ข้ามไปเนื้อหา

เท็นโชอิง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เท็นโชอิง
天璋院
เท็นโชอิง
เกิด5 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1836(1836-02-05)
คาโงชิมะ แคว้นซัตสึมะ ญี่ปุ่น
เสียชีวิต20 พฤศจิกายน ค.ศ. 1883(1883-11-20) (47 ปี)
โตเกียว ญี่ปุ่น
สัญชาติญี่ปุ่น
ชื่ออื่นอัตสึฮิเมะ

เท็นโชอิง (ญี่ปุ่น: 天璋院โรมาจิTenshōin5 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 183520 พฤศจิกายน ค.ศ. 1883) หรือที่รู้จักกันในนามว่า "อัตสึฮิเมะ" (ญี่ปุ่น: 篤姫โรมาจิAtsuhime) เป็นมิไดโดโกโระหรือภรรยาเอกของของโชกุนโทกูงาวะ อิเอซาดะ (ญี่ปุ่น: 徳川家定โรมาจิTokugawa Iesada) โชกุนลำดับที่ 13 ของรัฐบาลโชกุนโทกูงาวะแห่งญี่ปุ่น

ประวัติ

[แก้]

เท็นโชอิงเกิดเมื่อ ค.ศ. 1835 ที่คาโงชิมะ แคว้นซัตสึมะ เดิมมีชื่อว่า "คัตสึ" (ญี่ปุ่น: โรมาจิKatsu) เป็นบุตรสาวของของชิมาซุ ทาดาตาเกะ (ญี่ปุ่น: 島津忠剛โรมาจิShimazu Tadatake) ผู้นำของตระกูลชิมาซุแห่งอิมาอิซูมิ (ญี่ปุ่น: 今和泉島津โรมาจิImaizumi Shimazu) ซึ่งเป็นสาขาย่อยของตระกูลชิมาซุที่ปกครองแคว้นซัตสึมะอยู่ในขณะนั้น มารดาคือนางยูกิ (ญี่ปุ่น: โรมาจิYuki) คัตสึมีพี่ชายร่วมมารดาเดียวกันจำนวนสองคน

ในปี ค.ศ. 1853 ชิมาซุ นาริอากิระ ไดเมียวที่ปกครองแคว้นซัตสึมะอยู่ในเวลานั้น ต้องการเชื่อมสัมพันธ์และแผ่ขยายอำนาจของซัตสึมะเข้าไปในรัฐบาลโชกุน จึงรับเอาคัตสึมาเป็นบุตรสาวบุญธรรมของตนเอง เพื่อที่จะส่งไปยังนครเอโดะเพื่อแต่งงานกับโชกุนโทกูงาวะ อิเอซาดะ เมื่อได้เป็นธิดาบุญธรรมของชิมาซุ นาริอากิระแล้ว คัตสึได้รับชื่อใหม่ว่า "อัตสึโกะ" (ญี่ปุ่น: 篤子โรมาจิAtsuko) หรือ "อัตสึ" และเนื่องจากอัตสึเป็นบุตรสาวบุญธรรมของไดเมียวเจ้าผู้ครองแคว้น อัตสึจึงมีฐานะเป็นฮิเมะหรือท่านหญิง หรือว่า ท่านหญิงอัตสึ หรือ อัตสึฮิเมะ อัตสึเดินทางจากเมืองคาโงชิมะมายังเมืองเอโดะและอาศัยอยู่ที่คฤหาสน์ของตระกูลชิมาซุในเอโดะ

เข้าสู่ตระกูลโทกูงาวะ

[แก้]

หลังจากที่พำนึกอยู่ที่เมืองเอโดะเป็นเวลาสามปี ในค.ศ. 1856 อัตสึจึงแต่งงานกับโชกุนโทกูงาวะ อิเอซาดะ เนื่องจากตามธรรมเนียมภรรยาเอกของโชกุนหรือมิไดโดโกโระในสมัยเอโดะต้องมาจากโกเซ็กเกะ (ญี่ปุ่น: 五摂家โรมาจิGosekke) หรือตระกูลผู้สำเร็จราชการทั้งห้าซึ่งสืบเชื้อสายมาจากตระกูลฟูจิวาระ หรือมาจากสาขาย่อยของพระราชวงศ์ญี่ปุ่น อัตสึจึงเข้าเป็นธิดาบุญธรรมของโคโนเอะ ทาดาฮิโระ (ญี่ปุ่น: 近衛忠煕โรมาจิKonoe Tadahiro) ขุนนางในราชสำนักเมืองเกียวโตซึ่งเป็นน้องเขยของชิมาซุ นาริอากิระ อัตสึได้รับชื่อใหม่อีกครั้งว่า ฟูจิวาระ โนะ ซูมิโกะ (ญี่ปุ่น: 藤原敬子โรมาจิFujiwara no Sumiko) อัตสึเข้าพิธีแต่งงานกับโชกุนโทกูงาวะ อิเอซาดะ ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1856 ได้รับตำแหน่งเป็น มิไดโดโกโระ หรือ ภรรยาเอกของโชกุน อัตสึย้ายเข้าไปอาศัยอยู่ภายในโอโอกุ (ญี่ปุ่น: 大奥โรมาจิŌoku) หรือฝ่ายในของปราสาทโชกุนอันเป็นเขตของสตรีซึ่งบุรุษอื่นใดนอกจากโชกุนไม่อาจย่างกรายเข้าไป

โชกุนอิเอซาดะนั้นขาดทายาทไว้สืบตำแหน่งโชกุน จึงเกิดความขัดแย้งภายในรัฐบาลโชกุนในประเด็นเรื่องผู้สืบทอดตำแหน่งโชกุน ฝ่ายสนับสนุนการปฏิรูปนำโดยชิมาซุ นาริอากิระ ให้การสนับสนุนแก่โทกูงาวะ โยชิโนบุ (ญี่ปุ่น: 徳川慶喜โรมาจิTokugawa Yoshinobu) ผู้นำของตระกูลโทกูงาวะสาขาฮิตตสึบาชิ (ญี่ปุ่น: 一橋โรมาจิHitotsubashi) ในขณะที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมนำโดยอิอิ นาโอซูเกะ (ญี่ปุ่น: 井伊直弼โรมาจิIi Naosuke) ให้การสนับสนุนแก่โทกูงาวะ โยชิโตมิ (ญี่ปุ่น: 徳川慶福โรมาจิTokugawa Yoshitomi) ไดเมียวแห่งแคว้นคิอิ (ญี่ปุ่น: 紀伊โรมาจิKii) อัตสึถูกคาดหวังให้การช่วยเหลือทางการเมืองแก่ฝ่ายของชิมาซุ นาริอากิระ ด้วยการสนับสนุนโทกูงาวะ โยชิโนบุ ให้ขึ้นเป็นโชกุน โดยคนสนิทของอัตสึคือ อิกูชิมะ (ญี่ปุ่น: 幾島โรมาจิIkushima) คอยส่งข่าวภายในให้แก่ชิมาซุ นาริอากิระอย่างสม่ำเสมอ แต่ทว่าสตรีอื่นส่วนมากภายในโอโอะกุนั้นให้การสนับสนุนแก่ฝ่ายอนุรักษ์นิยม และให้การสนับสนุนแแก่โทกูงาวะ โยชิโตมิ ในการสืบทอดตำแหน่งโชกุน

หลังจากที่อัตสึใช้ชีวิตคู่สมรสกับโชกุนอิเอซาดะเป็นเวลาทั้งสิ้นหนึ่งปีเก้าเดือน โชกุนโทกูงาวะ อิเอซาดะถึงแก่อสัญกรรมในปีค.ศ. 1858 โดยที่มิได้มีบุตรด้วยกัน และในอีกเพียงสิบวันต่อมาบิดาบุญธรรมของอัตสึคือชิมาซุ นาริอากิระ ก็เสียชีวิตลงเช่นกัน อัตสึจึงเข้าพิธีปลงผมบวชเป็นชีตามธรรมเนียมได้รับฉายาว่า "เท็นโชอิง" (ญี่ปุ่น: 天璋院โรมาจิTenshō-in) และได้รับตำแหน่งเป็น โอมิไดโดโกโระ (ญี่ปุ่น: 大御台所โรมาจิŌmidaidokoro) หรือ ภรรยาเอกของโชกุนผู้ล่วงลับ ในสมัยเอโดะโอโอกุนั้นมีบทบาทอย่างมากในการคัดเลือกผู้สืบทอดตำแหน่งโชกุน แต่ทว่าเท็นโชอิงไม่สามารถใช้อิทธิพลทางการเมืองให้การสนับสนุนแก่โยชิโนบุได้เนื่องจากบิดาบุญธรรมของเท็นโชอิงได้ถึงแก่กรรมทำให้อำนาจของแคว้นซัตสึมะลดลงชั่วคราว ฝ่ายอนุรักษ์นิยมจึงสามารถผลักดันให้โทกูงาวะ โยชิโตมิ ขึ้นเป็นโชกุนลำดับที่ 14 ต่อมาจากโชกุนอิเอซาดะได้สำเร็จ โยชิโตมิเมื่อเข้ารับตำแหน่งโชกุนแล้วจึงเปลี่ยนชื่อเป็น โทกูงาวะ อิเอโมจิ (ญี่ปุ่น: 徳川慶茂โรมาจิTokugawa Iemochi) โชกุนคนใหม่เข้าฝากตัวเป็นบุตรบุญธรรมของโชกุนอิเอซาดะผู้ล่วงลับไปแล้วเพื่อให้การสืบทอดตำแหน่งเป็นไปอย่างราบรื่น เท็นโชอิงจึงอยู่ในฐานะเป็นมารดาบุญธรรมของโชกุนอิเอโมจิ อำนาจของแคว้นซัตสึมะถูกลดทอนอย่างมากในช่วงการปราบปรามปีอันเซ (ญี่ปุ่น: 安政の大獄โรมาจิAnsei no taigoku) ซึ่งอิอิ นาโอซูเกะ ใช้โอกาสนี้ในการกำจัดคู่แข่งทางการเมือง ทำให้เท็นโชอิงห่างเหินจากตระกูลชิมาซุและแคว้นซัตสึมะ และใกล้ชิดกับตระกูลโทกูงาวะมากขึ้น

ผู้นำของโอโอกุ

[แก้]

ในปี ค.ศ. 1862 เพื่อเป็นการสานความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลโชกุนและราชสำนักของพระจักรพรรดิที่เมืองเกียวโต รัฐบาลโชกุนจึงจัดให้โชกุนโทกูงาวะ อิเอโมจิ เข้าเสกเสกสมรสกับเจ้าหญิงคาซูโนมิยะ (ญี่ปุ่น: 和宮โรมาจิKazu no miya) พระขนิษฐาในจักรพรรดิโคเม ในเวลานี้เองทางแคว้นซัตสึมะได้เชิญให้เท็นโชอิงกลับมาพำนักที่แคว้นซัตสึมะแต่เท็นโชอิงปฏิเสธคำเชิญนั้น เมื่อเจ้าหญิงคาซูโนมิยะเสด็จมาถึงปราสาทเอโดะและเข้าประทับอยู่ภายในโอโอกุแล้วนั้น ก็เกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่างนางเท็นโชอิงและเจ้าหญิงคาซุในเรื่องของพิธีการ แม้ว่าเจ้าหญิงคาซูโนมิยะจะทรงมีชาติกำเนิดสูงเป็นพระขนิษฐาในพระจักรพรรดิ แต่เท็นโชอิงก็ยังมีฐานะเป็นพระสัสสุของเจ้าหญิงคาซุ ภายในโอโอกุมีการจัดที่นั่งให้ที่นั่งของเท็นโชอิงอยู่สูงกว่าและใหญ่กว่าพระอาสน์ของเจ้าหญิงคาซุ อีกทั้งเจ้าหญิงคาซุยังทรงยึดมั่นในขนมธรรมเนียมของราชสำนักเมืองเกียวโตแม้ว่าจะทรงอภิเษกเข้ามาในตระกูลของซามูไรแล้วก็ตาม ท้ายที่สุดทั้งเท็นโชอิงและเจ้าหญิงคาซุต่างปรองดองและเคารพซึ่งกันและกัน

ต่อมาในปีค.ศ. 1866 โชกุนโทกูงาวะ อิเอโมจิ ยกทัพของรัฐบาลโชกุนเข้าปราบปรามแคว้นโชชู (จังหวัดยามางูจิในปัจจุบัน) ในระหว่างสงครามโชกุนอิเอโมจิล้มป่วยจนถึงแก่อสัญกรรมที่ปราสาทโอซากะในปีนั้น เจ้าหญิงคาซุโนมิยะทรงปลงพระเกศาบวชเป็นชีได้รับพระนามว่า เซกันอิง (ญี่ปุ่น: 静寛院โรมาจิSeikan-in) ทั้งนางเท็นโชอิงและพระนางเซกันอิงต่างต้องการให้ตำแหน่งโชกุนตกเป็นของโทกูงาวะ คาเมโนซูเกะ (ญี่ปุ่น: 徳川亀之助โรมาจิTokugawa Kamenosuke) ซึ่งมีอายุเพียงสามปีตามคำสั่งเสียของโชกุนอิเอโมจิ แต่รัฐบาลโชกุนมีความเห็นว่าในภาวะวิกฤตการณ์ทางการเมืองไม่ควรที่จะมีโชกุนอายุน้อยเป็นผู้นำ รัฐบาลโชกุนจึงผลักดันให้โทกูงาวะ โยชิโนบุ ขึ้นดำรงตำแหน่งโชกุนเป็นโชกุนคนสุดท้ายของรัฐบาลโชกุนโทกูงาวะ

ในปีต่อมาค.ศ. 1867 โชกุนโยชิโนบุสละตำแหน่งโชกุนล้มเลิกระบอบรัฐบาลโชกุนถวายอำนาจคืนแด่พระจักรพรรดิ หลังจากที่พ่ายแพ้ต่อกองทัพของซัตสึมะและโจชูในการรบที่โทบะ-ฟูชิมิ (Battle of Toba-Fushimi) ในค.ศ. 1868 อดีตโชกุนโยชิโนบุหลบหนีกลับมายังเมืองเอโดะ ไซโง ทากาโมริ (ญี่ปุ่น: 西郷隆盛โรมาจิSaigō Takamori) ยกทัพของซัตสึมะซึ่งอยู่ฝ่ายพระจักรพรรดิเข้าติดตามโยชิโนบุเข้าประชิดเมืองเอโดะ เท็นโชอิงร่วมกับคัตสึ ไคชู (ญี่ปุ่น: 勝海舟โรมาจิKatsu Kaishū) และพระนางเซกันอิงในการเจรจาสงบศึกกับทัพฝ่ายพระจักรพรรดิ โดยเท็นโชอิงเขียนจดหมายไปยังไซโง ทากาโมริ ในฐานะชาวแคว้นซัตสึมะเหมือนกัน ร้องขอให้ระงับการใช้กองกำลังทหารเข้ายึดครองเมืองเอโดะ และยอมจำนนยินยอมที่จะยกปราสาทเอโดะให้แก่ไซโง ทากาโมริแต่โดยดี กองทัพฝ่ายพระจักรพรรดิจึงเข้ายึดปราสาทเอโดะได้อย่างสันติปราศจากการเสียเลือดเนื้อ (ญี่ปุ่น: 無血開城โรมาจิMuketsu kaijō) เท็นโชอิงนำสตรีหลายพันชีวิตภายในโอโอกุออกมาสู่โลกภายนอก เป็นการปิดฉากของโอโอกุซึ่งดำรงอยู่เคียงคู่กับรัฐบาลโชกุนมาเป็นเวลาประมาณสองร้อยห้าสิบปี

บั้นปลายชีวิต

[แก้]

หลังจากออกจากโอโอกุแล้วเท็นโชอิงพำนักอยู่ที่คฤหาสน์ของตระกูลโทกูงาวะที่เซ็นดางายะ (ญี่ปุ่น: 千駄ヶ谷โรมาจิSendagaya) แขวงชิบูยะในปัจจุบัน เท็นโชอิงไม่ได้รับความช่วยเหลือทางการเงินใด ๆ จากแคว้นซัตสึมะและไม่กลับไปที่ซัตสึมะอีกเลยตลอดชีวิต เท็นโชอิงใช้เวลาที่เหลือในบั้นปลายชีวิตดูแลหลานชายบุญธรรมคือโทกูงาวะ คาเมโนซูเกะ ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น โทกูงาวะ อิเอซาโตะ (ญี่ปุ่น: 徳川家達โรมาจิTokugawa Iesato) โทกูงาวะ อิเอซาโตะ ดำรงตำแหน่งเป็นผู้นำตระกูลโทกูงาวะในสมัยเมจิ เป็นผู้นำตระกูลโทกูงาวะลำดับที่ 16 เท็นโชอิงถึงแก่กรรมที่เมืองโตเกียวในค.ศ. 1883 ขณะมีอายุได้ 48 ปี และได้รับการฝังศพไว้ที่วัดคันเอจิ (ญี่ปุ่น: 寛永寺โรมาจิKan'ei-ji) ย่านอูเอโนะในกรุงโตเกียว เคียงข้างกับร่างของโชกุนโทกูงาวะ อิเอซาดะ ผู้เป็นสามี

ภาพยนตร์

[แก้]

เรื่องราวของเธอได้มีการนำไปสร้างเป็นละครโทรทัศน์อิงประวัติศาสตร์เรื่อง "เจ้าหญิงอัตสึ" (篤姫, Atsuhime) โดยบรรษัทการกระจายเสียงและแพร่ภาพแห่งญี่ปุ่น (NHK) ในปี พ.ศ. 2551 โดยอาศัยเค้าโครงจากนิยายอิงชีวประวัติของเธอชื่อ "เท็นโชอิงอัตสึฮิเมะ" (天璋院篤姫, Tenshō-in Atsuhime) ซึ่งประพันธ์โดย โทมิโกะ มิยาโอะ (Tomiko Miyao) เมื่อปี ค.ศ. 1984 (พ.ศ. 2527)

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
pFad - Phonifier reborn

Pfad - The Proxy pFad of © 2024 Garber Painting. All rights reserved.

Note: This service is not intended for secure transactions such as banking, social media, email, or purchasing. Use at your own risk. We assume no liability whatsoever for broken pages.


Alternative Proxies:

Alternative Proxy

pFad Proxy

pFad v3 Proxy

pFad v4 Proxy