ข้ามไปเนื้อหา

อัศวิน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
รูปปั้นอัศวิน

อัศวิน (อังกฤษ: Knight, เยอรมัน: Ritter, ฝรั่งเศส: Chevalier) เป็นบุคคลที่พระมหากษัตริย์พระราชทานหรือผู้นำทางการเมืองอื่นมอบบรรดาศักดิ์กิตติมศักดิ์ให้สำหรับราชการต่อพระมหากษัตริย์หรือประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการทหาร ทางประวัติศาสตร์ ในทวีปยุโรป บรรดาศักดิ์อัศวินมอบให้แก่นักรบขี่ม้า ระหว่างสมัยกลางตอนกลาง อัศวินถูกมองว่าเป็นชนชั้นขุนนางล่าง เมื่อถึงสมัยกลางตอนปลาย ยศอัศวินได้มาสัมพันธ์กับอุดมคติอัศวิน (chivalry) อันเป็นจรรยาบรรณสำหรับนักรบคริสตชนราชสำนักที่ไร้ที่ติ บ่อยครั้ง อัศวินเคยเป็นข้า (vassal) ซึ่งรับใช้เป็นนักสู้ให้กับเจ้า (lord) โดยจ่ายในรูปการถือครองที่ดิน เจ้าเชื่อใจอัศวิน ซึ่งมีทักษะการยุทธ์บนหลังม้า นับแต่สมัยใหม่ตอนต้น บรรดาศักดิ์อัศวินเป็นเพื่อแสดงเกียรติยศทั้งหมด โดยพระมหากษัตริย์มักเป็นผู้พระราชทาน ดังเช่นในระบบบรรดาศักดิ์อังกฤษ (British honours system) มักให้สำหรับราชการที่มิใช่ทางทหารแก่ประเทศ

อัศวินกับขุนนาง

[แก้]

อัศวิน (knight หรือที่เรียกว่า milites ในภาษาละติน) ปรากฏขึ้นในปลายศตวรรษที่ 10 ในฐานะที่เป็นกลุ่มชนชั้นเฉพาะของคนติดอาวุธ ที่ขุนนางจ้างมาสำหรับป้องกันปราสาทให้กับตน อัศวินและขุนนางเป็นชนชั้นที่ยังแยกกันอยู่เรื่อยมาจนกระทั่งประมาณ ค.ศ. 1200 ขุนนาง (noble หรือที่เรียกว่า nobiles ในภาษาละติน) ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินผู้สั่งสมความมั่งคั่งเรื่อยมาจากรุ่นสู่รุ่น จนอาจเรียกได้ว่าแทบจะไม่มีข้อจำกัดในการใช้อำนาจในเขตแดนของตน และอัศวินที่รับใช้ขุนนางเหล่านั้นก็มักจะยากจนและมีกำเนิดมาจากครอบครัวชาวนาผู้ต่ำต้อย

ในเวลาต่อมา อัศวินเริ่มเข้าไปผสมกับชนชั้นสูงมากขึ้นโดยการได้รับสิทธิพิเศษต่าง ๆ จากชนชั้นสูงและผ่านการแต่งงานเข้าสู่ตระกูลขุนนางเหล่านั้นด้วย ดังนั้น เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเช่นนี้ จึงมีการเรียกขุนนางว่าเป็น domini (เจ้า - lord) อีกทั้งมีอัศวินบางคนที่มีพฤติกรรมเช่นเดียวกับ พวกเจ้า เช่น การสร้างป้อมค่ายต่าง ๆ รอบที่ดินของตน เป็นต้น

ศาสนจักรก็มีส่วนช่วยในการเพิ่มพูนสิทธิพิเศษให้แก่อัศวินโดยการเน้นบทบาทของนักรบในฐานะที่เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ของชาวคริสต์ที่ได้รับมาจาก พระผู้เป็นเจ้าเช่นเดียวกับบทบาทของพระ การตั้งอัศวิน (dubbing of a knight = การตั้งอัศวินเป็นพิธีกรรมสำคัญในการที่บุคคลจะได้รับตำแหน่งจากเจ้านายเหนือหัวของตน ในแง่นี้หมายถึงการนำดาบแตะไหล่เพื่อสถาปนาเป็นอัศวิน) กลายเป็น“พิธีรับศีลของการเป็นอัศวิน” (sacrament of knighthood) ยิ่งกว่านั้นการทำสงครามครูเสดต่อต้านชาวมุสลิมในดินแดนศักดิ์สิทธิ์และชื่อเสียงของคณะอัศวินบางกลุ่ม อย่างเช่น อัศวินฮอสพิทาลเลอร์ (Knight Hospitaller) อัศวินเทมพลา (Knight Templar) และอัศวินทิวทอนิค (Teutonic Knight) เป็นต้น ช่วยทำให้เกียรติภูมิของอัศวินในฐานะนักรบชาวคริสต์เพิ่มสูงมากขึ้น ๆ วรรณคดีหลายเล่มอย่างเช่นเรื่อง บทเพลงแห่งโรแลนด์ (Song of Roland) และเรื่องพระเจ้าอาเธอร์ (Arthurian romance) ล้วนแต่ยกย่องพฤติกรรมของอัศวินทั้งสิ้น อนึ่ง เมื่ออัศวินมีที่ดินเป็นของตนเอง ก็ยุติความแตกต่างที่แยกระหว่างขุนนางกับอัศวินลง พร้อมกันนั้นก็เกิดชนชั้นใหม่ที่ขยายขนาดขึ้นเป็นขุนนางและอัศวินผู้เป็นเจ้าของที่ดิน หลักฐานต่าง ๆ สมัยกลางใช้คำอันหลากหลายเมื่อต้องเอ่ยถึงอัศวินและขุนนาง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเคยมีช่องว่างที่กั้นระหว่างอัศวินกับขุนนางอยู่ ในต้นศตวรรษที่ 12 นักเขียนแยกระหว่างอัศวินธรรมดา อัศวินที่เป็นอัศวินระดับกลาง และอัศวินที่เป็นขุนนางระดับสูง

การเปลี่ยนแปลงในเวลาต่อมา

[แก้]
การแต่งตั้งอัศวิน[ลิงก์เสีย]

ในสมัยเริ่มแรกผู้เป็น milites ทุกคนได้รับการคาดหวังว่าจะรับใช้เจ้าของตนในการสู้รบ เมื่อมีการผนวกที่ดินมากขึ้น ก็มีการจัดสรรโควตา (quata = จำนวนอัศวินที่ยอมให้มีได้จากแต่ละส่วน) จำนวนอัศวินที่เข้าประจำการกับเจ้าคนให้อยู่ในอัตราที่เหมาะสมนั้น หลักฐานชิ้นแรกสุดที่แสดงให้เห็นถึง การจัดสรรโควตาจำนวนเกิดขึ้นระหว่างรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าวิลเลียมที่ 1 แห่งอังกฤษ สมัญญา “ผู้พิชิต” (William I the Conqueror) ผู้โปรดให้จัดสรรโควตาทางการทหารให้ข้าราชบริพาร (แทบทั้งหมด) แต่ละคนของพระองค์มีโควตาจำนวนอัศวินสูงถึง 60 คน ตัวอย่างเช่น เจ้าอธิการวัดอะบิงดอน (Abingdon) มีโควตาอัศวินเข้าประจำการในกองทัพหลวง 30 คนและอีก 30 คนไปรักษาการณ์อยู่ที่ปราสาทวินด์เซอร์ (Windsor Castle) ครั้นปี ค.ศ. 1101 เมื่อพระเจ้าเฮนรีที่ 1 (Henry I) ทรงเรียกระดมพลอัศวินเข้าประจำการในกองทัพหลวง และหนึ่งในอัศวินของเจ้าอธิการวัดอะบิงดอนไม่สามารถเข้ารับการระดมพลดังกล่าวได้ ดังนั้น เจ้าอธิการวัดผู้นั้นมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าปรับแทนอัศวินที่เข้าประจำการไม่ได้ เป็นต้น

ระยะเวลาที่อัศวินจะต้องปฏิบัติภารกิจให้กับเจ้าของตนลดลงเหลือปีละ 40 วัน โดยที่ทั้งกษัตริย์และขุนนางชั้นสูงต่างก็ยอมรับเงินชดใช้ (scutage) แทนการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว ในทางกลับกัน กษัตริย์และขุนนางชั้นสูงนั้นก็นำเงินที่ได้ไปจ้างอัศวินที่พร้อมทำการรบที่หาเลี้ยงชีพด้วยการเป็นทหารรับจ้าง

ในช่วงศตวรรษที่ 12 – 13 การรับเงินชดเชยของกษัตริย์และขุนนางชั้นสูงแทนการปฏิบัติหน้าที่ของอัศวินแพร่กระจายจากอังกฤษและแคว้นนอร์ม็องดีไปสู่ฝรั่งเศสและส่วนอื่น ๆ ในยุโรป คือ ตอนใต้ของอิตาลี ซิซีลี และกรีก ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการเป็นอัศวินมักจะสูงมาก ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า ชุดเกราะ และอาวุธล้วนแล้วแต่ประณีตบรรจงและมีราคาแพงทั้งสิ้น ทายาทจำนวนมากในครอบครัวอัศวินต้องเลื่อนพิธีการเป็นอัศวินออกไปจนกว่าพวกเขาจะจัดหาสิ่งของดังกล่าวได้ดีกว่าที่มีอยู่ ขณะที่คนที่ไม่สามารถทำได้ก็จะไม่ได้เป็นอัศวินไปจนตลอดชีวิต จนกระทั่งศตวรรษที่ 13 อัศวินก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของตำแหน่งขุนนางที่เป็นมรดกตกทอด ด้วยเหตุนี้อัศวินจึงไม่จำเป็นต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อให้ได้รับสถานภาพทางสังคมอีกต่อไป

บทบาททางการทหารของอัศวินในสมัยกลางตอนปลายเปลี่ยนไป เนื่องจากอาวุธและกลยุทธ์ในการรบของทหารราบเริ่มซับซ้อนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้ธนูยาว (longbow) หอก และปืนใหญ่ ทำให้อัศวินบนหลังม้ามิได้เป็นผู้นำนักรบอีกต่อไป ด้วยเหตุที่ความสำคัญในการสนามรบของอัศวินลดลง อัศวินจึงหันไปหาการใช้ชีวิตพิธีการหรืองานเฉลิมฉลองที่หรูหรามากขึ้น ดังจะเห็นได้ว่าในสมัยกลางตอนปลายมีการเพิ่มขึ้นของการประลองยุทธ์ (tournament) อันน่าตื่นตาตื่นใจ และการตั้งอัศวินคณะใหม่ ๆ อย่างเช่น คณะการ์เตอร์ (the Order of the Garter) ทั้งนี้อาวุธ ชุดเกราะและธงของอัศวินที่พบเห็นได้ตามพิพิธภัณฑสถานหลาย ๆ แห่งในปัจจุบันนี้ส่วนใหญ่มาจากสมัยกลางตอนปลายหรือไม่ก็ช่วงสมัยใหม่ตอนต้น

ความเสื่อมโทรม

[แก้]

ในช่วงท้ายของศตวรรษที่ 16 อัศวินก็ได้กลายเป็นสิ่งที่ล้าสมัยไปแล้ว ในขณะที่ประเทศต่างๆ เริ่มที่จะสร้างกองทัพแบบมืออาชีพของพวกเขาเองที่ฝึกได้เร็วกว่า ราคาถูกกว่า และระดมพลได้ง่ายกว่า[1][2] ความก้าวหน้าของอาวุธปืนที่มีพลังทำลายล้างสูงทำให้มีการยกเลิกในการใช้แผ่นเกราะ เนื่องจากเวลาในการฝึกทหารด้วยปืนนั้นน้อยกว่ามากเมื่อนำไปเทียบกับอัศวิน ราคาของอุปกรณ์ก็ลดลงอย่างมากและปืนก็มีโอกาสที่จะเจาะเกราะต่อชุดอัศวินได้อย่างง่ายดาย ในศตวรรษที่ 14 การใช้ทหารราบติดอาวุธด้วยหอกและการต่อสู้ในระยะประชิดก็พิสูจน์ให้เห็นได้ชัดแล้วว่ามันใช้ได้ผลกับทหารม้าหนัก เช่น ในช่วงยุทธการที่แนนซี เมื่อชาร์ลผู้อาจหาญและทหารม้าหุ้มเกราะของเขาถูกทำลายอย่างยับเยินโดยพลทหารหอกชาวสวิส[3] เมื่อระบบศักดินาได้มาถึงจุดสิ้นสุดลง เหล่าขุนนางก็ไม่ได้เห็นมีการใช้อัศวินอีกเลย เจ้าของที่ดินหลายคนต่างพบว่าบทบาทหน้าที่ของอัศวินนั้นมีราคาแพงเกินไป และพวกเขามีความพอใจกับการใช้สไควร์ ทหารรับจ้างยังกลายเป็นทางเลือกเศรษฐกิจให้กับอัศวิน เมื่อมีความขัดแย้งเกิดขึ้น

กองทัพในช่วงยุคสมัยนั้นได้เริ่มใช้แนวทางการทำสงครามที่เป็นจริงมากขึ้นมากกว่าการทำสงครามในระยะประชิดที่มาพร้อมด้วยความกล้าหาญและเกียรติยศของอุดมคติอัศวิน ในไม่ช้า อัศวินที่เหลือก็ถูกดึงเข้าสู่กองทัพแบบมืออาชีพ แม้ว่าพวกเขาจะมียศตำแหน่งที่สูงกว่าทหารเป็นส่วนใหญ่ เพราะพวกเขาต่างก็สายเลือดตระกูลที่สูงส่ง แต่พวกเขาเองก็สูญเสียเอกลักษณ์ที่มีความโดดเด่นไปก่อนหน้านี้ ทำให้พวกเขามีความแตกต่างจากทหารทั่วไป ลำดับเชื้อสายตระกูลของอัศวินบางคนก็มีชีวิตอยู่มาจนถึงยุคปัจจุบัน พวกเขาได้นำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ ในขณะที่ยังคงมีการรักษาประเพณีของอัศวินในยุคเก่า ยกตัวอย่างเช่น อัศวินคณะพระคูหาศักดิ์สิทธิ์ อัศวินคณะบริบาล และอัศวินคณะทิวทอนิก[4]

อ้างอิง

[แก้]
  • เอกสารประกอบการศึกษารายวิชา ประวัติศาสตร์ยุโรปสมัยกลาง โดย จักรฤทธิ์ อุทโธ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พ.ศ. 2545
  1. Gies, Francis. The Knight in History. Harper Perennial (July 26, 2011). pp. Introduction: What is a Knight. ISBN 978-0060914134
  2. "The History of Knights". All Things Medieval. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-02-23.
  3. "History of Knights". How Stuff Works.
  4. "Malta History 1000 AD–present". Carnaval.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-02-14. สืบค้นเมื่อ 2008-10-12.
pFad - Phonifier reborn

Pfad - The Proxy pFad of © 2024 Garber Painting. All rights reserved.

Note: This service is not intended for secure transactions such as banking, social media, email, or purchasing. Use at your own risk. We assume no liability whatsoever for broken pages.


Alternative Proxies:

Alternative Proxy

pFad Proxy

pFad v3 Proxy

pFad v4 Proxy