ข้ามไปเนื้อหา

หมูป่า

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

หมูป่า
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: สมัยไพลสโตซีนตอนต้น–สมัยโฮโลซีน
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
โดเมน: ยูแคริโอต
Eukaryota
อาณาจักร: สัตว์
Animalia
ไฟลัม: สัตว์มีแกนสันหลัง
Chordata
ชั้น: สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
Mammalia
อันดับ: สัตว์กีบคู่
Artiodactyla
วงศ์: Suidae
Suidae
สกุล: Sus
Sus
Linnaeus, 1758
สปีชีส์: Sus scrofa
ชื่อทวินาม
Sus scrofa
Linnaeus, 1758
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์ของหมูป่า (เขียว) และบริเวณที่มีการนำประชากรมา (น้ำเงิน): ไม่แสดงบริเวณที่มีการนำประชากรมาจำนวนน้อยในแคริบเบียน, นิวซีแลนด์, แอฟริกาใต้สะฮารา และบริเวณเบอร์มิวดา, แคนาดาเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ และตะวันตกเฉียงเหนือ และรัฐอะแลสกา[1]
ชื่อพ้อง
สปีชีส์ที่มีชื่อพ้องชนิด[2]
  • andamanensis
    Blyth, 1858
  • babi
    Miller, 1906
  • enganus
    Lyon, 1916
  • floresianus
    Jentink, 1905
  • natunensis
    Miller, 1901
  • nicobaricus
    Miller, 1902
หมูป่าคำราม

หมูป่า (ชื่อวิทยาศาสตร์: Sus scrofa) มีอีกชื่อว่า สุกรป่า,[3] หมู่ป่าทั่วไป,[4] หมู่ป่ายูเรเชีย[5] หรือเรียกแบบง่ายว่า หมูป่า[6] เป็นสัตว์วงศ์ suid ที่อาศัยอยู่ในยูเรเชียและอเมริกาเหนือ และถูกนำไปที่ทวีปอเมริกาและโอเชียเนีย สปีชีส์นี้ถือเป็นหนึ่งในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่แพร่กระจายไกลที่สุดในโลก และเป็นsuiformที่กระจายตัวไกลที่สุดด้วย[4] ด้วยเหตุนี้ทางบัญชีแดงไอยูซีเอ็นจัดให้สัตว์ชนิดนี้อยู่ในกลุ่มสิ่งมีชีวิตที่มีความเสี่ยงต่ำต่อการสูญพันธุ์เพราะพบในบริเวณกว้าง มีจำนวนมาก และปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้[1] หมูป่าน่าจะมีต้นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ช่วงสมัยไพลสโตซีนตอนต้น[7] และมีความเหนือกว่าสปีชีส์ suid อื่น ๆ ผ่านการแพร่กระจายทั่วโลกเก่า[8]

ใน ค.ศ. 1990 มีหมูป่าสปีชีส์ย่อยที่ได้รับการยอมรับถึง 16 สปีชีส์ ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มตามความสูงของกระโหลกและความยาวของกระดูกแอ่งถุงน้ำตา[2] สปีชีส์นี้อาศัยอยู่ในสังคมที่เพศเมียเป็นใหญ่ ประกอบด้วยหมูเพศเมียที่มีความสัมพันธ์กัน และลูก ๆ ของมัน (ทั้งเพศผู้และเพศเมีย) ส่วนหมูเพศผู้โตเต็มวัยส่วนใหญ่ในช่วงนอกฤดูผสมพันธุ์มักอาศัยแบบสันโดษ[9] หมาป่าเทาเป็นนักล่าหลักของหมูป่าในบริเวณส่วนใหญ่ ยกเว้นในตะวันออกไกลและหมู่เกาะซุนดาน้อยที่มีนักล่าเป็นเสือและมังกรโกโมโดตามลำดับ[10][11] หมูป่ามีความสัมพันธ์กับมนุษย์มาอย่างยาวนาน โดยเป็นบรรพบุรุษของพันธุ์หมูเลี้ยงส่วนใหญ่และเป็นสัตว์ขนาดใหญ่ที่ถูกล่ามาหลายสหัสวรรษ

ลักษณะ

[แก้]

มีรูปร่างหน้าตาคล้ายหมูบ้าน แต่มีขนตามลำตัวยาวกว่า ลำตัวมีสีเทา ดำ บางตัวอาจมีสีน้ำตาลเข้ม ขนบริเวณหัวชี้ยาวออกไปทางด้านหลัง ตัวเมียมีเต้านม 5 คู่ ลูกที่เกิดใหม่มีสีน้ำตาลเข้มค่อนไปทางดำและมีแถบสีดำพาดผ่านตามยาวลำตัว ดูคล้ายลายของแตงไทย

มีขนาดความยาวลำตัวและหัว 135-150 เซนติเมตร ความยาวหาง 20-30 เซนติเมตร มีน้ำหนักประมาณ 75-200 กิโลกรัม โดยตัวผู้จะมีน้ำหนักหนักกว่าตัวเมีย สามารถวิ่งได้เร็ว 30 ไมล์/ชั่วโมง ตัวเมียสามารถมีลูกได้ครอกละ 10-11 ตัว ปีละ 2 ครอก[12]

การกระจายพันธุ์และนิเวศวิทยา

[แก้]

หมูป่า จัดเป็นสัตว์ที่การกระจายพันธุ์อย่างกว้างขวางมาก ทั้งในทวีปอเมริกาเหนือ, ทวีปยุโรป, ทวีปเอเชียและแอฟริกา และในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็สามารถพบเห็นได้ทั่วไป จึงทำให้มีทั้งหมด 10 ชนิดย่อยด้วยกัน (ดูในตาราง)

มีนิเวศวิทยาและพฤติกรรมสามารถอาศัยอยู่ได้ในหลากหลายสภาพแวดล้อม แต่มักเลือกที่จะอยู่ใกล้แหล่งน้ำ เพราะชอบนอนแช่ปลักโคลนในวันที่มีอากาศร้อน สามารถกินอาหารได้หลากหลายทั้งพืชและสัตว์ขนาดเล็ก เช่น สัตว์เลื้อยคลานหรือแม้แต่ซากสัตว์ด้วย หมูป่าที่อาศัยในป่าที่อยู่ใกล้แหล่งเกษตรกรรมของมนุษย์ อาจจะขโมยกินหัวหรือรากพืชที่ปลูก รวมทั้งถึงนาข้าวด้วย การหาอาหารจะใช้จมูกดุนดินเพื่อขุดหาอาหารใต้ดิน ขณะออกหาอาหารจะส่งเสียงร้องดังอยู่ตลอดเวลา มักหากินในช่วงเวลาเช้าตรู่และยามบ่าย บางครั้งอาจหากินได้ในเวลากลางคืนด้วย มักรวมกันเป็นฝูงใหญ่ ราว 20-100 ตัว โดยจะมีอายุของสมาชิกในฝูงคละเคล้ากันไป เมื่อถึงสภาวะคับขันจะหลบหนีไปตามพุ่มไม้เตี้ย ๆ ตามปกติแล้วหมูป่าเป็นสัตว์ที่ขี้หงุดหงิดและมีอารมณ์ร้าย ศัตรูของหมูป่าได้แก่ เสือโคร่งและเสือดาว เมื่อพบศัตรูตัวผู้จะออกมาทำหน้าที่ต่อสู้เพื่อปกป้องสมาชิกในฝูง ด้วยการพุ่งชนด้วยเขี้ยวที่ยาวโง้งออกมา ซึ่งในตัวเมียไม่มี

ปัจจุบัน เป็นสัตว์เศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่มีการเพาะเลี้ยงเพื่อรับประทานเนื้อเป็นอาหาร หรืออาจจะเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงตามบ้านของบางคนก็ได้ โดยมีการทำฟาร์มหมูป่า [13]

ในประเทศไทย มีฝูงหมูป่าอาศัยอยู่ท่ามกลางเมืองใหญ่อยู่ 2 แห่ง คือ หมู่บ้านร้างแห่งหนึ่ง ในอำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ มีจำนวนประชากรหมูป่าราว 200 ตัว และหมู่บ้านร้างอีกแห่งหนึ่ง ในเขตสะพานสูง กรุงเทพมหานคร มีประชากรหมูป่าอยู่ราว 50 ตัว ซึ่งทั้งสองแห่งนี้เกิดจากเจ้าของที่ดินเดิมได้นำหมูป่ามาเลี้ยงและทิ้งไว้ จนกระทั่งแพร่ขยายพันธุ์กันเอง[14] [15]

เขี้ยวหมูป่า

[แก้]
กรามและเขี้ยวหมูป่า

หมูป่า มีลักษณะที่แตกต่างจากหมูบ้านอย่างเห็นได้ชัด คือ มีฟันหน้างอกและยาวออกมาคล้ายพลั่ว คือ เขี้ยว ที่เอาไว้ใช้ป้องกันตัวและขุดหาอาหาร หมูป่าจะมีฟันทั้งหมด 44 ซี่ โดยเขี้ยวจะเป็นฟันหน้าด้านล่างที่ยาว แคบและยื่นออกไปทางข้างหน้า ทำหน้าที่คล้ายพลั่ว โดยเฉพาะในการขุดหาอาหาร โดยการขุดคุ้ยตามพื้นดินหรือตามโป่ง เขี้ยวของหมูป่าจะไม่มีรากฟัน โดยเฉพาะในตัวผู้ เขี้ยวจะค่อย ๆ เพิ่มขนาดจากเล็กไป ใหญ่ ส่วนฟันกรามซี่สุดท้ายจะมีขนาดเท่ากับฟันกรามซี่ที่ 1 และ 2 รวมกัน ส่วนของกะโหลกมีความยาว และลาดเอียง โดยที่ส่วนปากและฟันมีความยาวประมาณร้อยละ 70-80 ของกะโหลก ในตัวผู้ช่วงฤดูผสมพันธุ์ ตัวผู้โดยเฉพาะตัวที่มีขนาดใหญ่จะรวมตัวกัน ซึ่งโดยปกติจะอาศัยอยู่โดดเดี่ยว เรียกกันว่า "หมูโทน" มีร่างกายกำยำล่ำสัน มีเขี้ยวยาวและแหลมคมสามารถป้องกันตัวเองได้ ซึ่งเขี้ยวหมูป่านี้ มีความเชื่อทางไสยศาสตร์ของคนไทยว่า สามารถป้องกันภยันตรายได้เช่นเดียวกับเขี้ยวหรือเล็บของเสือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหมูป่าที่มีเขี้ยวลักษณะตัน ไม่เป็นโพรงเหมือนหมูป่าทั่วไป[16]

ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นในสหรัฐอเมริกา

[แก้]

ในสหรัฐอเมริกา หมูป่าเข้าไปถึงตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 พร้อมกับการตั้งถิ่นฐานของชาวยุโรป[17] เป็นหมูป่ารัสเซียผสมกับหมูบ้าน ปัจจุบัน หมูป่าเหล่านี้กลายเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่แพร่ระบาดไปแล้วในหลายรัฐของสหรัฐอเมริกา คาดว่ามีจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 5.5 ล้านตัวทั่วประเทศ เพิ่มจำนวนประชากรจากแค่ 3 ล้านตัวภายใน 10 ปี สร้างความเสียหายให้แก่พืชไร่ปีละ 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในบางรัฐ เช่น ลุยเซียนามีกฎหมายให้ล่าหมูป่าได้ทั้งปี หมูป่าหลายตัวมีขนาดใหญ่กว่าปกติ มีการเผยแพร่ภาพหมูป่าตัวใหญ่มีน้ำหนักถึง 1,100 ปอนด์ โดยเฉพาะไปตามอินเทอร์เน็ต จนถูกเรียกกันว่า "ฮ็อกซิลล่า"[18] แต่นักล่าหมูป่าหลายคนยืนยันว่าหมูป่าตัวที่ใหญ่ถึงขนาดนั้นไม่มีอยู่จริง แต่เป็นการตกแต่งภาพ น้ำหนักตัวที่มีขนาดใหญ่ที่สุดอยู่ที่ 600 ปอนด์ แต่ขนาดใหญ่โดยทั่วไปไม่เกิน 300 ปอนด์ ซึ่งหมูป่าเหล่านี้เป็นหมูป่าพันธุ์ผสมกับหมูบ้าน มีจุดเด่น คือ มีขนเป็นแผงสีดำตั้งตามแนวยาวของสันหลัง[12]

รูปภาพ

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 Keuling, O.; Leus, K. (2019). "Sus scrofa". IUCN Red List of Threatened Species. 2019: e.T41775A44141833. doi:10.2305/IUCN.UK.2019-3.RLTS.T41775A44141833.en. สืบค้นเมื่อ 16 November 2021.
  2. 2.0 2.1 Wozencraft, W. C. (2005). "Order Carnivora". ใน Wilson, D. E.; Reeder, D. M. (บ.ก.). Mammal Species of the World: A Taxonomic and Geographic Reference (3rd ed.). Johns Hopkins University Press. pp. 532–628. ISBN 978-0-8018-8221-0. OCLC 62265494.
  3. Heptner, V. G.; Nasimovich, A. A.; Bannikov, A. G.; Hoffman, R. S. (1988). Mlekopitajuščie Sovetskogo Soiuza. Moskva: Vysšaia Škola [Mammals of the Soviet Union]. Vol. I. Washington, D.C.: Smithsonian Institution Libraries and National Science Foundation. pp. 19–82.
  4. 4.0 4.1 Oliver, W. L. R.; และคณะ (1993). "The Common Wild Pig (Sus scrofa)". ใน Oliver, W. L. R. (บ.ก.). Pigs, Peccaries, and Hippos – 1993 Status Survey and Conservation Action Plan. IUCN / SSC Pigs and Peccaries Specialist Group. pp. 112–121. ISBN 2-8317-0141-4.
  5. "Explore the Database". www.mammaldiversity.org. สืบค้นเมื่อ 2021-08-21.
  6. "Boar - mammal". Britannica. สืบค้นเมื่อ 29 August 2021.
  7. Chen, K.; และคณะ (2007). "Genetic Resources, Genome Mapping and Evolutionary Genomics of the Pig (Sus scrofa)". Int J Biol Sci. 3 (3): 153–165. doi:10.7150/ijbs.3.153. PMC 1802013. PMID 17384734.
  8. Kurtén, Björn (1968). Pleistocene mammals of Europe. Weidenfeld and Nicolson. pp. 153–155
  9. Marsan & Mattioli 2013, pp. 75–76
  10. Baskin, L.; Danell, K. (2003). Ecology of Ungulates: A Handbook of Species in North, Central, and South America, Eastern Europe and Northern and Central Asia. Springer Science & Business Media. pp. 15–38. ISBN 3-540-43804-1.
  11. Affenberg, W. (1981). The Behavioral Ecology of the Komodo Monitor. University Press of Florida. p. 248. ISBN 0-8130-0621-X.
  12. 12.0 12.1 Giant Feral Hog, "Biggest & Baddest" สารคดีทางอนิมอลพลาเน็ต. ทางทรูวิชั่นส์: อังคารที่ 8 มกราคม 2556
  13. "ลักษณะของหมูป่า". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-04-22. สืบค้นเมื่อ 2008-04-25.
  14. "ผงะหมูป่านับร้อยยั้วเยี้ยหมู่บ้านร้างสุขสวัสดิ์ปากน้ำ จากข่าวสด". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2013-07-02.
  15. ร้องสื่อช่วยฝูงหมูป่ากลางกรุงโดนคนทำร้ายจับไปกิน จากเดลินิวส์
  16. เขี้ยวหมูป่า, คอลัมน์ เรื่องน่ารู้ หน้า 12. เดลินิวส์: เสาร์ที่ 17 พฤศจิกายน 2555 ขึ้น 4 ค่ำ เดือน 12 ปีมะโรง
  17. "History of Wild Swine in the United States". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-07-17. สืบค้นเมื่อ 2013-01-07.
  18. "ปรากฏการณ์หมูยักษ์จาก Hogzilla ถึง Monster Pig จากสยามดารา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-05-11. สืบค้นเมื่อ 2013-01-07.

บรรณานุกรม

[แก้]
  • Cabanau, Laurent (2001). The Hunter's Library: Wild Boar in Europe. Könemann. ISBN 978-3-8290-5528-4.
  • Marsan, Andrea; Mattioli, Stefano (2013). Il Cinghiale (ภาษาอิตาลี). Il Piviere (collana Fauna selvatica. Biologia e gestione). ISBN 978-88-96348-178.
  • Scheggi, Massimo (1999). La bestia nera: Caccia al cinghiale fra mito, storia e attualità (ภาษาอิตาลี). Editoriale Olimpia (collana Caccia). ISBN 978-88-253-7904-4.

อ่านเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
pFad - Phonifier reborn

Pfad - The Proxy pFad of © 2024 Garber Painting. All rights reserved.

Note: This service is not intended for secure transactions such as banking, social media, email, or purchasing. Use at your own risk. We assume no liability whatsoever for broken pages.


Alternative Proxies:

Alternative Proxy

pFad Proxy

pFad v3 Proxy

pFad v4 Proxy