จักรพรรดิวิลเฮ็ล์มที่ 2 แห่งเยอรมนี

จักรพรรดิเยอรมันและพระมหากษัตริย์ปรัสเซีย ครองราชย์ตั้งแต่ ค.ศ. 1888 ถึง 1918

จักรพรรดิวิลเฮ็ล์มที่ 2 (เยอรมัน: Wilhelm II) หรือพระนามเต็มคือ ฟรีดริช วิลเฮ็ล์ม วิคทอร์ อัลแบร์ท แห่งปรัสเซีย (เยอรมัน: Friedrich Wilhelm Viktor Albert von Preußen) ทรงเป็นจักรพรรดิเยอรมัน (ไคเซอร์) และกษัตริย์แห่งปรัสเซียองค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์โฮเอินท์ซ็อลเลิร์น ครองราชสมบัติในปี 1888 จนถูกประกาศให้สละราชสมบัติในปี 1918 จากความปราชัยในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

วิลเฮ็ล์มที่ 2
จักรพรรดิเยอรมัน
พระมหากษัตริย์แห่งปรัสเซีย
ครองราชย์15 มิถุนายน 1888 – 9 พฤศจิกายน 1918
ก่อนหน้าฟรีดริชที่ 3
ถัดไปไม่มี; ระบอบจักรพรรดิล่มสลาย
พระราชสมภพ27 มกราคม ค.ศ. 1859(1859-01-27)
วังมกุฎราชกุมาร กรุงเบอร์ลิน
ราชอาณาจักรปรัสเซีย
สวรรคต4 มิถุนายน ค.ศ. 1941(1941-06-04) (82 ปี)
ตำหนักโดร์น เมืองโดร์น
ไรชส์ค็อมมิสซารีอาทนีเดอร์ลันด์
ฝังพระศพ9 มิถุนายน ค.ศ. 1941
ตำหนักโดร์น เมืองโดร์น
คู่อภิเษกเอากุสเทอ วิคโทรีอา แห่งชเลสวิช-ฮ็อลชไตน์-ซ็อนเดอร์บวร์ค-เอากุสเทินบวร์ค
(อภิเษก 1881, สวรรคต 1921)
ชายาเออร์มิน ร็อยส์แห่งเกรซ
พระราชบุตร
พระนามเต็ม
ฟรีดริช วิลเฮ็ล์ม วิคทอร์ อัลแบร์ท
ราชวงศ์โฮเอินท์ซ็อลเลิร์น
พระราชบิดาฟรีดริชที่ 3
พระราชมารดาเจ้าหญิงวิกตอเรีย พระราชกุมารี
ศาสนานิกายลูเทอแรน
ลายพระอภิไธย

จักรพรรดิวิลเฮ็ล์มที่ 2 มีศักดิ์เป็นพระราชนัดดาองค์ใหญ่ในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร ด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงมีลูกพี่ลูกน้องหลายองค์ที่เป็นกษัตริย์และราชินีในหลายประเทศ วิลเฮ็ล์มใช้ชีวิตส่วนใหญ่ก่อนเป็นจักรพรรดิอยู่ในตำแหน่งรัชทายาทลำดับที่สอง จนกระทั่งในปี 1888 สมเด็จปู่อย่างไคเซอร์วิลเฮ็ล์มที่ 1 เสด็จสวรรคต ส่วนสมเด็จพ่ออย่างไคเซอร์ฟรีดริชที่ 3 ครองราชย์ต่อได้เพียงเก้าสิบวันก็สวรรคต ส่งผลให้ในปีดังกล่าว วิลเฮ็ล์มได้ขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรรดิเยอรมันและกษัตริย์แห่งปรัสเซีย ซึ่งหลังขึ้นครองราชย์ไม่ถึงสองปี พระองค์ก็ทรงปลดนายกรัฐมนตรีและรัฐบุรุษผู้สร้างจักรวรรดิอย่างอ็อทโท ฟ็อน บิสมาร์ค

ภายหลังจากปลดบิสมาร์ค ไคเซอร์วิลเฮ็ล์มที่ 2 เข้าควบคุมนโยบายชาติโดยตรง และริเริ่มโครงการ "เส้นทางใหม่" ที่ดูก้าวร้าวเพื่อประสานสถานะในฐานะมหาอำนาจของโลกที่ได้รับการยอมรับนับถือ ต่อมาในช่วงรัชสมัยของพระองค์ เยอรมนีได้ครอบครองดินแดนในจีนและแปซิฟิก (เช่นอ่าวเจียวโจว หมู่เกาะนอร์เทิร์นมาเรียนา และหมู่เกาะแคโรไลน์) และกลายเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดของยุโรป อย่างไรก็ตาม พระองค์ทรงมักจะทำลายความก้าวหน้าดังกล่าวโดยการกล่าวข่มขู่ต่อประเทศอื่น ๆ และแสดงความคิดเห็นต่อมุมมองของพวกหวาดกลัวชาวต่างชาติโดยไม่ปรึกษารัฐมนตรีของพระองค์ ในทำนองเดียวกัน ระบอบการปกครองของพระองค์ได้สร้างความแปลกแยกจากชาติมหาอำนาจอื่น ๆ ของโลก โดยการริเริ่มสร้างกองทัพเรือขนาดใหญ่ ท้าทายการควบคุมโมร็อกโกของฝรั่งเศส และการสร้างสายรถไฟผ่านแบกแดด ซึ่งเป็นการคุกคามต่อการปกครองของบริติชในอ่าวเปอร์เซีย ดังนั้น ในสองทศวรรษของศตวรรษที่ 20 เยอรมนีสามารถพึ่งพาประเทศที่อ่อนแอกว่าอย่างออสเตรีย-ฮังการี และจักรวรรดิออตโตมันที่กำลังเสื่อมถอยในฐานะพันธมิตร

ถึงแม้ไคเซอร์วิลเฮ็ล์มที่ 2 ทรงเพิ่มความแข็งแกร่งให้เยอรมนีในฐานะมหาอำนาจด้วยการสร้างกองทัพเรือน้ำลึก และส่งเสริมนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์ แต่พระองค์มักมีแถลงการณ์อย่างไม่รอบคอบ และดำเนินนโยบายต่างประกาศอย่างเอาแน่เอานอนไม่ได้ ทำให้นานาประเทศเริ่มมองพระองค์เป็นศัตรู หลายคนมองว่านโยบายการต่างประเทศของพระองค์ เป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่การล่มสลายของจักรวรรดิเยอรมัน อย่างในปี 1914 เยอรมนีให้การรับประการว่าจะสนับสนุนทางทหารต่อจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีในช่วงวิกฤตการณ์เดือนกรกฎาคม ซึ่งผลักให้ยุโรปเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง อย่างไรก็ตาม พระองค์ไม่ใช่ผู้มีความเด็ดเดี่ยวแน่วแน่เหมาะสมที่จะเป็นผู้นำในยามสงคราม พระองค์ยกให้กิจการการทหารและการสงครามทั้งหมด อยู่ในการตัดสินใจของคณะเสนาธิการใหญ่ การมอบหมายอำนาจอย่างกว้างขวางนี้ส่งผลให้เกิดระบอบเผด็จการทหารโดยพฤตินัยซึ่งครอบงำนโยบายระดับชาติในช่วงที่เหลือของสงคราม แม้ว่าเยอรมนีได้รับชัยชนะเหนือรัสเซียและได้รับดินแดนพอสมควรในยุโรปตะวันออก แต่เยอรมนีก็ถูกบังคับให้สละดินแดนที่ได้มาทั้งหมดหลังความปราชัยย่อยยับในแนวรบด้านตะวันตกในฤดูใบไม้ร่วงปี 1918

พระองค์สูญเสียแรงสนับสนุนทั้งจากกองทัพและราษฎร นายกรัฐมนตรีมัคซีมีลีอาน ฟอน บาเดิน โน้มน้าวให้พระองค์สละราชสมบัติ แต่พระองค์บ่ายเบี่ยง จนกระทั่งในเดือนพฤศจิกายน 1918 ก็เกิดการปฏิวัติเยอรมัน ส่งผลให้นายกรัฐมนตรีออกประกาศการสละราชสมบัติโดยไม่รอการลงพระนาม พระองค์จึงเสด็จลี้ภัยสู่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งพระองค์ทรงประทับอยู่ที่นั้นในช่วงที่ถูกยึดครองโดยนาซีเยอรมันในปี 1940 ก่อนที่จะสิ้นพระชนม์ในปี 1941

พระราชประวัติ

แก้

ไคเซอร์วิลเฮ็ล์มที่ 2 เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 27 มกราคม 1859 ที่วังมกุฎราชกุมาร (Kronprinzenpalais) ในกรุงเบอร์ลิน ราชอาณาจักรปรัสเซีย พระองค์ประสูติแด่เจ้าหญิงวิกตอเรีย พระราชกุมารี พระชายาในเจ้าชายฟรีดริช วิลเฮ็ล์ม แห่งปรัสเซีย (จักรพรรดิฟรีดริชที่ 3 ในกาลต่อมา) พระมารดาเป็นธิดาองค์ใหญ่ในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร พระองค์จึงถือเป็นพระราชนัดดาองค์แรกของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย และมีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้องกับพระเจ้าจอร์จที่ 5 แห่งสหราชอาณาจักร และซาร์นิโคไลที่ 2 แห่งรัสเซีย

การเสด็จพระราชสมภพด้วยการคลอดท่าก้นทำให้พระองค์มีพระอาการอัมพาตเอิร์บ ซึ่งส่งผลให้แขนซ้ายของพระองค์สั้นกว่าแขนขวาราว 15 เซนติเมตร เพื่อพยายามปกปิดความผิดปกตินี้ พระองค์มักจะทรงถือถุงมือไว้ที่มือซ้ายเสมอเพื่อทำให้แขนซ้ายดูยาวขึ้น บ้างก็ใช้มือซ้ายสอดไว้ที่ด้ามกระบี่ บ้างอาศัยการถือพระคฑา

ยามที่พระองค์ประสูติตรงกับรัชสมัยของพระเจ้าฟรีดริช วิลเฮ็ล์มที่ 4 แห่งปรัสเซีย ซึ่งยังไม่มีการสถาปนาจักรวรรดิเยอรมัน ขณะนั้น เสด็จปู่ของพระองค์มีตำแหน่งเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินปรัสเซีย เมื่อพระเจ้าฟรีดริช วิลเฮ็ล์มที่ 4 เสด็จสวรรคตในปี 1861 พระราชอัยกาของพระองค์ก็เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าวิลเฮ็ล์มที่ 1 แห่งปรัสเซีย ส่วนพระบิดาก็ได้รับการสถาปนาเป็นมกุฎราชกุมารแห่งปรัสเซีย ทำให้ตัวพระองค์กลายเป็นรัชทายาทลำดับสองของปรัสเซีย

พระเจ้าวิลเฮล์มที่ 1 ผู้เป็นเสด็จปู่ของพระองค์ปกครองปรัสเซียจนได้รับชัยชนะในสงครามหลายครั้งจนสามารถรวมชาติเยอรมันให้เป็นปึกแผ่น และสถาปนาจักรวรรดิเยอรมันขึ้นในปี 1871 พร้อมทั้งปราบดาภิเษกตนเป็นจักรพรรดิเยอรมัน ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของเสด็จปู่ซึ่งนำพาเยอรมนีขึ้นเป็นมหาอำนาจ ได้ปลูกฝังความนิยมทหารและเป็นแรงบันดาลใจให้เจ้าชายตัวน้อย

สมัยต้นพระชนม์

แก้
 
วิลเฮ็ล์มในวันแปดขวบ

ในปี 1863 เจ้าชายวิลเฮ็ล์มในวัยสี่ขวบถูกนำตัวไปอังกฤษเพื่อเข้าร่วมงานสมรสของเสด็จน้าเบอร์ตี้ (ต่อมาคือพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7) กับเจ้าหญิงอเล็กซานดราแห่งเดนมาร์ก ซึ่งในงานพิธี เจ้าชายวิลเฮ็ล์มชอบส่งเสียงดังอยู่เสมอ จนเสด็จน้าอย่างเจ้าชายอัลเฟรดวัยสิบแปดปี ต้องควบคุมเขาและบอกให้เขาเงียบ แต่วิลเฮ็ล์มกลับคว้ามีดสั้นประจำเครื่องแบบมาข่มขู่เจ้าชายอัลเฟรด เจ้าชายอัลเฟรดจึงใช้กำลังเข้าห้ามปราม วิลเฮ็ล์มจึงกัดเข้าที่ขาของอัลเฟรด

การที่วิลเฮ็ล์มเกิดมาแขนซ้ายสั้น ทำให้พระมารดากล่าวโทษองค์เองอยู่เสมอ เนื่องจากคิดว่าวิลเฮ็ล์มอาจจะไม่สามารถขี่ม้าอันเป็นหนึ่งในทักษะที่ควรมีของเจ้าชายทุกพระองค์ วิลเฮ็ล์มเริ่มเรียนขี่ม้าขณะมีอายุแปดขวบ ซึ่งเป็นวิชาที่ยากลำบากและต้องใช้ความอุตสาหะอย่างยิ่งสำหรับเขา วิลเฮ็ล์มร้องไห้ซ้ำแล้วซ้ำอีกขณะอยู่บนหลังม้าและบังคับให้ม้าเดิน เจ้าชายน้อยตกม้าหลายครั้งแต่ก็ปีนกลับขึ้นไปอยู่บนหลังม้าทุกครั้ง หลังร่ำเรียนอยู่หลายสัปดาห์ ในที่สุด วิลเฮ็ล์มก็สามารถนั่งบังคับม้าอย่างสมดุล[1]

ในช่วงวัยรุ่น เจ้าชายวิลเฮ็ล์มได้รับการศึกษาที่เมืองคัสเซิล พระองค์สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายในต้นปี 1877 และได้รับประทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์การ์เทอร์เป็นของขวัญวันเกิดครบรอบสิบแปดปีจากเสด็จยายอย่างสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย หลังเรียนจบจากคัสเซิล เจ้าชายวิลเฮ็ล์มเข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยบ็อนในสาขานิติศาสตร์และการเมือง เจ้าชายวิลเฮ็ล์มเป็นคนที่เรียนรู้เร็ว แต่ชอบแสดงพระอารมณ์ร้าย

ด้วยเหตุที่เจ้าชายวิลเฮ็ล์มมีเชื้อสายราชวงศ์โฮเอินท์ซ็อลเลิร์น พระองค์จึงคลุกคลีอยู่ในแวดวงนายทหารชนชั้นสูงของปรัสเซียตั้งแต่สมัยเด็ก ซึ่งปลูกฝังค่านิยมแบบทหารให้แก่พระองค์ พระองค์มักจะสวมใส่เครื่องแบบทหารอยู่เสมอในทุกโอกาสที่เป็นไปได้

พระราชโอรส-ธิดา

แก้

พระราชโอรส-ธิดาทั้งหมด ประสูติแด่พระมเหสีพระองค์แรก ท่านหญิงเอากุสเทอ วิคโทรีอา แห่งชเลสวิช-ฮ็อลชไตน์-ซ็อนเดอร์บวร์ค-เอากุสเทินบวร์ค

พระนาม ประสูติ สิ้นพระชนม์ คู่สมรส พระบุตร
มกุฎราชกุมารวิลเฮ็ล์ม 6 พฤษภาคม 1882 20 กรกฎาคม 1951 ดัชเชสเซทซีเลียแห่งเมคเลินบวร์ค-ชเวรีน 6 พระองค์
เจ้าชายไอเทิล ฟรีดริช 7 กรกฎาคม 1883 8 ธันวาคม 1942 ดัชเชสโซฟีอา ชาร์ล็อทเทอ แห่งอ็อลเดินบวร์ค
เจ้าชายอาดัลแบร์ท 14 กรกฎาคม 1884 22 กันยายน 1948 เจ้าหญิงอเดลาอีเดอแห่งซัคเซิน-ไมนิงเงิน 3 พระองค์
เจ้าชายเอากุสท์ วิลเฮ็ล์ม 29 มกราคม 1887 25 มีนาคม 1949 เจ้าหญิงอเล็กซันดรา วิคโทรีอา แห่งชเลสวิช-ฮ็อลชไตน์-ซ็อนเดอร์บวร์ค-กลืคส์บวร์ค 1 พระองค์
เจ้าชายอ็อสคาร์ 27 กรกฎาคม 1888 27 มกราคม 1958 เคาน์เตสอีนา มารี ฟ็อน บัสเซอวิทซ์ 4 พระองค์
เจ้าชายโยอาคิม 17 ธันวาคม 1890 18 กรกฎาคม 1920 เจ้าหญิงมารี-เอากุสเทอ แห่งอัลฮัลท์ 1 พระองค์
เจ้าหญิงวิคโทรีอา ลูอีเซอ 13 กันยายน 1892 11 ธันวาคม 1980 แอ็นสท์ เอากุสทุส ดยุกแห่งเบราน์ชไวค์ 5 พระองค์

ฐานันดรและพระอิสริยยศ

แก้
 
  • 27 มกราคม 1859 – 9 มีนาคม 1888: เจ้าชายวิลเฮ็ล์มแห่งปรัสเซีย
  • 9 มีนาคม 1888 – 15 มิถุนายน 1888: มกุฎราชกุมารแห่งจักรวรรดิเยอรมันและแห่งปรัสเซีย
  • 15 มิถุนายน 1888 – 18 พฤศจิกายน 1918: จักรพรรดิเยอรมัน กษัตริย์แห่งปรัสเซีย
    • 18 พฤศจิกายน 1918 - 4 มิถุนายน 1941: จักรพรรดิเยอรมัน กษัตริย์แห่งปรัสเซีย (สมมุติไว้)
 
ธงพระยศไคเซอร์ ธงพระยศกษัตริย์แห่งปรัสเซีย

พระบรมวงศ์

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. Massie 1991, p. 28.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้
  • The German Emperor as shown in his public utterances
  • Hohenzolern, William II (1922), My Memoirs: 1878–1918, London: Cassell & Co, Google Books.
  • The German emperor's speeches: being a selection from the speeches, edicts, letters, and telegrams of the Emperor William II
  • Commemorative Silk Bookmark เก็บถาวร 2008-12-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน of William II from 1913.
  •   "William II. of Germany" . สารานุกรมบริตานิกา ค.ศ. 1911 (11 ed.). 1911.
  • William II tried to stop the bombing of Belgrade: Knopp, Guido (February 1999), History of the Last Days before the day of fate (documentary), เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2000-10-21, สืบค้นเมื่อ 2015-05-30, as History of Ultimatum to Serbia repeated.
  • http://www.youtube.com/watch?v=O5OI5NC_WC8
  • Historical film documents on Wilhelm II from the time of World War I at www.europeanfilmgateway.eu
ก่อนหน้า จักรพรรดิวิลเฮ็ล์มที่ 2 แห่งเยอรมนี ถัดไป
ฟรีดริชที่ 3   จักรพรรดิเยอรมัน
กษัตริย์แห่งปรัสเซีย

(15 มิถุนายน 1888 – 9 พฤศจิกายน 1918)
  ไม่มี; ระบอบกษัตริย์ถูกล้มล้าง
ฟรีดริชที่ 3   ประมุขแห่งราชวงศ์โฮเอินท์ซ็อลเลิร์น
(15 มิถุนายน 1888 – 4 มิถุนายน 1941)
  เจ้าชายวิลเฮล์ม มกุฎราชกุมาร
pFad - Phonifier reborn

Pfad - The Proxy pFad of © 2024 Garber Painting. All rights reserved.

Note: This service is not intended for secure transactions such as banking, social media, email, or purchasing. Use at your own risk. We assume no liability whatsoever for broken pages.


Alternative Proxies:

Alternative Proxy

pFad Proxy

pFad v3 Proxy

pFad v4 Proxy