ข้ามไปเนื้อหา

กวางผาจีน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กวางผาจีน
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Mammalia
อันดับ: Artiodactyla
วงศ์: Bovidae
วงศ์ย่อย: Caprinae
สกุล: Naemorhedus
สปีชีส์: N.  gariseus
ชื่อทวินาม
Naemorhedus griseus
Milne-Edwards, 1871
ชื่อพ้อง[1]
ชื่อพ้อง
  • Naemorhedus goral (Hardwicke, 1825)
  • Antilope caudata Milne-Edwards, 1867
  • Antilope cinerea Milne-Edwards, 1874
  • Naemorhedus caudatus griseus (Milne-Edwards, 1871)

กวางผาจีน หรือ กวางผาจีนถิ่นใต้[2] (อังกฤษ: Chinese goral, South China goral[2]) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจำพวกสัตว์กีบคู่ชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Naemorhaedus griseus อยู่ในวงศ์ Bovidae

ลักษณะ

[แก้]

มีรูปร่างหน้าตาคล้ายแพะ มีหูยาว ขนตามลำตัวหยาบและหนามีสีเทาหรือน้ำตาลเทา มีแถบสีดำพาดอยู่กลางหลัง ตัวเมียจะมีสีขนอ่อนกว่าตัวผู้ บริเวณลำคอด้านในมีขนสีอ่อน ริมฝีปากและรอบ ๆ ตาสีขาว เขาสั้นมีสีดำ ตัวผู้จะมีเขาที่หนาและยาวกว่าตัวเมีย มีความยาวลำตัวและหัว 82–120 เซนติเมตร ความยาวหาง 7.5–20 เซนติเมตร ความสูงจากพื้นดินถึงหัวไหล่ 50–60 เซนติเมตร น้ำหนัก 22–32 กิโลกรัม ผสมพันธุ์ในเดือนตุลาคมธันวาคม ใช้เวลาตั้งท้องนาน 6–7 เดือน ออกลูกครั้งละ 1–2 ตัว เป็นสัตว์ที่ตื่นตกใจง่าย เมื่อตกใจจะส่งเสียงร้องสั้นและสูงเป็นสัญญานเตือนภัยถึงตัวอื่น ๆ ในฝูง ใช้ประสาทการมองมากกว่าการดมกลิ่นหรือฟังเสียง ซึ่งต่างจากสัตว์กินพืชทั่วไป มักออกหากินตามทุ่งหญ้าโล่งในเวลาก่อนพระอาทิตย์ตกดินจนถึงเวลาเช้าตรู่ กินอาหารได้แก่ หญ้า, ยอดอ่อนของใบไม้, รากไม้ และลูกไม้เปลือกแข็งจำพวกก่อเป็นอาหารหลัก แม้จะอยู่ในเทือกเขาสูง แต่สามารถว่ายน้ำได้ดีเหมือนเลียงผา และเคยมีรายงานว่า เคยลงมากินน้ำและว่ายข้ามแม่น้ำ มีอายุเต็มที่ 11 ปี [3]

การกระจายพันธุ์และถิ่นอาศัย

[แก้]

มีการกระจายพันธุ์ตั้งแต่ตะวันออกของรัฐสิกขิมและรัฐอัสสัมของอินเดีย ภาคกลางและภาคใต้ของจีน, พม่า, ภาคเหนือของไทยและลาว

มักอาศัยและหากินรวมกันเป็นฝูงตามทุ่งหญ้าบนภูเขาและชะง่อนผาบนเทือกเขาสูง ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,000–4,000 เมตร ฝูง ๆ หนึ่งจะมีสมาชิกประมาณ 4–12 ตัว และแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิดย่อย คือ[4]:

  • N. g. evansi (Lydekker, 1902) รัฐยะไข่และปะโคะกูในพม่า, ไทย และเป็นไปได้ว่าอาจพบได้ที่ลาว[5]
  • N. g. griseus (Milne-Edwards, 1871) พบในหลายมณฑลทางพื้นที่ภาคตะวันออกของจีน, ตะวันตกของพม่า, ตะวันออกของบังกลาเทศ, ตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย (ทางด้านตะวันออกและใต้ของแม่น้ำพรหมบุตร) และตะวันออกเฉียงเหนือของไทยรวมถึงพื้นที่บริเวณอ่าวตังเกี๋ยของเวียดนาม และลาว แต่ข้อมูลนี้ยังไม่เป็นที่ยืนยัน [6]

การอนุรักษ์

[แก้]

สถานภาพของกวางผาจีน ปัจจุบันเป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์แล้ว ในประเทศไทย เป็นสัตว์ป่าสงวนตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ปัจจุบัน พบว่ามีเหลืออยู่เพียงแห่งเดียวที่ดอยม่อนจอง ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ และ อำเภอสามเงา จังหวัดตาก มีชื่อเรียกของผู้คนในท้องถิ่นว่า "ม้าเทวดา" เนื่องจากเป็นสัตว์ที่ลึกลับ หายากมาก และเมื่อพบเห็นตัวก็จะหลบหนีไปด้วยความรวดเร็ว[7] โดยถูกล่าเพราะมีความเชื่อว่าน้ำมันจากกะโหลกของกวางผาจีนมีคุณสมบัติทางยาสมานกระดูกรักษาโรคไขข้ออักเสบได้เหมือนกับของเลียงผา[8]

โดยมีการเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์เพียงแห่งเดียวเท่านั้นในประเทศไทย คือ สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ โดยทำการเพาะเลี้ยงมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 เริ่มจากพ่อแม่พันธุ์เพียง 2 ตัว ชื่อ "ม่อนจอง" และ"ซีเกมส์" ที่ได้รับมาจากศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเชิงดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2555 ได้มีการปล่อยกวางผาจีนที่เพาะขยายพันธุ์ได้สู่ธรรมชาติทั้งหมด 9 ตัว และมีการติดปลอกคอวิทยุเพื่อทำการติดตามศึกษาต่ออีกด้วย[8]

  • เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2560 กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เผยข่าวดีว่าแนวโน้มประชากรกวางผาในพื้นที่ดอยเชียงดาว ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว อำเภอเชียงดาว, จังหวัดเชียงใหม่ สำรวจพิกัดจำนวน15จุด ในความสูงมากกว่า 1,000 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง พบกวางผาจำนวน 90 ตัว โดยแยกเป็นตัวเต็มวัย65ตัว ตัวไม่เต็มวัย17ตัว และลูกเล็ก8ตัว นับเป็นประชากรที่มากที่สุดตั้งแต่การสำรวจของพื้นที่ดอยหลวงเชียงดาว

หมายเหตุ

[แก้]

กวางผาที่พบในประเทศไทยนั้นเดิมเคยใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Naemorhedus caudatus ซึ่งเป็นกวางผาชนิดที่พบได้ไกลถึงเอเชียตะวันออกเช่น จีน, ญี่ปุ่น และคาบสมุทรเกาหลี รวมถึงบางส่วนในไซบีเรียด้วย ต่อมาเมื่อมีการระบุชนิดเพื่อออกชื่อในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ได้เปลี่ยนไปเป็น N. griseus อย่างในปัจจุบัน[7][1]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 Duckworth JW, Steinmetz R & Rattanawat Chaiyarat (2008). Naemorhedus caudatus. In: IUCN 2008. IUCN Red List of Threatened Species. Downloaded on 2009-01-22.
  2. 2.0 2.1 "ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามราชกิจจานุเบกษา" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. October 18, 2013. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2013-09-01. สืบค้นเมื่อ 2013-10-18.
  3. กองทุนสัตว์ป่าโลก สำนักงานประเทศไทย. สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในประเทศไทยและภูมิภาคอินโดจีน. กรุงเทพฯ : ไซรัสการพิมพ์, 2543. 256 หน้า. ISBN 978-9749-906-651
  4. "Naemorhedus griseus". ระบบข้อมูลการจำแนกพันธุ์แบบบูรณาการ. สืบค้นเมื่อ 12 July 2016.
  5. "Subspecies Sheet". planet-mammiferes. สืบค้นเมื่อ July 12, 2016.[ลิงก์เสีย]
  6. "Fiche Espèce". planet-mammiferes. สืบค้นเมื่อ July 12, 2016.[ลิงก์เสีย]
  7. 7.0 7.1 กวางผา ม้าเทวดาแห่งหุบผาป่าดอยม่อนจอง เก็บถาวร 2015-09-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  8. 8.0 8.1 "'กวางผา' หรือ 'ม้าเทวดา' ณ ดอยม่อนจอง". วอยซ์ทีวี. December 25, 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-09-07. สืบค้นเมื่อ July 12, 2016.


pFad - Phonifier reborn

Pfad - The Proxy pFad of © 2024 Garber Painting. All rights reserved.

Note: This service is not intended for secure transactions such as banking, social media, email, or purchasing. Use at your own risk. We assume no liability whatsoever for broken pages.


Alternative Proxies:

Alternative Proxy

pFad Proxy

pFad v3 Proxy

pFad v4 Proxy