เต่าทะเล
เต่าทะเล | |
---|---|
เต่ามะเฟือง (Dermochelys coriacea) ซึ่งเป็นเต่าทะเลเพียงชนิดเดียวที่อยู่ในวงศ์ Dermochelyidae | |
เต่ากระ (Eretmochelys imbricata) จัดอยู่ในวงศ์ Cheloniidae | |
สถานะการอนุรักษ์ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Reptilia |
อันดับ: | Testudines |
อันดับย่อย: | Cryptodira |
วงศ์ใหญ่: | Chelonioidea Bauer, 1893 |
วงศ์และสกุล | |
|
เต่าทะเล (อังกฤษ: Sea turtle) เป็นเต่าที่อยู่ในวงศ์ใหญ่ Chelonioidea ซึ่งวิวัฒนาการจนสามารถอาศัยอยู่ได้ในทะเลตลอดเวลา โดยจะไม่ขึ้นมาบนบกเลย นอกจากการวางไข่ของตัวเมียเท่านั้น
ลักษณะ
[แก้]ถึงแม้เต่าทะเลจะดำรงชีวิตในทะเล แต่ก็ยังคงคุณลักษณะของสัตว์เลื้อยคลานทั่วไป เต่าทะเลมีกระดองเป็นเกล็ดปกคลุมร่างกายซึ่งได้วิวัฒนาการให้มีลักษณะเหมาะกับการว่ายน้ำ มีรูปทรงรีหรือรูปหัวใจ[1] แต่ทว่าทั้งหัวและขาของเต่าทะเลนั้นไม่สามารถที่จะหดเข้าไปในกระดองได้ อีกทั้งยังมีลำไส้ขนาดใหญ่ที่ช่วยในการย่อยอาหารได้ดียิ่งขึ้นรวมทั้งมีไขมันมากกว่าสัตว์เลื้อยคลานจำพวกอื่น เพื่อช่วยในการให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย ส่วนขาทั้งสี่ข้างถูกพัฒนาให้แบนคล้ายพายเพื่อช่วยในการว่ายน้ำให้ดียิ่งขึ้นกว่าเต่าน้ำทั่วไปที่มีแต่พังผืด โดยขาคู่หน้าใช้ในการผลักดันและพุ้ยน้ำ ส่วนคู่หลังใช้เป็นเหมือนหางเสือกำหนดทิศทาง เต่าทะเลบางตัวสามารถที่จะว่ายน้ำได้เร็วถึง 35 ไมล์ต่อชั่วโมง หรือสามารถที่จะว่ายน้ำข้ามมหาสมุทรนับเป็นระยะทางกว่าร้อยไมล์
เต่าทะเลทุกชนิดมีการวิวัฒนาการตัวเองให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในทะเลและลดการแก่งแย่งกันเอง เช่น การกินอาหารที่แตกต่างกัน ซึ่งเต่าทะเลกินได้ทั้งพืชและสัตว์ แต่ทว่าก็จะมีการกินที่แตกต่างออกไปในแต่ละชนิด การขึ้นมาวางไข่บนหาดที่มีลักษณะและช่วงเวลาที่แตกต่างกัน กระดองก็สามารถที่จะเปลี่ยนแปรได้ตามสิ่งแวดล้อม โดยในปัจจุบัน พบเต่าทะเลได้ในมหาสมุทรและทะเลทั่วโลก ยกเว้นมหาสมุทรใต้เท่านั้น
การวางไข่
[แก้]ในแต่ละปี จะมีเต่าทะเลที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ผสมพันธุ์ตามบริเวณต่าง ๆ ในมหาสมุทร ในตอนผสมพันธุ์ ตัวผู้จะเกาะหลังตัวเมียด้วยการกัดเข้าที่คอของตัวเมียเพื่อไม่ให้หลุด หลังจากปฏิสนธิแล้ว ตัวเมียจะขึ้นหาดขุดทรายวางไข่ โดยเต่าทะเลทุกชนิดขึ้นมาวางไข่เฉพาะเวลากลางคืน ยกเว้นเต่าหญ้าแอตแลนติกเท่านั้นที่มีพฤติกรรมวางไข่ในเวลากลางวันด้วย[2] และส่วนใหญ่จะขึ้นมาวางไข่บนหาดที่ถือกำเนิด ถึงแม้ว่าจะอยู่ห่างไกลแค่ไหนก็ตาม ทั้งนี้สันนิษฐานว่า เต่าทะเลจะกลับมาโดยอาศัยการตรวจจับสนามแม่เหล็กโลก[3] เต่าทะเลตัวเมียเมื่อขึ้นจากน้ำก็จะคลานขึ้นมาบนหาดเพื่อหาจุดที่เหมาะสมในการวางไข่ แต่ถ้าพบว่าหาดนั้นมีแสงสว่างและเสียงรบกวนจะคลานกลับลงน้ำโดยไม่วางไข่ เมื่อพบจุดที่ต้องการก็จะใช้ขาคู่หลังขุดหลุม จนมีลักษณะคล้ายหม้อสองหู การขุดก็จะทำอย่างระมัดระวังโดยใช้พายข้างหนึ่งโกยทรายแล้วดีดออก เมื่อทรายที่ขุดมากขึ้นก็จะใช้พายอีกข้างช่วยโกยออก ต่อจากนั้นก็จะวางไข่ ซึ่งมีลักษณะนิ่มคลุม โดยเต่าแต่ละตัวสามารถที่จะขึ้นมาวางไขได้สองหรือสามครั้ง ขณะที่วางไข่อาจมีของเหลวไหลออกมาจากตา ทั้งนี้เพื่อรักษาระดับความชื้นและป้องกันทรายเข้าตา ซึ่งดูแล้วเหมือนกับว่าเต่าร้องไห้ ซึ่งของเหลวที่ขับออกมานี้คือ เกลือ[4] ไข่เต่าแต่ละฟองจะมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 4 ถึง 7 เซนติเมตร (1.5-2.5 นิ้ว) หลังจากไข่เสร็จ เรียบร้อยแล้วก็กลบหลุมและทุบทรายให้แน่น แล้วพรางหลุมโดยการกวาดทราบข้างเคียงจนสังเกตตำแหน่งได้ยาก
ในแต่ละฤดูกาล เต่าตัวเมียจะวางไข่ทุกช่วงสัปดาห์จนกว่าจะหมดท้อง ซึ่งบางตัวอาจจะมีถึง 1,000 ฟอง โดยใช้เวลาในการขึ้นมาวางไข่บนหาด 3-8 ครั้ง แล้วจะกลับมาวางไข่อีกครั้งหลังจากเวลาผ่านไป 2-4 ปี ดังนั้น จำนวนรังในแต่ละปีจึงเปลี่ยนแปลงตลอด ด้วยสาเหตุที่ปริมาณการรอดตายของลูกเต่าทะเลน้อยมาก ดังนั้น ในการวางไข่แต่ละครั้งจึงมีจำนวนมาก ถ้าหาดที่เต่าทะเลขึ้นมาวางไข่ มีพื้นที่น้อย โอกาสที่ไข่เต่าทะเลจะถูกทำลายโดยน้ำท่วมหรือจากน้ำฝนจะมีมาก อุณหภูมิภายในหลุมก็มีผลกระทบต่อการฟังตัว กล่าวคือ ถ้าอุณหภูมิอยู่ในระดับปรกติ โอกาสที่ลูกเต่าทะเลจะฟังจากไข่เป็นเพศเมียทั้งหมดมีมาก ในทำนองเดียวกัน ถ้าอุณหภูมิภายในหลุมต่ำกว่าภายนอก ลูกเต่าทะเลที่ออกจากไข่ก็จะเป็นเพศผู้ทั้งสิ้น
ไข่เต่าทะเลที่รอดจากน้ำท่วมและสัตว์อื่นกินเป็นอาหาร ก็จะฟักออกมาเป็นตัวภายใน 60 วันพร้อมกัน เมื่อลูกเต่าทะเลออกจากไข่ก็จะคลานขึ้น ผิวทราย ก่อนจะถึงผิวหน้าทรายก็จะหยุดตรงจุดที่ลึกจากผิวประมาณ 5 เซนติเมตร เพื่อรอให้อุณหภูมิภายนอกต่ำจึงออกจากทราย ซึ่งส่วนใหญ่ ก็เป็นเวลากลางคืนจึงออกจากหลุมแล้วคลานลงทะเลอย่างรวดเร็ว ช่วงคลานลงทะเลนี้จะเป็นช่วงเวลาที่อันตรายที่สุด ลูกเต่าทะเลทุกตัวจะหันหัวไปยังเส้นขอบฟ้าในทะเลที่สว่างที่สุด ถ้ามีแสงบนหาดก็จะชักจูงให้คลานเข้าหาและในที่สุดก็จะเป็นอันตรายถึงตายได้ มีสัตว์หลายชนิดกินลูกเต่าทะเลเป็นอาหาร เช่น ในช่วงที่คลานลงทะเลก็จะเกิดอันตรายจากนก สัตว์เลื้อยคลานด้วยกันเช่น เหี้ย หรือสัตว์ผู้ล่าอื่น ๆ เช่น พังพอน รวมทั้งมนุษย์ เมื่อถึงน้ำอาจจะถูกปลาฉลามหรือปลาขนาดใหญ่กว่ากินเป็นอาหารได้
ในสัปดาห์แรก ลูกเต่าทะเลไม่สามารถที่จะดำน้ำและใช้ชีวิตใต้ท้องทะเลได้เป็นเวลานาน เพราะยังว่ายน้ำไม่แข็งพอที่จะหลบหลีกจากผู้ล่าได้ การหลบหลีกศัตรูในช่วงนี้จึงใช้วิธีหลบอาศัยและดำรงชีวิตตามสาหร่ายทะเลหรือพืชทะเลที่ล่องลอยในทะเล ซึ่งใช้เวลาประมาณ 1 ปี จึงจะแข็งแรงพอที่จะเอาชีวิตรอดได้ คาดว่าเต่าทะเลมีอายุยืนยาวนานกว่า 60 ปี[5]
การจำแนก
[แก้]ปัจจุบันมีเต่าทะเลทั้งหมด 7 ชนิด โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 วงศ์ย่อย คือ Cheloniidae ซึ่งเต่าทะเลส่วนมากจะอยู่ในวงศ์นี้ กับ วงศ์ Dermochelyidae ซึ่งมีเพียงชนิดเดียวเท่านั้น ได้แก่
- วงศ์ Cheloniidae
- เต่าหัวค้อน (Caretta caretta)
- เต่าตนุ (Chelonia mydas)
- เต่ากระ (Eretmochelys imbricata)
- เต่าหญ้าแอตแลนติก (Lepidochelys kempii)
- เต่าหญ้า (Lepidochelys olivacea)
- เต่าตนุหลังแบน (Natator depressus)
- วงศ์ Dermochelyidae
- เต่ามะเฟือง (Dermochelys coriacea)
ซึ่งในน่านน้ำไทยพบทั้งหมด 5 ชนิด ได้แก่ เต่าตนุ, เต่ากระ, เต่าหญ้า, เต่ามะเฟือง และเต่าหัวค้อน [6]
ความสัมพันธ์กับมนุษย์และการอนุรักษ์
[แก้]เต่าทะเลมีความสัมพันธ์กับมนุษย์มาเป็นระยะเวลายาวนาน ดังจะปรากฏอยู่ในนิทานพื้นบ้านของหลายชนชาติ เช่น อุระชิม่า ทาโร่ของญี่ปุ่น ที่ว่าด้วยเด็กหนุ่มที่ชื่ออุระชิมะได้ช่วยชีวิตเต่าทะเลตัวหนึ่งไว้จากการถูกฆ่า ต่อมาเต่าทะเลตัวนี้ได้พาเขาไปยังวังมังกรใต้ทะเลอันเป็นที่ประทับของเจ้าหญิง เป็นต้น [7]
โดยมากแล้ว มนุษย์จะจับเต่าทะเลได้โดยบังเอิญจากการทำประมง ส่วนใหญ่มักจะนำไปรับประทานและนำกระดองไปทำเป็นเครื่องประดับหรือสตั๊ฟฟ์ไว้แสดง ไข่ก็ถูกขุดนำมารับประทาน อีกทั้งบางส่วนยังถูกจับมาเป็นสัตว์เลี้ยงอีกด้วย ทำให้ปริมาณเต่าทะเลทั่วทั้งโลกลดลงไปมากอย่างน่าใจหายในช่วงระยะเวลาไม่นาน ประกอบกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปที่ส่งผลถึงทะเลอันเป็นที่อยู่อาศัย
ปัจจุบันนี้ หลายประเทศมีโครงการอนุรักษ์และเพาะพันธุ์เต่าทะเล รวมทั้งออกกฎหมายที่ช่วยในเรื่องการอนุรักษ์ด้วย สำหรับในประเทศไทย หน่วยงานภาครัฐที่มีบทบาทในส่วนนี้มากที่สุด คือ กรมประมงโดยการร่วมมือกับกองทัพเรือ[8] ทำการอนุรักษ์ชายหาดหลายแห่งทั้งบนบกและที่เป็นเกาะในอ่าวไทยและทะเลอันดามันเพื่อการวางไข่ของเต่าทะเล ซึ่งก็มีอยู่หลายแห่ง เช่นที่ หาดไม้ขาว, อุทยานแห่งชาติสิรินาถในจังหวัดภูเก็ต[9] ที่อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง จังหวัดพังงา บริเวณชายหาดของหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง จังหวัดชลบุรี เป็นต้น ซึ่งไข่ที่ได้รับการวางและขุดหลุมฝังเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เจ้าหน้าที่จะมาเก็บเพื่อนำไปฟักต่อไป โดยจะมีบ่ออนุบาลเพื่อเลี้ยงดูลูกเต่าจนกระทั่งมีความแข็งแรงพอที่จะดำรงชีวิตตนเองได้แล้ว จึงจะนำไปปล่อย อีกทั้ง เมื่อพบเจอเต่าทะเลที่ได้รับบาดเจ็บก็จะนำกลับมารักษาพยาบาลให้อีกด้วย
สำหรับสถานะทางกฎหมายแล้ว เต่าทะเลทุกชนิดในประเทศไทย ถือเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535[10]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ เต่าทะเล[ลิงก์เสีย]
- ↑ Kemp's Ridley Sea Turtle จากเนชั่นแนลจีโอกราฟิก
- ↑ "เต่าทะเลกลับมาวางไข่ที่หาดทรายเดิมได้อย่างไร ?". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-04-20. สืบค้นเมื่อ 2011-01-11.
- ↑ ทำไมเต่าถึงร้องไห้
- ↑ สาระน่ารู้เกี่ยวกับเต่า
- ↑ เต่าจะละเม็ด
- ↑ อุราชิมา ทาโร
- ↑ ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล
- ↑ "อุทยานแห่งชาติสิรินาถ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-04-05. สืบค้นเมื่อ 2011-01-11.
- ↑ สัตว์ป่าคุ้มครอง
- Sea turtle เก็บถาวร 2010-11-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- อาหารและการกินของเต่าทะเล
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- ศูนย์อนุรักษ์เต่าทะเล กองทัพเรือ
- เว็บไซต์องค์กรอนุรักษ์เต่าทะเลอย่างเป็นทางการ
- ข้อมูลและภาพประกอบเต่าทะเล
- รายการกบนอกกะลา ตอน เต่าทะเล เก็บถาวร 2012-04-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
Animals Speak [by Mahidol ชีวิตอิสระของเต่าทะเล (13 เมษายน 2557)]