พระคาร์ดินัล
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ |
นครรัฐวาติกัน |
---|
คาร์ดินัล (อังกฤษ: Cardinal) เป็นสมณศักดิ์ชั้นสูงสุดรองจากพระสันตะปาปา ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาพระสันตะปาปา ในการปกครองคริสตจักรโรมันคาทอลิก ตำแหน่งนี้อาจเทียบเท่ากับสมเด็จพระราชาคณะในศาสนาพุทธ หรือสมาชิกวุฒิสภาในทางโลก ในสมัยก่อนตำแหน่งคาร์ดินัลมักเป็นฆราวาส แต่นับตั้งแต่ตราประมวลกฎหมายพระศาสนจักรฉบับล่าสุด (ค.ศ. 1917–83) เฉพาะบาทหลวงและมุขนายกเท่านั้นที่มีสิทธิ์เป็นพระคาร์ดินัลได้ หน้าที่พิเศษอย่างหนึ่งของพระคาร์ดินัลคือ เข้าร่วมการประชุมเลือกตั้งพระสันตะปาปาองค์ใหม่ แทนตำแหน่งที่ว่างลง และตนเองก็มีสิทธิ์ได้รับเลือกเป็นพระสันตะปาปาด้วย
พระคาร์ดินัลอาจมีตำแหน่งมุขนายกหรือเป็นหัวหน้าปกครองคณะบาทหลวง คณะนักบวชคาทอลิกชาย-หญิง และคริสต์ศาสนิกชนฆราวาส ในมุขมณฑลที่ท่านปกครองด้วย
ที่มาของคำ
[แก้]คำว่าคาร์ดินัล (cardinal) มาจากคำในภาษาละตินที่ใช้เรียกบานพับประตู (cardo)
ในศาสนาคริสต์ยุคแรก ๆ เวลาที่คนคนหนึ่งบวชเป็นบาทหลวง ท่านผู้นั้นจะต้องอยู่ในตำแหน่งเดิมจนชั่วชีวิต และหากบาทหลวงท่านใดท่านหนึ่งได้รับการแต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่งอื่น ก็เปรียบเสมือนว่าเป็นการแกะเอาบาทหลวงท่านนั้นออกจากประตูบานเดิม (ตำแหน่งเดิม) ไปขันนอตติดกับประตูบานใหม่ (ตำแหน่งใหม่) โดยในภาษาอังกฤษใช้การเปลี่ยนตำแหน่งในกรณีนี้ว่า "incardinated" ซึ่งก็มาจากรากศัพท์ในภาษาลาตินว่า "cardo" ซึ่งแปลว่าบานพับประตู
การใช้คำดังกล่าวเป็นที่นิยมแพร่หลายในพระศาสนจักรยุคแรก ๆ จนต่อมาในสมณสมัยของสมเด็จพระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 1 (ค.ศ. 590–604) ได้มีการบัญญัติคำศัพท์ดังกล่าวเป็นคำศัพท์เฉพาะในประมวลกฎหมายพระศาสนจักร
ในยุคนั้นบาทหลวงบางท่านมีความสามารถเฉพาะตัวสูง จึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยมุขนายก (และกลายเป็น "คาร์ดินัล" แทนที่จะเป็นบาทหลวงผู้ดำรงตำแหน่งปกติ) และในบางกรณี บาทหลวงบางท่านก็ได้รับการแต่งตั้งให้ประกอบพิธีกรรมอยู่ตามสักการสถานโบราณหลาย ๆ แห่งในกรุงโรม เช่น มหาวิหารนักบุญเปโตร มหาวิหารนักบุญเปาโลนอกกำแพง มหาวิหารซันตามาเรียมัจโจเร และมหาวิหารนักบุญยอห์น ลาเตรัน ฯลฯ เป็นต้น และเนื่องจากภารกิจดังกล่าว มีวาระการแต่งตั้งเป็นการชั่วคราว จึงเรียกท่านเหล่านั้นว่า "คาร์ดินัล" และนี่คือที่มาของคำว่า "คาร์ดินัลบาทหลวง" ในปัจจุบัน (คาร์ดินัลชั้นบาทหลวง - "cardinal presbyters")
ส่วนบรรดามุขนายกที่ประจำตามเมืองต่าง ๆ รอบ ๆ กรุงโรมในยุคนั้น ต่างก็ผลัดเปลี่ยนกันประกอบพิธีในมหาวิหารลาเตรัน ซึ่งเป็นอาสนวิหารประจำมุขมณฑลโรม และถึงแม้ว่าท่านเหล่านั้นจะดำรงตำแหน่งประจำเป็นมุขนายกประจำมุขมณฑลของตน แต่ท่านก็ได้กลายเป็น "คาร์ดินัล" ในขณะที่ท่านประกอบพิธีในอาสนวิหารดังกล่าว และพระสันตะปาปาก็ได้ให้ความสำคัญต่อบรรดาพระคาร์ดินัลเหล่านั้นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยการปรึกษากิจการงานของพระศาสนจักรอยู่เป็นประจำ
นี่คือที่มาของคำว่า "คาร์ดินัลมุขนายก" (คาร์ดินัลชั้นมุขนายก - "cardinal bishops") ซึ่งดำรงตำแหน่งมุขนายกประจำ 7 มุขมณฑลรอบกรุงโรมในปัจจุบัน
และหลังจากที่สันตะสำนักได้อำนาจการปกครองกรุงโรม ก็จำเป็นต้องให้บริการต่าง ๆ ด้านสังคมแก่บรรดาประชาชน โดยบริการดังกล่าวนี้ แรกทีเดียวบรรดา "พันธบริกร" (deacons) ซึ่งเป็นบุคลากรของพระสันตปาปาที่ประจำอยู่หาวิหารลาเตรันเป็นผู้รับผิดชอบ แต่ต่อมาก็ได้มีการส่งบุคลากรดังกล่าวไปประจำตามศูนย์บริการด้านสังคม (diaconiae) ที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วกรุงโรม โดยที่ศูนย์แต่ละแห่งจะมีโบสถ์น้อยอยู่ด้วย
ความสำคัญของท่านเหล่านั้นในการช่วยเหลือผู้ยากไร้คือที่มาของคำว่า "คาร์ดินัลพันธบริกร" ในปัจจุบัน (คาร์ดินัลชั้นพันธบริกร "cardinal deacons")
บรรดาพระคาร์ดินัลต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้น ได้เริ่มทวีความสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในการช่วยพระสันตะปาปาปฏิบัติภารกิจในฐานะบิชอปแห่งกรุงโรม และในฐานะประมุขของสภามุขนายกโลก รวมทั้งการเป็นผู้แทนของพระองค์ในการปฏิบัติภารกิจพิเศษต่าง ๆ และการเป็นผู้แทนพระสันตะปาปาในการประชุมสังคายนาต่าง ๆ ด้วย
พระสันตะปาปาหลายองค์ในคริสต์ศตวรรษที่ 11 ได้ทำการแต่งตั้งบุคลากรหลาย ๆ ท่านให้มาช่วยในการปฏิบัติภารกิจของพระองค์ที่กรุงโรม โดยทรงแต่งตั้งให้ท่านเหล่านั้นปกครองวิหารต่าง ๆ ในกรุงโรม โดยไม่ต้องไปประกอบพิธีกรรมเป็นประจำทุกวันตามวิหารเหล่านั้น บุคลากรที่ได้รับการแต่งตั้งดังกล่าวจึงดำรงตำแหน่ง "คาร์ดินัล" ไปด้วยและมีบทบาทสำคัญในการอภิบาลสัตบุรุษในกรุงโรม และในการฟื้นฟูชีวิตฝ่ายจิตของบรรดาคริสตชนในพระศาสนจักรทั่วโลก
ยุคทองของสถาบันคาร์ดินัลมีจุดเริ่มต้นจากพระบัญชาของสมเด็จพระสันตะปาปานิโคลัสที่ 2 เกี่ยวกับการเลือกตั้งพระสันตะปาปา ซึ่งประกาศใช้ใน ค.ศ. 1059 ซึ่งกำหนดให้คาร์ดินัลมุขนายก คาร์ดินัลบาทหลวง และคาร์ดินัลพันธบริกร มีบทบาทสำคัญในการเลือกตั้งพระสันตะปาปาแทนตำแหน่งที่ว่างลง โดยที่เคลอจีอื่น ๆ และบรรดาสัตบุรุษมีบทบาทเพียงการให้สัตยาบันต่อผลของการเลือกตั้งเท่านั้น
ต่อมาใน ค.ศ. 1179 สังคายนาลาเตรันครั้งที่สามได้มีมติให้สถาบันคาร์ดินัลสามารถเลือกตั้งพระสันตะปาปาแทนตำแหน่งที่ว่างลงได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องได้รับสัตยาบันจากเคลริกอื่น ๆ และบรรดาสัตบุรุษ
พระคาร์ดินัลในประเทศไทย
[แก้]สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอล ที่ 2 ได้มีพระสมณสาส์นแต่งตั้งอัครมุขนายกไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู ประมุขเขตมิสซังกรุงเทพฯ เป็นพระคาร์ดินัลชาวไทยคนแรก เมื่อวันที่ 5 มกราคม ค.ศ. 1983 และมีพิธีสถาปนาสมณศักดิ์พระคาร์ดินัลอย่างเป็นทางการในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ปีเดียวกัน ณ มหาวิหารนักบุญเปโตร กรุงโรม นครรัฐวาติกัน[1]
ต่อมา สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงประกาศแต่งตั้ง พระคุณเจ้าฟรังซิสเซเวียร์ เกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช เป็นพระคาร์ดินัล เมื่อวันที่ 4 มกราคม ค.ศ. 2015 [2] ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2015[3]