เหตุผลวิบัติ
เหตุผลวิบัติ[1] (อังกฤษ: fallacy) หมายถึง การพิสูจน์โดยการอ้างเหตุผลที่มีน้ำหนักอ่อนเพื่อสนับสนุนในข้อสรุป การให้เหตุผลวิบัติมีความแตกต่างจากการให้เหตุผลแบบอื่น ๆ เนื่องจากหลายคนมักจะพบว่าการให้เหตุผลนั้นมีความน่าเชื่อถือในทางจิตวิทยา ซึ่งจะส่งผลให้คนจำนวนมากเกิดความเข้าใจผิดและยกเหตุผลอย่างผิด ๆ โดยใช้เป็นเหตุผลที่จะเชื่อในข้อสรุปนั้น การให้เหตุผลอาจจะกลายเป็น "เหตุผลวิบัติ" ได้ แม้ว่าข้อสรุปนั้นจะเป็นจริงหรือไม่ก็ตาม
เหตุผลวิบัติสามารถจำแนกออกได้ในหลายรูปแบบ ยกตัวอย่างเช่น เหตุผลวิบัติอย่างเป็นทางการ เกิดจากหลักตรรกะที่ไม่ถูกต้อง เหตุผลวิบัติอย่างไม่เป็นทางการ ไม่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาว่าผิดตามหลักตรรกะ และเหตุผลวิบัติเกี่ยวกับถ้อยคำ ซึ่งเกิดจากการใช้ภาษาชักนำให้เกิดความเข้าใจผิด เช่น การพูดกำกวม หรือการพูดมากโดยไม่จำเป็น
เหตุผลวิบัติมักจะมีความเกี่ยวข้องกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมา อันเนื่องมาจากเหตุผลที่ไม่เป็นไปตามหลักตรรกะอย่างถูกต้อง และเหตุผลวิบัติยังเกี่ยวข้องกับการสันนิษฐานด้วย
เหตุผลวิบัติมักจะดูเหมือนกับว่าเป็นสิ่งที่เลวร้ายอย่างเห็นได้ชัด อย่างไรก็ตาม การยกเหตุผลมักจะมีลักษณะรูปแบบการเล่นสำนวนเพื่อให้เกิดความเคลือบแคลงในการยกเหตุผลในทางตรรกะ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นด้วยเจตนาหรือไม่ก็ตาม จะทำให้เหตุผลวิบัติยากที่จะสามารถตรวจจับได้ และส่วนประกอบของเหตุผลวิบัตินั้นก็อาจแพร่ขยายได้อีกเป็นเวลานาน
คำว่า เหตุผลวิบัติ อาจมีการเรียกในชื่ออื่น ๆ อีกเช่น เหตุผลลวง, ทุตรรกบท, ตรรกะวิบัติ, ปฤจฉวาที, มิจฉาทิฐิ, ความผิดพลาดเชิงตรรกะ, การอ้างเหตุผลบกพร่อง ฯลฯ เป็นต้น
เหตุผลวิบัติเชิงสาระ
[แก้]การจำแนก เหตุผลวิบัติเชิงสาระ นี้ใช้พื้นฐานจากงานเขียนเกี่ยวกับตรรกศาสตร์ ออร์กานอน (Organon) ในส่วน โซฟิสติคัลเรฟิวเทชันส์ (Sophistical Refutations) ของอาริสโตเติล
การละทิ้งข้อยกเว้น
[แก้]การละทิ้งข้อยกเว้น (อังกฤษ: accident; ละติน: a dicto simpliciter ad dictum secundum quid) คือการวางนัยทั่วไปโดยไม่คำนึงถึงข้อยกเว้น ตัวอย่างเช่น
- การกล่าวอ้าง: การใช้ปืนยิงบุคคลคืออาชญากรรม ตำรวจใช้ปืนยิงโจรผู้ร้าย ดังนั้นตำรวจก็เป็นอาชญากร
- ปัญหาที่เกิด: การใช้ปืนยิงบุคคลไม่ใช่อาชญากรรมในสถานการณ์จำเพาะ เช่น สถานการณ์ป้องกันตัว หรือคุ้มครองผู้ที่ร้องขอการคุ้มครองตามกฎหมาย
- การกล่าวอ้าง: การบุกรุกเข้าบ้านของคนอื่นนั้นผิดกฎหมาย นักดับเพลิงเข้าบ้านของคนอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต ดังนั้นนักดับเพลิงจึงกำลังทำผิดกฎหมาย
- ปัญหาที่เกิด: การปฏิบัติหน้าที่ของนักดับเพลิงไม่ได้ผิดกฎหมาย เพราะกฎหมายถือว่านักดับเพลิงมีหน้าที่ช่วยเหลือชีวิตของชาวบ้านในยามที่เกิดอัคคีภัยในอาคารและสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ จึงต้องให้นักดับเพลิงเข้าไปในบ้านคนอื่นได้
การสรุปเหมารวม
[แก้]การสรุปเหมารวม (อังกฤษ: converse accident; ละติน: a dicto secundum quid ad dictum simpliciter) คือการยกกรณีจำเพาะต่าง ๆ รวมเข้าเป็นกรณีทั่วไป ตัวอย่างเช่น
- การกล่าวอ้าง: ทุกคนที่ฉันเคยพบมีนิ้วมือสิบนิ้ว ดังนั้นทุกคนในโลกล้วนมีนิ้วมือสิบนิ้ว
- ปัญหาที่เกิด: เซตย่อยคนที่เคยพบไม่สามารถเป็นตัวแทนของทั้งเซต บางคนอาจจะมีน้อยหรือมากกว่าสิบนิ้ว การแก้ปัญหานี้ทำได้โดยการเติมคำว่า ส่วนใหญ่ ลงไป
- การกล่าวอ้าง: คนไทยเก่งภาษาอังกฤษ ดังจะเห็นได้จากคนกรุงเทพที่พูดภาษาอังกฤษได้ดี
- ปัญหาที่เกิด: คนกรุงเทพไม่ได้เป็นตัวแทนคนไทยทั้งหมดในเรื่องความเก่งภาษาอังกฤษ
การสรุปนอกประเด็น
[แก้]การสรุปนอกประเด็น (อังกฤษ: irrelevant conclusion; ละติน: ignoratio elenchi) คือการหันเหความสนใจออกจากข้อเท็จจริงในการโต้แย้ง มากกว่าที่จะจัดการกับปัญหาโดยตรง ตัวอย่างเช่น
- การกล่าวอ้าง: สมชายเชื่อว่าหมูสามารถบินได้ ดังนั้นหมูจึงบินได้
- ปัญหาที่เกิด: สมชายผู้ซึ่งเป็นบุคคลต้นแบบอาจคิดผิด และผู้พูดประโยคนี้ไม่ได้ให้เหตุผลว่าหมูบินได้อย่างไร (กรณีนี้คือ การอ้างปฐมาจารย์)
กรณีพิเศษของการสรุปนอกประเด็นมีดังนี้
- การโจมตีตัวบุคคล (appeal to the person; argumentum ad hominem) คือการโจมตีที่ผู้ตั้งหรือผู้กล่าวประเด็นถกเถียง โดยไม่สนใจเนื้อหาของประเด็นนั้น ๆ เช่น
- นาย ก: การดื่มสุราแล้วขับรถจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุในการขับขี่มากขึ้น ผมจึงรณรงค์ให้เมาไม่ขับ
- นาย ข: แต่เมื่อวานซืน คุณก็ถูกตำรวจจับเพราะเมาแล้วขับนี่
- ปัญหาที่เกิด: พฤติกรรมของเจ้าของประเด็นไม่มีผลต่อเนื้อหาของประเด็นนั้น ๆ ในทุกกรณี
- การอ้างคนหมู่มาก (appeal to the majority; argumentum ad populum) คือการใช้ความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่ยืนยันความถูกต้องของประเด็นต่างๆ
- การกล่าวอ้าง: การลอกการบ้านไม่ผิด ใครๆก็ทำกันทั้งนั้น
- ปัญหาที่เกิด: ความคิดเห็นหรือการกระทำของคนส่วนใหญ่อาจเป็นการกระทำที่ผิดได้ เนื่องจากการวัดว่าอะไรถูกและผิดใช้การคำนวณว่า การกระทำนั้น ๆ ส่งผลดีและผลร้ายต่อตัวเองหรือผู้อื่นอย่างไร
- การอ้างความภักดี (appeal to loyalty) เกิดขึ้นเมื่อมีการโต้แย้งโดยอ้างความจงรักภักดีบางประเภทซึ่งเป็นคนละเรื่องกับประเด็นที่อภิปราย
- ตัวอย่าง
- ก กล่าวว่า 123
- ข สงสัยในคำกล่าวนั้น
- ใครก็ตามที่สงสัย ก ถือว่าไม่จงรักภักดี
- ฉะนั้น ข ผิด
- ปัญหา คือ ไม่ว่า ข จะจงรักภักดีหรือไม่ ก็ไม่ได้หมายความว่า ข ผิด หรือ ก ถูกเสมอไป
- การอ้างอำนาจ (appeal to force; argumentum ad baculum) เป็นการใช้อำนาจหรือกำลังที่มีอยู่ ข่มขู่คุกคามให้ประเด็นดังกล่าวอ่อนลงไป เช่น
- นาย ก: ผมว่าเจ้านายควรจะจ่ายโบนัสให้เขานะครับ เขาต้องเลี้ยงดูลูกน้อยที่แบเบาะ
- นาย ข: ผมไม่จ่ายโบนัสให้เขาหรอก แล้วถ้าคุณขออีก ผมจะไล่คุณออก
- ปัญหาที่เกิด: การประทุษร้ายไม่มีผลกับตัวประเด็นในทุกกรณี เนื่องจากมันไม่ใช่เหตุผล
- การอ้างปฐมาจารย์ (appeal to authority; argumentum ad verecundiam) เชื่อถือมิได้เสมอไป เนื่องจากบางเรื่องตัวอาจารย์เองก็อาจมีความลำเอียงหรืออคติเข้าข้างสิ่งหรือคนที่อาจารย์เองนับถีอหรือเชื่อถืออยู่ก็ได้ ซึ่งถือว่าเป็นความคิดเห็นเฉพาะบุคคลและมิอาจจะนับได้ว่าจริงหรือถูกต้องตามหลักเหตุผล เช่นเรื่องเกี่ยวกับความเชื่อทางศาสนาต่าง ๆ อันมิสามารถพิสูจน์หรือยืนยันด้วยหลักฐานใด ๆ ที่เป็นรูปธรรมได้ (คนจะสร้างเสริมเติมแต่งศาสนาลัทธิอย่างไรก็ได้)
- การขอความเห็นใจ (appeal to pity; argumentum ad misericordiam) คือการสร้างความรู้สึกเห็นอกเห็นใจเพื่อสนับสนุนประเด็นของตัวเอง เช่น
- การกล่าวอ้าง: ที่นาย ข ค้ายาเสพติดเพราะเขาต้องการเงินจำนวนมากเพื่อรักษาพ่อแม่ของเขา การที่ตำรวจจับเขาติดคุกเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง
- ปัญหาที่เกิด: การค้ายาเสพติดสร้างความเสียหายแก่สังคมในวงกว้าง ดังนั้นไม่ว่านาย ข จะมีแรงจูงใจอะไร ก็ไม่สามารถใช้เพื่อยืนยันความถูกต้องในการค้ายาเสพติดของเขา
- การอ้างความไม่รู้ (appeal to ignorance; argumentum ad ignorantiam) คือการด่วนสรุปประเด็นเพราะยังไม่มีหลักฐานหรือพยานยืนยัน เช่น
- การกล่าวอ้าง: เพราะไม่มีหลักฐานยืนยันว่าการสะกดจิตเป็นความจริง ดังนั้นการสะกดจิตเป็นสิ่งที่ไม่จริง
- ปัญหาที่เกิด: เมื่อยังไม่สามารถหาหลักฐานหรือพยานได้ จึงยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าการสะกดจิตมีจริงหรือไม่
- เหตุผลวิบัติสืบทอด (genetic fallacy)
การยืนยันผลและการปฏิเสธเหตุ
[แก้]การยืนยันผล (อังกฤษ: affirming the consequent) และการปฏิเสธเหตุ (อังกฤษ: denying the antecedent) คือการสรุปสมมติฐานโดยปราศจากเงื่อนไขสำคัญหรือเพียงพอมารองรับ ตัวอย่างเช่น
- การยืนยันผล
- การกล่าวอ้าง: คนที่เป็นหวัดมักจะไอ สมพงษ์กำลังไอ ดังนั้นเขาจึงเป็นหวัด
- ปัญหาที่เกิด: อาการอื่นเช่นโรคหืดก็สามารถทำให้เกิดการไอได้ มิได้หมายความว่าคนที่ไอต้องเป็นหวัดเสมอไป
- การกล่าวอ้าง: ถ้าฝนตกแล้วพื้นจะเปียก ตอนนี้พื้นเปียก แสดงว่าฝนเพิ่งตกไม่นานมานี้
- ปัญหาที่เกิด: มีกรณีอื่นอีกมากที่สามารถทำให้พื้นเปียกได้โดยฝนไม่ตก เช่น การสาดน้ำ เป็นต้น
- การปฏิเสธเหตุ
- การกล่าวอ้าง: ถ้าฝนกำลังตก ท้องฟ้าจะมีเมฆมาก ขณะนี้ฝนไม่ตก ดังนั้นท้องฟ้าจึงไม่มีเมฆ
- ปัญหาที่เกิด: ฝนตกเป็นเงื่อนไขเพียงพอของการมีเมฆบนท้องฟ้ามาก แต่มิได้หมายความว่าฝนไม่ตก แล้วท้องฟ้าจะไม่มีเมฆ
การทวนคำถาม
[แก้]การทวนคำถาม (อังกฤษ: begging the question; ละติน: petitio principii) คือการสรุปโดยใช้ใจความของสมมติฐานมาเป็นคำตอบ ตัวอย่างเช่น
- การกล่าวอ้าง: ผู้ใช้แอสไพรินมีความเสี่ยงต่อการติดยา เพราะว่าแอสไพรินเป็นสารเสพติดชนิดหนึ่ง
- ปัญหาที่เกิด: สมมติฐานและข้อสรุปมีใจความอย่างเดียวกัน และข้อสรุปก็ไม่ได้ช่วยพิสูจน์สมมติฐาน ถ้ายอมรับสมมติฐานอยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องให้เหตุผลเพื่อที่จะสรุปดังกล่าว
เหตุผลวิบัติหนึ่งที่เกี่ยวข้องคือ การให้เหตุผลวนเวียน (อังกฤษ: circular reasoning; ละติน: circulus in probando) คือข้อสรุปสองอย่างหรือมากกว่าที่ถูกใช้เป็นสมมติฐานรองรับซึ่งกันและกัน แต่ถ้าเกิดข้อใดข้อหนึ่งไม่เป็นจริง ข้อสรุปทั้งหมดจะกลายเป็นเท็จไปด้วย
การยกเหตุผลผิด
[แก้]การยกเหตุผลผิด (อังกฤษ: false cause; ละติน: non sequitur) คือการสมมติอย่างผิด ๆ ว่าสิ่งหนึ่งทำให้เกิดสิ่งอื่น ตัวอย่างเช่น
- การกล่าวอ้าง: ฉันได้ยินเสียงฝนตกข้างนอก แสดงว่าไม่มีแสงแดดส่อง
- ปัญหาที่เกิด: การสรุปนี้ผิดเพราะแสงแดดสามารถส่องได้ยามฝนตก (ดูที่ ฝนตกแดดออก)
กรณีพิเศษของการยกเหตุผลผิดมีดังนี้
- เกิดหลังสิ่งนี้ จึงเป็นเพราะสิ่งนี้ (ละติน: post hoc ergo propter hoc) คือการเชื่อว่าเหตุการณ์ก่อนหน้าทำให้เกิดเหตุการณ์ภายหลัง เช่น
- การกล่าวอ้าง: ฝนตกแล้วรถก็เสีย ดังนั้นฝนตกทำให้รถเสีย
- ปัญหาที่เกิด: ไม่มีความเชื่อมโยงระหว่างสองเหตุการณ์ เหตุการณ์ทั้งสองที่เกิดร่วมกัน ไม่ได้เป็นเหตุผลซึ่งกันและกัน
- เกิดพร้อมสิ่งนี้ จึงเป็นเพราะสิ่งนี้ (ละติน: cum hoc ergo propter hoc) คือการเชื่อว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นพร้อมกันหรือในช่วงเวลาเดียวกัน เหตุการณ์หนึ่งทำให้เกิดอีกเหตุการณ์หนึ่ง
- การกล่าวอ้าง: วัวตายเป็นจำนวนมากในฤดูร้อน และไอศกรีมก็นิยมบริโภคมากในฤดูร้อน ดังนั้นการบริโภคไอศกรีมในฤดูร้อนเป็นการฆ่าวัว
- ปัญหาที่เกิด: ไม่มีสมมติฐานที่บอกว่าการบริโภคไอศกรีมทำให้วัวตาย การตายและการบริโภคอาจไม่เกี่ยวข้องกัน หรือมีสาเหตุอย่างอื่นที่ทำให้เกิดเงื่อนไขทั้งสองนี้ เช่นอากาศร้อน
การสรุปว่าบุคคลที่ครอบครองที่นาต้องเป็นชาวนาเท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริงใครก็มีสิทธิเป็นเจ้าของที่นาได้โดยมิจำเป็นต้องเป็นชาวนา อีกทั้งผู้พูดเองก็มิเคยเห็นเจ้าของที่นาคนนั้นไปทำนาเลยสักครั้ง ดังนั้นการจะสรุปตามอคติไปเองตามความเชื่ออันเลื่อยลอยปราศจากเหตุผลมารองรับนับเป็นตรรกะวิบัติ ซึ่งทำลายความน่าเชื่อถือของผู้ด่วนสรุปเอาเอง
การตั้งประเด็นซ้อน
[แก้]การตั้งประเด็นซ้อน (อังกฤษ: complex question; ละติน: plurium interrogationum) คือการตั้งประเด็นคำถามหลายอย่างลงในคำถามเดียว ซึ่งลวงให้ผู้ตอบตอบอย่างไม่ระมัดระวัง ตัวอย่างเช่น
- การกล่าวอ้าง: คุณเลิกทำร้ายภรรยาของคุณหรือยัง
- ปัญหาที่เกิด: ไม่ว่าผู้ตอบจะตอบว่าใช่หรือไม่ใช่ ก็จะนำไปสู่การยอมรับผิดว่าเคยทำร้ายภรรยาเหมือนกัน การตอบอย่างไม่หลงกลอาจตอบว่า ผมไม่เคยทำร้ายภรรยา
- การกล่าวอ้าง: เธอยังลอกข้อสอบอยู่ใช่ไหม
- ปัญหาที่เกิด: ไม่ว่าผู้ตอบจะตอบว่าใช่หรือไม่ใช่ ก็จะนำไปสู่การยอมรับผิดว่าเคยลอกข้อสอบ การตอบอย่างไม่หลงกลอาจตอบว่า ผมไม่เคยลอกข้อสอบ
การทับถมจุดอ่อน
[แก้]การทับถมจุดอ่อน (อังกฤษ: straw man) คือการเบี่ยงประเด็นแนวคิดของคู่กรณีไปสู่การโต้แย้งที่ง่ายกว่า (มีจุดอ่อนมากกว่า)[2] ตัวอย่างเช่น
- นาย ก: วันที่มีแดดจัดนั้นเป็นเรื่องดี
- นาย ข: ถ้าทุกวันมีแดดจัด เราก็จะไม่มีฝน และเมื่อเราไม่มีฝน เราก็จะไม่มีน้ำ สิ่งมีชีวิตก็จะตาย ดังนั้นสิ่งที่คุณคิดจึงผิด
- ปัญหาที่เกิด: นาย ข ได้เบี่ยงประเด็นแนวคิดของนาย ก โดยการทับถมแนวคิดอื่นจนสุดโต่ง ซึ่งนาย ก ไม่ได้มีแนวคิดว่า ทุกวันมีแดดจัดเป็นเรื่องดี
เหตุผลวิบัติเชิงวาจา
[แก้]เหตุผลวิบัติเชิงวาจา มักจะเป็นการสรุปที่ใช้คำศัพท์ต่าง ๆ ไม่สมบูรณ์หรือกำกวม ทำให้เข้าใจความหมายผิดไปหรือไม่กระจ่างชัด
ความเคลือบคลุม
[แก้]ความเคลือบคลุม (อังกฤษ: equivocation) คือการใช้คำเดียวกันที่สื่อถึงความหมายต่างกันสองอย่างหรือมากกว่าในตรรกบท ตัวอย่างเช่น
- การกล่าวอ้าง: หินทุกก้อนมักจะแข็ง สมใจเป็นคนใจหิน ดังนั้นสมใจก็เป็นคนใจแข็งด้วย
- ปัญหาที่เกิด: คำว่า ใจหิน กับ ใจแข็ง มีความหมายในทางอื่น
การตีความหลายนัย
[แก้]การตีความหลายนัย (อังกฤษ: amphibology, amphiboly) คือผลจากประโยคที่มีโครงสร้างไวยากรณ์กำกวม ทำให้เกิดการตีความได้มากกว่าหนึ่งอย่าง ตัวอย่างเช่น
- การกล่าวอ้าง: เยาวชนไม่ควรออกจากบ้านหลังสี่ทุ่ม เพราะอาจทำให้เกิดอันตราย
- ปัญหาที่เกิด: ประโยคนี้ทำให้ตีความได้หลายอย่าง เช่น เยาวชนสามารถออกจากบ้านก่อนสี่ทุ่ม, เยาวชนอาจได้รับอันตราย, เยาวชนอาจก่อความอันตราย
การลงน้ำหนัก
[แก้]การลงน้ำหนัก (อังกฤษ: accent) คือการเน้นคำบางคำในประโยค มักปรากฏในการพูด อาจทำให้กลายเป็นการยกย่องหรือการดูถูกก็ได้ ตัวอย่างเช่น
- ประโยค: เขาเป็นนักเปียโนที่ดีพอประมาณคนหนึ่ง
- "เขา" เป็นนักเปียโนที่ดีพอประมาณคนหนึ่ง เป็นการเน้นเขาเพื่อเปรียบเทียบกับคนอื่น ๆ
- เขา "เป็น" นักเปียโนที่ดีพอประมาณคนหนึ่ง เป็นการยืนยันว่าเขาเป็นเช่นนั้น
- เขาเป็น "นักเปียโน" ที่ดีพอประมาณคนหนึ่ง เป็นการยกความโดดเด่นในการเล่นเปียโนมากกว่าเครื่องดนตรีชนิดอื่น
- เขาเป็นนักเปียโน "ที่ดี" พอประมาณคนหนึ่ง เป็นการยืนยันว่าเขาเล่นดี หรือถึงขั้นประทับใจ
- เขาเป็นนักเปียโนที่ดี "พอประมาณ" คนหนึ่ง เป็นการยืนยันว่าเล่นได้พอประมาณ ยังต้องฝึกฝนขึ้นไปอีก
- เขาเป็นนักเปียโนที่ดีพอประมาณ "คนหนึ่ง" เป็นการเน้นว่าเขาเป็นแค่คนหนึ่ง ยังมีคนอื่นอีกมาก
การใช้คำฟุ่มเฟือย
[แก้]การใช้คำฟุ่มเฟือย (อังกฤษ: proof by verbosity; ละติน: argumentum verbosum) คือการพยายามโน้มน้าวให้มีความรู้สึกท่วมท้นยากจะปฏิเสธในการกล่าวอ้าง ทำให้การกล่าวอ้างมีความรู้สึกน่าจะมีเหตุผล ซึ่งอาจดูผิวเผินว่าเหมือนวิจัยค้นคว้ามาเป็นอย่างดีและใช้ความอุตสาหะอย่างมากเพื่อคลายปัญหาและตรวจสอบข้อเท็จจริงที่รองรับ ปกติมักใช้คำศัพท์เฉพาะทางจำนวนมากและดึงดูดความสนใจไปยังผลลัพธ์ที่เคลือบคลุม เพื่อให้ผู้ฟังยอมรับการกล่าวอ้างของผู้พูด
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ ศัพท์บัญญัติ ราชบัณฑิตยสถาน เก็บถาวร 2015-04-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (สืบค้นออนไลน์)
- ↑ Douglas Walton, Relevance in Argumentation (Taylor & Francis e-Library, 2009), p. 20
- อาริสโตเติล, On Sophistical Refutations เก็บถาวร 2006-10-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, De Sophistici Elenchi.
- หน่วยที่ 2 ตรรกศาสตร์และการใช้เหตุผล เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- Fallacy files contains categorization of fallacies with examples.
- 42 informal logical fallacies explained by Dr. Michael C. Labossiere (including examples)
- Humbug! The skeptic’s field guide to spotting fallacies in thinking – textbook on fallacies
- List of fallacies with clear examples
- Logical Fallacies and the Art of Debate
- Logical Fallacies.Info
- An Informal Fallacy Primer เก็บถาวร 2011-07-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Stephen Downes Guide to the Logical Fallacies เก็บถาวร 2006-10-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- BadArguments.org