้ากับความเป็นชาวพื้นเมืองของไทยวนได้อย่างลงตัว มีความอ่อนช้อย นุ่มนวล และงดงาม เพลงบรรเลงมีความไพเราะ อ่อนหวาน ซึ่งนั่นเป็นเสน่ห์ของนาฏศิลป์การแสดงพื้นบ้านและราชสำนักของไทยวนหรือไทยภาคเหนือมาแต่โบราณ[27]
นาฏศิลป์ของไทยวนหรือชาวไทยภาคเหนือ เช่น ฟ้อนเมือง(ฟ้อนเล็บ ฟ้อนก๋ายลาย)ฟ้อนเทียน ฟ้อนจ้อง ฟ้อนวี ฟ้อนขันดอก ฟ้อนดาบ ฟ้อนเชิง(ฟ้อนเจิง)ตีกลองสะบัดไชย ฟ้อนสาวไหม ฟ้อนน้อยไจยา ฟ้อนหริภุญชัย ฟ้อนล่องน่าน ฟ้อนแง้น เป็นต้น
การฟ้อนแบบคุ้มหลวง เป็นการฟ้อนที่เกิดขึ้นในคุ้มของพระราชชายา เจ้าดารารัศมี ซึ่งมีลักษณะการฟ้อนของภาคกลางผสมอยู่ เช่น ฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตา ฟ้อนน้อยใจยา เป็นต้น
ดนตรี
[แก้]ดนตรีของไทยวน มีทั้งการบรรเลงเพลงเดี่ยวและรวมวง รวมถึงการขับร้องโดยไม่ใช้ดนตรีประกอบ เมื่อฟังดนตรีของภาคเหนือจะรู้สึกถึงความนุ่มนวล อ่อนหวาน สะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมและชีวิตความเป็นอยู่ของไทยวนหรือชาวเหนือที่มีชีวิตเรียบง่าย อยู่กับธรรมชาติ เครื่องดนตรีที่ใช้ ได้แก่ สะล้อ ซอ ซึงและกลองแอว เป็นต้น[28]
เครื่องดนตรี
[แก้]- ซึง
- สะล้อ
- กลองเต่งถิ้ง
- ขลุ่ย
- ปี่จุม
- กลองสะบัดชัย
- กลองตึ่งโนง
- ปี่แน
- ตะหลดปด (มะหลดปด)
- กลองปู่จา (กลองบูชา หรือ ปู่จา)
- วงกลองปูเจ่ (กลองปูเจ)
- วงปี่ป๊าดก้อง (วงปี่พาทย์ล้านนา)
- พิณเปี๊ยะ
เพลงร้อง
[แก้]- เพลงจ๊อย
ไทยวนมีภาษาพูดใกล้เคียงกับไทลื้อและไทเขิน จึงมีดนตรีหรือการละเล่นที่คล้ายคลึงกัน มีการร้องเพลง เรียกว่า “จ๊อย” เป็นการพูดที่เป็นทำนอง สื่อสารเพื่อความบันเทิงแก่ผู้ฟัง เป็นค่าวกลอนของภาคเหนือ ไม่มีเครื่องดนตรีประกอบ ไม่มีเวที สะดวกตรงไหนยืนร้องตรงนั้น เนื้อหาในการจ๊อยเกี่ยวกับนิทานชาดก คำสอน ประวัติ หรือการเกี้ยวพาราสี อาจจะเป็นจ๊อยคนเดียว หรือจ๊อยโต้ตอบกันก็ได้
- เพลงซอ
เป็นเพลงที่ร้องโต้ตอบเกี้ยวพาราสีกันระหว่างชายหญิง เป็นการแก้คารมกัน
- ค่าว
เป็นคำประพันธ์ที่มีลักษณะร้อยสัมผัสสอดเกี่ยวกันไป(แบบร่าย) และจบลงด้วยโคลงสองหรือโคลงสามสุภาพ[29]
หัตถกรรม
[แก้]ผ้าทอ
[แก้]ผ้าทอไทยวนโดดเด่นคือ ซิ่นตีนจก เป็นหัตถกรรมที่เป็นมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษมา แต่โบราณกาลอันเกิดจากการประดิษฐ์คิดค้น และสร้างลวดลายขึ้นบนผืนผ้าด้วยการจก คือการสอดหรือควักเส้นฝ้ายสีต่างๆ ที่พุ่งสลับกันเป็นช่วงๆ เพื่อให้เกิดเป็นรูปและลวดลายต่างๆ ขึ้นมาโดยใช้ขนเม่น โลหะ หรือไม้ปลายแหลมเป็นเครื่องมือ ผ้าซิ่นตีนจกจะแบ่งเป็นสามส่วน คือ ส่วนหัวซิ่น ส่วนตัวซิ่นและส่วนตีนซิ่น ทั้งยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีก เช่น มีเล็บซิ่น ซิ่นตีนจกมักมีลวดลายบริเวณตัวซิ่นเป็น ลายต๋า(ลายริ้วบริเวณขวางลำตัว) ลายต๋ามักมีชื่อเรียกตามแต่ละท้องถิ่นไม่เหมือนกัน เช่น ซิ่นต๋าหมู่ มีลักษณะลายริ้วค่อนข้างใหญ่ประกอบไปด้วยเส้นด้ายหลายสีมักพบในผ้าซิ่นเชียงแสน อีกแบบหนึ่ง คือ ซิ่นต๋าแอ้ม มักพบใน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปางและแพร่ ส่วนใหญ่มักเรียกตามสีด้วย หากเป็นสีเหลืองมักเรียกต๋าเหลืองหรือต๋ามะนาวและยังมี ซิ่นต๋าเหล้ม ซึ่งมีลักษณะคล้าย ซิ่นต๋าหมู่
โดยแหล่งผลิต ซิ่นตีนจก มีหลายแห่งในจังหวัดต่างๆที่มีชาวไทยวนอาศัยอยู่ เช่น อำเภอเมือง อำเภอแม่แจ่ม อำเภอสันกำแพง อำเภอฮอด อำเภอดอยเต่า[30] อำเภอในจังหวัดเชียงใหม่ หลายพื้นที่ในจังหวัดลำปาง[31] อำเภอลอง จังหวัดแพร่ อำเภอเมือง อำเภอเวียงสาในจังหวัดน่าน นอกเขตภาคเหนือตอนบน เช่น พิษณุโลก นครปฐม สระบุรีและราชบุรี เป็นต้น
ร่ม
[แก้]ร่มมักจะใช้นำไปถวายวัดในฤดูเทศกาลประเพณีต่างๆ ต่อมาการทำร่มได้มีการขยายตัวขึ้น ชาวไทยภาคเหนือจึงได้ทำร่มเพื่อจำหน่ายกันทั่วไปในตลาด และยังได้มีการพัฒนาแบบอย่าง และวิธีการให้มีมากขึ้นตามความต้องการของท้องตลาดอีกด้วย
ปัจจุบันนี้การทำร่มมีที่หมู่บ้านบ่อสร้าง อำเภอสันกำแพง แบ่งออก เป็น 3 ประเภท คือ การทำร่มผ้าฝ้าย การทำร่มแพร การทำร่มกระดาษ
โคม
[แก้]โคม ในอดีต เกิดจากการที่ชาวนานั้นได้ไปทำนาในตอนกลางคืนได้จุดเทียนเพื่อให้แสงสว่างในการทำงาน บางครั้งลมพัดทำให้เทียนดับ ชาวนาจึงใช้ตระกร้าที่ใส่ของมาครอบเทียนแล้วนำกระดาษมาหุ้มรอบๆไม่ต้องลำบากในการจุดเทียนอีกต่อมาชาวบ้านได้ประยุกต์มาใช้ในการประดิษฐ์โคมไฟเพื่อใช้สำหรับบูชาพระพุทธเจ้าในช่วงประเพณียี่เป็งของชาวล้านนา[32] โคมล้านนา แบ่งได้เป็น 8 ชนิด คือ
- โคมแปดเหลี่ยม
- โคมไห
- โคมดาว
- โคมหูกระต่าย
- โคมไต
- โคมดอกบัว
- โคมผัด
- โคมรูปสัตว์
ในปัจจุบัน มีการพัฒนาโคมให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้นและยังนำโคมมาตกแต่งอาคารสถานที่ให้สวยงามเพื่อให้เกิดบรรยากาศสไตล์ล้านนา
พิพิธภัณฑ์
[แก้]พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งอยู่ภายในสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดแสดงและอนุรักษ์เรือนล้านนาในรูปแบบต่างๆ ให้กับประชาชนทั่วไปได้ศึกษา ซึ่งเรือนแต่ละหลังเป็นเรือนโบราณที่ได้รับการสนับสนุนให้รื้อย้ายนำมาเก็บรักษาไว้ จากหน่วยงานและบุคคลต่างๆ ที่เห็นคุณค่าและความสำคัญของเรือนล้านนา มีเรือนอยู่จำนวน 10 หลังและยุ้งข้าวอีก 4 หลัง แต่ละหลังก็มีที่มาและประวัติของตนเอง
หอวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยวน จังหวัดสระบุรี ก่อตั้งขึ้นโดย อาจารย์ทรงชัย วรรณกุล จุดประสงค์เพื่อที่จะอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยวน ได้มีการรวบรวมสถานที่และสิ่งของ เช่น เรือนของเจ้าเมืองสระบุรี เรือนของพันตรีหลวงจบกระบวนยุทธ เรือนของเสือคง โจรเลื่องชื่อในอดีตในจังหวัดสุพรรณบุรี ผ้าทอโบราณแบบไทยวน เรือพื้นบ้านที่ใช้ลุ่มน้ำป่าสักและภาคกลางกว่า 20 ลำ โดยอาจารย์ตั้งใจว่าจะให้เป็นแหล่งรวบรวมภูมิปัญญาท้องถิ่นและเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยวนในจังหวัดสระบุรี ซึ่งเป็นกลุ่มชาวล้านนาที่อพยพมาจากเมืองเชียงแสน เมื่อประมาณ 200 ปีที่แล้ว
จิปาถะภัณฑ์สถานบ้านคูบัว จังหวัดราชบุรี ก่อตั้งโดย ดร.อุดม สมพร ผู้อำนวยการจิปาถะภัณฑ์สถานบ้านคูบัว และประธานสหกรณ์ไท-ยวนราชบุรี ซึ่งเป็นลูกหลานเลือดเนื้อเชื้อไขไทยวนคูบัว บ้านไร่ต้นมะม่วงมาแต่กำเนิด มีแนวคิดที่อยากจะสืบทอดวัฒนธรรมไทยวน เพื่อให้ส่งต่อไปยังรุ่นลูกรุ่นหลาน จึงได้รวบรวมสิ่งของ และข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ มาจัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์
ไทยวนในภูมิภาคอื่น
[แก้]ไทยวนนอกจากจะอาศัยอยู่ทางภาคเหนือในเขตจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ และแม่ฮ่องสอน ยังกระจายตัวตั้งถิ่นฐานในภูมิภาคอื่นอีกอย่างภาคกลาง เช่น กรุงเทพฯ ราชบุรี สระบุรี นครปฐม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสาน เช่น นครราชสีมา เป็นต้น ปัจจุบัน พบชุมชนของไทยวนกลุ่มเชียงแสนตั้งถิ่นฐานอยู่ ในเขตจังหวัดต่างๆ ดังนี้
- จังหวัด สระบุรี อย่างน้อย 114 หมู่บ้าน
- จังหวัด ราชบุรี อย่างน้อย 77 หมู่บ้าน
- จังหวัด กาญจนบุรี ย่างน้อย 5 หมู่บ้าน
- จังหวัด นครปฐม อย่างน้อย 12 หมู่บ้าน
- จังหวัด ลพบุรี อย่างน้อย 51 หมู่บ้าน
- จังหวัด พิจิตร อย่างน้อย 8 หมู่บ้าน
- จังหวัด พิษณุโลก อย่างน้อย 20 หมู่บ้าน
- จังหวัด อุตรดิตถ์ อย่างน้อย 6 หมู่บ้าน
- จังหวัด สระแก้ว อย่างน้อย 12 หมู่บ้าน
- จังหวัด นครราชสีมา อย่างน้อย 9 หมู่บ้าน
ทั้งนี้ ชุมชนไทยวนเชียงแสนที่เก่าแก่ที่สุดในตอนกลางของประเทศไทย ซึ่ง มีอายุมากกว่า 200 ปี อยู่ในบริเวณอำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี และอำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี[33]
ไทยวนในประเทศอื่น
[แก้]ไทยวน ส่วนใหญ่มีถิ่นฐานเดิมอาศัยอยู่ในประเทศไทย แต่ยังสามารถที่จะพบไทยวนที่อาศัยอยู่ในประเทศที่มีอาณาเขตติดกับภาคเหนือของไทยได้อีกด้วย เช่น พม่าและลาว ไม่ว่าจะเป็นการอพยพเข้าไปอยู่หรืออาศัยอยู่เดิมเนื่องจากการแบ่งเขตแดน ซึ่งพบได้ในรัฐฉาน ประเทศพม่า เช่น ท่าขี้เหล็ก และรัฐกะเหรี่ยง พบได้ใน เมียวดี ส่วนในประเทศลาว พบได้ใน เมืองต้นผึ้งและเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว บ้านเวียงเหนือ แขวงหลวงน้ำทา เมืองเชียงฮ่อน แขวงไชยบุรี และแขวงหลวงพระบาง[34]
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- เชิงอรรถ
- ↑ Lewis, M. Paul (ed.), 2009. Ethnologue: Languages of the World, Sixteenth edition. Entry for Northern Thai Dallas, Tex.: SIL International. ISBN 978-1-55671-216-6.
- ↑ "ชาติพันธ์ุไทยวน". ฐานข้อมูลท้องถิ่น จังหวัดพะเยา(Local Information Phayao).
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ISBN 978-616-7073-80-4.
- ↑ พิณ สุภา. "วิถีชีวิตคนไทยยวนในจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดหนองยาวสูง" (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร.
- ↑ อานันท์ กาญจนพันธ์ (2017). ประวัติศาสตร์สังคมล้านนา: ความเคลื่อนไหวของขีวิตและวัฒนธรรมท้องถิ่น. พิษณุโลก: หน่วยวิจัยอารยธรรมศึกษาโขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร และภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. pp. 52–55. ISBN 978-616-4260-53-5.
- ↑ ฮันส์ เพนธ์, "ความเป็นมาของล้านนาไทย," ใน ล้านนาอนุสรณ์ พระราชพิธีเปิดพระบรมราชานุสรณ์สามกษัตริย์ (เชียงใหม่: มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2526), 10–11.
- ↑ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ชมรมฮักตั๋วเมือง สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม (2019-06-12). ""ยวน" มาจากไหน ? ใครคือ "ไทยวน"". มติชนสุดสัปดาห์.
- ↑ 8.0 8.1 แช่ม บุนนาค, ประชากิจกรจักร (2516). พงศาวดารโยนก. บุรินทร์การพิมพ์. p. 15.
- ↑ ดร. ประเสริฐ, ณ นคร (2522). "โคลงมังทราตีเชียงใหม่".
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ แสง มนวิทูร, แปล, พระรัตนปัญญาเถระ, (2501). "ชินกาลมาลีปกรณ์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2024-03-28. สืบค้นเมื่อ 2023-05-15.
{{cite web}}
: CS1 maint: extra punctuation (ลิงก์) - ↑ Frederic Pain (2008), "An introduction to Thai ethnonymy: examples from Shan and Northern Thai", The Journal of the American Oriental Society, ISSN 0003-0279
- ↑ Andrew Turton (2004), "Violent Capture of People for Exchange on Karen-Tai borders in the 1830s", Structure of Slavery in Indian Ocean Africa and Asia, London: Frank Cass, p. 73, doi:10.1080/01440390308559156, ISBN 9780714654867
- ↑ ศิลปวัฒนธรรม (2021-06-30). "อ่านล้านนาจากหลักฐานจีน เรียกอาณาจักร "สนมแปดร้อย" และธนูอาบยาพิษของพระนางจามเทวี". ศิลปวัฒนธรรม.
- ↑ 14.0 14.1 จิตร ภูมิศักด์ (2519)
- ↑ บุญช่วย ศรีสวัสด์ (2503)
- ↑ 16.0 16.1 นราธิป ทับทัน และชินศักดิ์ ตัณฑิกุล. "ปริทัศน์การศึกษาว่าด้วยชาติพันธุ์ไทยวน". มหาวิทยาลัยศิลปากร.
- ↑ ถอดความจากร้อยกรองโดย ทวีศักดิ์ เผือกสม. คนแปลกหน้านานาชาติของกรุงสยาม. กรุงเทพฯ : มติชน. 2546
- ↑ "ไทยวน - สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่". The Center for the Promotion of Arts and Culture, Chiang Mai University.
- ↑ "ไทยวน - สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่". The Center for the Promotion of Arts and Culture, Chiang Mai University.
- ↑ ชลิดา หนูหล้า (2564-10-19). "อู้กับเพ็ญสุภา สุขคตะ เมื่อม็อบฅนเมืองไม่ 'ต๊ะต่อนยอน' ตามที่เขาหลอกลวง". ดิวันโอวันเวิลด์. กรุงเทพฯ: ดิวันโอวันเปอร์เซนต์. สืบค้นเมื่อ 2565-01-12.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ กรรณิการ์, วิมลเกษม (2527). อักษรฝักขามที่พบในศิลาจารึกภาคเหนือ. บุรินทร์การพิมพ์.
- ↑ "การแต่งกายของชาวล้านนาในอดีต". Digitized Lanna. 2012-09-19. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-12-18. สืบค้นเมื่อ 2021-12-18.
- ↑ Chalo (วันพุธที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2558). "ไทยวน". ไทยวน.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
(help) - ↑ tanawatpotichat (2011-12-29). "การแต่งกาย". tanawatpotichat (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ พัฒนาการเครื่องแต่งกายชาวล้านนา (ไทยวน) โดย มาณพ มานะแซม
- ↑ "อาหารท้องถิ่น 4 ภาค". sites.google.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-10-30. สืบค้นเมื่อ 2021-10-30.
- ↑ "นาฏศิลป์ภาคเหนือ | สาระ ความรู้ ข่าวสาร ความบันเทิง ของชาวมัธยมศึกษา และประถมศึกษา : Knowledge for Thai Student | ThaiGoodView.com". www.thaigoodview.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-12-20. สืบค้นเมื่อ 2021-12-20.
- ↑ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ชมรมฮักตั๋วเมือง สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม (2019-06-12). ""ยวน" มาจากไหน ? ใครคือ "ไทยวน"". มติชนสุดสัปดาห์.
- ↑ นางสาวจิตติมา วงศาลาภและนางสาววรประภา พินิจสุวรรณ เว็บไซต์ มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม http://ich.culture.go.th/index.php/th/ich/performing-arts/236-performance/335-----m-s เก็บถาวร 2022-07-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-02-04. สืบค้นเมื่อ 2022-02-04.
- ↑ ผ้าซิ่นตีนจกเมืองลำปาง https://archive.sacit.or.th/handicraft/1423
- ↑ โคมล้านนา http://lib.payap.ac.th/webin/ntic/koom.htm เก็บถาวร 2022-06-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ ภูมิหลังการเคลื่อนย้ายประชากรชาวยวนเชียงแสน และการตั้งถิ่นฐานในบริเวณตอนกลางของประเทศไทย The Movement Background of Chiang Saen Yuan People and the Settlement in the Central part of Thailand นราธิป ทับทัน และ ชินศักดิ์ ตัณฑิกุล
- ↑ กลุ่มชาติพันธุ์ไทยวน สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ http://www.culture.cmru.ac.th/web60/learningcenter/กลุ่มชาติพันธุ์ไทยวน/
- บรรณานุกรม
- ธเนศวร์ เจริญเมือง. คนเมือง : ประวัติศาสตร์ล้านนาสมัยใหม่ พ.ศ. 2317-2553. พิมพ์ครั้งที่ 2, เชียงใหม่ : สถาบันพัฒนาเมืองเชียงใหม่, 2554. 246 หน้า. ISBN 978-974-496-387-1.
- ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554. พิมพ์ครั้งที่ ๒, กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2556. 1,544 หน้า. ISBN 978-616-7073-80-4.
- สุรชัย จงจิตงาม. คู่มือท่องเที่ยว-เรียนรู้: ล้านนา เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง. กรุงเทพฯ : มิวเซียมเพรส, 2549. 128 หน้า. หน้า 16. ISBN 9789749497166.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- “ยวน” มาจากไหน ? ใครคือ “ไทยวน”
- ผ้าทอไท-ยวน เก็บถาวร 2022-01-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน