ข้ามไปเนื้อหา

แรดชวา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

แรดชวา, แรดซุนดา
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: Early Pleistocene - Recent 1.5–0Ma
แรดชวาอินโดนีเซียที่สวนสัตว์ลอนดอน มีนาคม พ.ศ. 2417 ถึง มกราคม พ.ศ. 2428
สถานะการอนุรักษ์
CITES Appendix I (CITES)[2]
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Mammalia
อันดับ: Perissodactyla
วงศ์: Rhinocerotidae
สกุล: Rhinoceros
สปีชีส์: R.  sondaicus
ชื่อทวินาม
Rhinoceros sondaicus
Desmarest, 1822[3]
สปีชีส์ย่อย
แผนที่แสดงที่อยู่อาศัยของแรดชวาในปัจจุบัน

แรดชวา หรือ แรดซุนดา (อังกฤษ: Javan Rhinoceros[4]) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ในอันดับสัตว์กีบคี่ในวงศ์แรด อยู่ในสกุลเดียวกันกับแรดอินเดีย เป็นหนึ่งในห้าชนิดของแรดที่ยังเหลืออยู่ ลำตัวยาว 3.1–3.2  ม.สูง 1.4–1.7 ม.มีขนาดใกล้เคียงกับแรดดำ เหนือจมูกมีนอสั้น ๆ หนึ่งนอมีขนาดเล็กกว่าแรดทุกชนิด จึงได้อีกชื่อว่า แรดนอเดียว

แรดชวาเป็นแรดเอเชียที่มีการกระจายพันธุ์กว้างที่สุดตั้งแต่เกาะในอินโดนีเซีย ตลอดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินเดีย และจีน ปัจจุบันแรดชวาถูกคุกคามจนอยู่ในขั้นวิกฤติ มีเพียงสองแห่งเท่านั้นที่ยังมีประชากรหลงเหลืออยู่ในป่า ไม่มีแรดชวาจัดแสดงในสวนสัตว์ แรดชวาอาจเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ที่พบได้ยากที่สุดในโลก[5] มีประชากรแรดน้อยกว่า 40-50 ตัวในอุทยานแห่งชาติอูจุงกูลนบนเกาะชวาในประเทศอินโดนีเซีย และประชากรจำนวนเล็กน้อย (ประเมินเมื่อปี พ.ศ. 2550) ไม่เกิน 8 ตัวในอุทยานแห่งชาติก๊าตเตียนในประเทศเวียดนาม แต่ในปัจจุบันมีการยืนยันว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว[6] การลดลงของแรดชวาเกิดจากการล่าเอานอซึ่งเป็นสิ่งมีค่าในการแพทย์แผนจีนซึ่งมีราคาถึง $30,000 ต่อกก.ในตลาดมืด[5] การสูญเสียถิ่นอาศัยโดยเฉพาะผลของสงครามอย่างสงครามเวียดนาม มีส่วนในการลดลงและขัดขวางการฟื้นฟูของจำนวนประชากร[7] แม้พื้นที่ถิ่นอาศัยที่เหลือจะได้รับการปกป้องแต่แรดชวายังคงเสี่ยงต่อการถูกล่า โรคภัยไข้เจ็บ และการสูญเสียความหลากหลายทางพันธุกรรมซึ่งจะนำไปสู่การผสมพันธุ์ในสายเลือดเดียวกัน

แรดชวามีอายุประมาณ 30-45 ปีในธรรมชาติ อาศัยอยู่ในป่าดินชื้น ป่าหญ้าชื้นแฉะ และลุ่มน้ำขนาดใหญ่ แรดชวาเป็นสัตว์สันโดษมักอยู่ลำพังเพียงตัวเดียว ยกเว้นช่วงจับคู่ผสมพันธุ์และเลี้ยงดูลูกอ่อน บางครั้งจะรวมฝูงกันเมื่อลงแช่ปลักโคลนหรือลงกินโป่ง มีอาหารหลักเป็น ใบไม้อ่อน ยอดไม้ ตาไม้ และผลไม้สุกที่ร่วงหล่นตามพื้นดิน นอกจากมนุษย์แล้วแรดชวาไม่มีศัตรูอื่นอีก แรดชวาจะหลีกเลี่ยงมนุษย์แต่จะโจมตีเมื่อรู้สึกถูกคุกคาม เป็นการยากที่นักวิทยาศาสตร์และนักอนุรักษ์จะศึกษาในแรดชวาโดยตรงเพราะพบยากมากและเป็นอันตรายต่อสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ชนิดจากการรบกวน นักวิจัยอาศัยเพียงกับดักกล้องและตัวอย่างมูลเพื่อประเมินสุขภาพและพฤติกรรม ดังนั้นจึงมีการศึกษาในแรดชวาน้อยกว่าในแรดทุกชนิด

อนุกรมวิธานและชื่อ

[แก้]

การศึกษาแรดชวาครั้งแรกเกิดขึ้นโดยนักธรรมชาติวิทยาจากภายนอกพื้นที่ในปี พ.ศ. 2330 เมื่อมีการยิงแรดชวาได้ 2 ตัวในชวา กะโหลกถูกส่งไปให้เปตรึส กัมเปอร์ (Petrus Camper) นักธรรมชาติวิทยาชาวดัตช์ที่มีชื่อเสียง แต่เขากลับเสียชีวิตในปี พ.ศ. 2332 ก่อนที่เขาจะทันได้ตีพิมพ์การค้นพบของเขาที่ว่าแรดชวาเป็นแรดชนิดใหม่ แม้ว่าอาลแฟรด ดูว์โวแซล (Alfred Duvaucel) จะยิงแรดชวาได้บนเกาะของสุมาตราและส่งตัวอย่างให้กับฌอร์ฌ กูว์วีเย (Georges Cuvier) นักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศสที่มีชื่อเสียงซึ่งเป็นพ่อเลี้ยงของเขา แต่กูว์วีเยกลับระลึกว่าเป็นสัตว์ชนิดใหม่ได้ในปี พ.ศ. 2365 และในปีเดียวกันนั้นเอง อ็องแซลม์ กาเอต็อง เดมาแร (Anselme Gaëtan Desmarest) ระบุเป็น Rhinoceros sondaicus แรดชวาเป็นแรดชนิดสุดท้ายที่มีการจำแนก[8] ในตอนแรกเดมาแรระบุว่าแรดชนิดนี้มาจากสุมาตรา แต่ภายหลังแก้ว่ามาจากชวา[3]

ชื่อสกุล Rhinoceros ซึ่งรวมถึงแรดอินเดียด้วยนั้น มาจากภาษากรีกโบราณ rhino แปลว่า จมูก และ ceros แปลว่า เขา หรือ นอ sondaicus มาจาก ซุนดา ซึ่งประกอบไปด้วยเกาะสุมาตรา ชวา บอร์เนียว และเกาะเล็ก ๆ ที่ล้อมรอบบริเวณนั้น แรดชวานั้นรู้จักกันในชื่อ Lesser One-Horned Rhinoceros (แรดนอเดียวเล็ก) โดยเทียบกับแรดอินเดียที่ได้ชื่อว่า Greater One-Horned Rhinoceros (แรดนอเดียวใหญ่)

แรดชวามีสามสปีชีส์ย่อยได้แก่:

  • Rhinoceros sondaicus sondaicus หรือ แรดชวาอินโดนีเซีย อาศัยอยู่ในชวาและสุมาตรา ปัจจุบันคาดว่ามีประชากรประมาณ 40–50 ตัวในอุทยานแห่งชาติอูจุงกูลนบนปลายแหลมด้านตะวันตกของเกาะในชวา มีนักวิจัยเสนอว่าแรดชวาบนสุมาตราควรแบ่งเป็นชนิดย่อย R.s. floweri แต่ไม่ค่อยได้รับความยอมรับนัก[9][10]
  • Rhinoceros sondaicus annamiticus หรือ แรดชวาเวียดนาม หรือ แรดเวียดนาม อาศัยอยู่ในเวียดนาม กัมพูชา ลาว ไทย และมาเลเซีย Annamiticus มาจากชื่อเทือกเขาอันนัม (Annamite) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นถิ่นอาศัยของแรด มีประชากรเหลือประมาณ 12 ตัว อาศัยอยู่ในป่าต่ำในอุทยานแห่งชาติก๊าตเตียน (Cat Tien) ในเวียดนาม จากการศึกษาทางพันธุวิทยาพบว่าแรดชวาทั้งสองชนิดย่อยที่เหลืออยู่มีบรรพบุรุษร่วมกันเมื่อ 300,000 ถึง 2 ล้านปีมาแล้ว[10][11]
  • Rhinoceros sondaicus inermis หรือ แรดชวาอินเดีย อาศัยอยู่ในเบงกอลจนถึงพม่า คาดว่าสูญพันธุ์ไปตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1900 Inermis แปลว่า ไม่มีอาวุธ ซึ่งหมายถึงว่าชนิดย่อยนี้มีนอเล็กมากในเพศผู้และแทบไม่มีเลยในเพศเมีย ตัวอย่างดั้งเดิมของสปีชีส์นี้เพศเมียไม่มีนอ สถานะการณ์ทางการเมืองของพม่าอาจยังช่วยรักษาแรดชนิดย่อยนี้ไว้ก็เป็นได้ แต่มีความเป็นไปได้ต่ำมาก[12][13][14]

วิวัฒนาการ

[แก้]

บรรพบุรุษของแรดได้วิวัฒนาการแยกตัวออกจากสัตว์กีบคี่อื่นในสมัยตอนต้นยุคแรกเริ่มที่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมถือกำเนิดขึ้นมา (Eocene) การเปรียบเทียบทางไมโตคอนเดรียดีเอ็นเอ (Mitochondrial DNA) แสดงว่าบรรพบุรุษของแรดในปัจจุบันแยกตัวจากบรรพบุรุษของม้าราว ๆ 50 ล้านปีมาแล้ว[15] ในวงศ์แรดที่เหลืออยู่ในปัจจุบันปรากฏขึ้นครั้งแรกในตอนปลายยุคอีโอซีนในทวีปยูเรเชีย และบรรพบุรุษของแรดในปัจจุบันมีการกระจายพันธุ์จากเอเชีย เริ่มต้นในยุคไมโอซีน (Miocene)[16]

แรดอินเดียและแรดชวาซึ่งเป็นสมาชิกในสกุล Rhinoceros ปรากฏตัวครั้งแรกบันทึกซากดึกดำบรรพ์ในเอเชียประมาณ 1.6–3.3 ล้านปีมาแล้ว จากการประเมินเชิงโมเลกุลแสดงว่าสปีชีส์แยกตัวออกมาก่อนหน้านั้นนานมาแล้ว ประมาณ 11.7 ล้านปีมาแล้ว[15][17] แม้ว่าแรดชวาและแรดอินเดียจะเป็นกลุ่มเดียวกับสกุลต้นแบบแต่ก็เชื่อกันว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับแรดชนิดอื่น ๆ จากการศึกษาต่าง ๆ มีสมมติฐานว่าอาจจะเป็นญาติใกล้ชิดกับ Gaindetherium หรือ Punjabitherium ซึ่งสูญพันธุ์ไปแล้ว จากรายละเอียดการวิเคราะห์แบบสัมพันธ์เป็นลำดับขั้นของแรดได้วาง Rhinoceros และ Punjabitherium (สูญพันธุ์) ในเครือบรรพบุรุษเดียวกับ Dicerorhinus แต่ในการศึกษาอื่นเสนอว่ากระซู่เป็นญาติใกล้ชิดกับแรดแอฟริกา[18] กระซู่อาจแยกตัวจากแรดเอเชียอื่นเมื่อ 15 ล้านปีมาแล้ว[5][16]

ลักษณะ

[แก้]
ตัวอย่างต้นแบบของ R. s. inermis

แรดชวามีขนาดเล็กกว่าแรดอินเดียซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องกับมัน มันมีขนาดใกล้เคียงกับแรดดำ ลำตัวยาว (รวมหัว) 3.1–3.2 ม. สูง 1.4–1.7 ม. เมื่อโตเต็มที่หนัก 900-2,300 กก. เนื่องจากแรดชวาอยู่ในสภาวะใกล้สูญพันธุ์จนถึงขั้นวิกฤติการวัดที่แม่นยำจึงไม่เคยกระทำและไม่มีความสำคัญ[5] ไม่มีความแตกต่างระหว่างเพศเด่นชัด แต่เพศเมียอาจใหญ่กว่าเพศผู้เล็กน้อย แรดชวาในเวียดนามมีขนาดเล็กกว่าในชวาโดยคำนวณจากรูปถ่ายและรอยเท้า[19]

แรดชวามีนอเดียวเหมือนแรดอินเดีย (ชนิดอื่นมีสองนอ) จึงได้อีกชื่อว่า แรดนอเดียว นอของมันมีขนาดเล็กที่สุดในบรรดาแรดทั้งหมด ปกติยาวน้อยกว่า 20 ซม. เท่าที่มีการบันทึกนอที่ยาวที่สุดยาว 27 ซม. ไม่ปรากฏว่าแรดชวาใช้นอในการต่อสู้ น่าจะมีไว้ใช้ในการขุดโคลน ดันต้นไม้ลงเพื่อกิน และดันสิ่งของที่กีดขวางทางเดิน แรดชวามีปากบนยาวแหลมไว้ช่วยคว้ากับอาหารเหมือนแรดเล็มกินชนิดอื่น (แรดดำ สุมาตรา และ อินเดีย) มันมีฟันหน้าล่างยาวและคมซึ่งเมื่อเกิดการต่อสู้มันจะใช้ฟันนี้กัด หลังฟันหน้ามีฟันกรามที่มีปุ่มเตี้ย ๆ สองแถวใช้สำหรับเคี้ยวพืชหยาบ ๆ แรดชวามีประสาทการดมกลิ่นและฟังเสียงดีแต่มีสายตาที่แย่เหมือนกันกับแรดทุกชนิด ประมาณกันว่ามันมีอายุ 30-45 ปี[19]

แรดชวาไม่มีขน มีหนังสีเทาหรือน้ำตาลเทา มีรอยพับที่ไหล่ หลังขาหน้า และสะโพก ทำให้ดูคล้ายกับว่ามันสวมเสื้อเกราะอยู่ รอยพับที่คอของแรดชวาเล็กกว่าของแรดอินเดีย แต่จะมีรูปร่างคล้ายอานม้าปกคลุมไปที่ไหล่ ง่ามก้นไม่เป็นร่อง ดังนั้นหางของแรดชวาจึงโด่งออกไปผิดกับแรดอินเดียที่มีง่ามก้นซึ่งตามปกติจะซุกหางไว้ในนั้น เพราะการเข้าไปรบกวนอาจทำให้แรดชวาเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ทำให้การศึกษาในขั้นต้นทำได้เพียงศึกษาจากมูลตัวอย่างและกับดักกล้อง แรดชวานั้นยากที่จะพบเจอ สังเกตพฤติกรรม และวัดได้โดยตรง[20]

การกระจายพันธุ์และถิ่นอาศัย

[แก้]
อุทยานแห่งชาติอูจุงกูลนในชวาเป็นบ้านของแรดชวาส่วนมากที่เหลืออยู่

แม้จะมีการประมาณในแง่ดีว่ามีแรดชวามากกว่า 100 ตัวในป่า แต่แแรดชวาก็ยังจัดเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ที่ถูกคุกคามจนอยู่ในขั้นวิกฤติมากที่สุดในโลก ถึงแม้ว่ากระซู่จะมีจำนวนมากกว่าแต่แหล่งการกระจายพันธุ์ของมันก็ไม่ได้รับการปกป้องเท่ากับของแรดชวา ทำให้มีนักอนุรักษ์บางคนคิดว่ากระซู่มีอัตราเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มากกว่า ปัจจุบันเท่าที่ทราบ มีแรดชวาหลงเหลืออยู่เพียง 2 แห่งเท่านั้นคืออุทยานแห่งชาติอูจุงกูลนที่อยู่ปลายทางทิศตะวันตกของชวาและอุทยานแห่งชาติก๊าตเตียนซึ่งอยู่ห่างจากนครโฮจิมินห์ไปทางเหนือประมาณ 150 กม.[10][21]

แรดชวามีการกระจายพันธุ์จากรัฐอัสสัมถึงเบงกอล (ที่ซึ่งกระจายพันธุ์ซ้อนทับกับกระซู่และแรดอินเดีย[14]) ไปทางตะวันออกถึงพม่า ไทย กัมพูชา ลาว เวียดนาม และทางใต้ไปถึงคาบสมุทรมลายูและเกาะในสุมาตรา ชวา และอาจในบอร์เนียวด้วย[22] ในปี พ.ศ. 2514 ประเทศไทยมีรายงานว่าพบแรดชวาตามเทือกเขาตะนาวศรี[23] และในป่าลึกตามแนวรอยต่อจังหวัดระนอง พังงา และสุราษฎร์ธานี[24] แต่ปัจจุบัน แรดชวาถูกจัดให้เป็นสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติแล้วในประเทศไทย[25]

แรดชวาอาศัยอยู่ในป่าต่ำที่เป็นป่าดิบชื้น หญ้าสูงและมีต้นกกปกคลุมริมแม่น้ำ ที่ลุ่มขนาดใหญ่ หรือพื้นที่ชุ่มชื้นที่มีปลักโคลน แม้ว่าโดยทั่วไปแล้วแรดชวาจะอาศัยอยู่ในที่ราบ แต่ชนิดย่อยในเวียดนามกลับอาศัยอยู่ในป่าสูง (มากถึง 2,000 ม.) อาจเป็นเพราะการล่าและการบุกรุกถิ่นอาศัยจากมนุษย์[12]

พิสัยถิ่นอาศัยของแรดชวาหดตัวลงในเวลาไม่ถึง 3,000 ปี เริ่มขึ้นเมื่อประมาณ 1000 ปีก่อนคริสต์ศักราช พิสัยทางทิศเหนือแผ่ขยายถึงประเทศจีน และเริ่มเคลื่อนไปทางใต้ประมาณ 0.5 กม.ต่อปีจากการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่[26] แรดชวาสูญพันธุ์ไปจากประเทศอินเดียภายใน 10 ปีแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 20[14] ในมาเลเซียตะวันตกแรดชวาโดนล่าจนสูญพันธุ์ในปี พ.ศ. 2475[27] เมื่อสิ้นสุดสงครามเวียดนามเชื่อกันว่าแรดเวียดนามสูญพันธุ์ไปจากบนแผ่นดินใหญ่ของทวีปเอเชียแล้ว แม้ว่ามีรายงานว่าพบแรดชวาที่ภูเขากระวาน (Cardamom) ในกัมพูชาโดยพรานป่าและคนตัดไม้แต่การสำรวจของพื้นที่จะยังไม่พบหลักฐานใด ๆ ที่แสดงว่ามีแรดชวาอาศัยอยู่[28] อาจมีประชากรแรดชวาหรือกระซู่กลุ่มเล็ก ๆ อยู่ในเกาะของบอร์เนียว[22]

พฤติกรรม

[แก้]

แรดชวาเป็นสัตว์สันโดษปกติจะอยู่เพียงตัวเดียวลำพังยกเว้นจับคู่ผสมพันธุ์และเลี้ยงดูลูกอ่อน บางครั้งจะมีการรวมฝูงเล็ก ๆ ที่โป่งหรือปลักโคลน การลงแช่ปลักเป็นพฤติกรรมที่พบได้ในแรดทุกชนิด เพื่อช่วยในการควบคุมอุณหภูมิร่างกายและช่วยป้องกันผิวหนังจากปรสิตภายนอกและแมลงอื่น ๆ โดยปกติแรดชวาจะไม่ขุดปลักเองแต่จะใช้ปลักของสัตว์อื่นหรือปลักที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและให้นอของมันขุดเพื่อขยายปลักเท่านั้น ดินโป่งเป็นแหล่งสารอาหารที่สำคัญของแรดชวาที่ขาดไม่ได้ แรดชวาเพศผู้จะมีอาณาเขตขนาดใหญ่ประมาณ 12–20 กม.² ขณะเพศเมียมีอาณาเขตเพียง 3–14 กม.² ดังนั้นอาณาเขตของเพศผู้จึงมักเหลื่อมทับกับแรดชวาตัวอื่นมากกว่าในเพศเมีย การต่อสู้เพื่อชิงอาณาเขตนั้นยังไม่เป็นที่ทราบ[29]

แรดชวาเพศผู้จะทำเครื่องหมายบอกอาณาเขตด้วยกองมูลและละอองเยี่ยว การขูดพื้นดินด้วยเท้าและการบิดงอไม้หนุ่มดูเหมือนใช้ในการสื่อสาร แรดชนิดอื่น ๆ มีพฤติกรรมประหลาดคือเมื่อมันถ่ายมูลกองใหญ่ออกมามันจะใช้ขาหลังตะกุยกองมูลมันเอง แต่ในกระซู่และแรดชวาเมื่อมันถ่ายเสร็จมันจะไม่ทำเช่นนั้น พฤติกรรมที่มีการปรับตัวเช่นนี้คาดว่าเกิดจากสิ่งแวดล้อมที่เป็นป่าฝน ด้วยวิธีนี้จึงไม่อาจใช้เพื่อกระจายกลิ่นได้[29]

แรดชวาไม่เปล่งเสียงร้องมากเท่ากับกระซู่ มีเสียงร้องน้อยมากที่มีการบันทึกไว้ สำหรับแรดชวาที่โตเต็มที่จะไม่มีศัตรูอื่นอีกนอกจากมนุษย์ แรดชวาโดยเฉพาะในเวียดนามเมื่อมีมนุษย์เข้ามาอยู่ใกล้ ๆ มันจะตื่นตกใจและวิ่งหนีเข้าไปในป่าทึบซึ่งเป็นคุณลักษณะที่มีประโยชน์ในการอยู่รอด แต่ก็ทำให้เป็นการยากที่จะศึกษาในแรดชวา[7] แต่กระนั้นเมื่อคนเข้ามาใกล้เกินไป แรดชวาจะมีพฤติกรรมก้าวร้าวและเข้าโจมตี ด้วยการแทงด้วยฟันหน้าของขากรรไกรล่างในขณะที่โดนดันขึ้นด้วยหัวของมัน[29] พฤติกรรมสันโดษของแรดชวานั้นอาจเป็นการปรับตัวซึ่งเกิดขึ้นมาเมื่อไม่นานนี้จากความเครียดทางสังคม จากการศึกษาทางประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นว่าแรดชวาเคยอยู่รวมเป็นฝูงมาก่อนเหมือนกันกับแรดชนิดอื่น ๆ [10]

อาหาร

[แก้]

แรดชวาเป็นสัตว์กินพืชและกินได้หลากหลายชนิด โดยเฉพาะ หน่อ กิ่ง ใบ และผลไม้ที่ตกลงบนพื้นดิน พืชหลายชนิดเติบโตในบริเวณพื้นที่โล่ง ป่าโปร่ง ป่าไม้พุ่ม แรดจะรื้อไม้หนุ่มลงมาเพื่อหาอาหารและคว้าจับด้วยริมฝีปากบน มันไม่ใช่นักกินที่ปรับตัวเก่งเหมือนแรดชนิดอื่น แรดชวาเป็นสัตว์เล็มกินและอาจเป็นทั้งสัตว์เล็มกินและสัตว์เล็มหญ้า แรดกินอาหารประมาณ 50 กก.ต่อวัน แรดชวาเหมือนกับกระซู่ มันจำเป็นต้องกินเกลือเป็นอาหาร ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะเป็นดินโป่ง แต่ไม่ใช่แรดในอูจุงกูลน แรดชวาที่นั่นดื่มน้ำทะเลที่มีสารอาหารที่มันต้องการเหมือนกับดินโป่งแทน[19]

การสืบพันธุ์

[แก้]

พฤติกรรมการสืบพันธุ์ของแรดชวายากที่จะทำการศึกษาจากการสังเกตโดยตรงและไม่มีแรดชวาในสวนสัตว์ แรดเพศเมียถึงวัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุได้ราว 3–4 ปีในขณะที่เพศผู้ที่ประมาณ 6 ปี ตั้งท้องประมาณ 16–19 เดือน ให้กำเนิดลูกห่างกัน 4–5 ปี ลูกแรดจะอยู่กับแม่จนถึงอายุ 2 ปี พฤติกรรมการจับคู่คาดว่าคล้ายกับแรดชนิดอื่น[29]

การอนุรักษ์

[แก้]
แรดชวาที่โดนยิงตายโดยพรานชาวดัตช์ ปี พ.ศ. 2438
ภาพพิมพ์จากปี พ.ศ. 2404 แสดงให้เห็นถึงการล่าแรดชวา

ปัญหาหลักที่ทำให้จำนวนประชากรของแรดชวาลดลงก็คือการล่าเอานอซึ่งเป็นปัญหาในแรดทุกชนิด การซื้อขายนอแรดในประเทศจีนมีมานานกว่า 2,000 ปี คนจีนเชื่อกันว่านอแรดเป็นยาในการแพทย์แผนจีน ตามประวัติศาสตร์มีการนำหนังมาทำเกราะสำหรับทหารจีนและคนในบางพื้นที่ของประเทศเวียดนามเชื่อกันว่าหนังสามารถแก้พิษงูได้[30] เนื่องจากการกระจายพันธุ์ของแรดชวาอยู่ในหลาย ๆ พื้นที่อยู่ในพื้นที่ยากจน ทำให้ยากที่จะชักจูงให้คนในพื้นที่ไม่ฆ่าสัตว์ที่ดูเหมือนว่าจะไม่มีประโยชน์นี้เพราะแรดสามารถขายได้ในราคาที่สูงมาก[26] เมื่ออนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าใกล้สูญพันธุ์เริ่มบังคับใช้ในปี พ.ศ. 2518 มีการจัดแรดชวาให้อยู่ในบัญชีอนุรักษ์ที่ 1 ดังนั้นการซื้อขายแรดและชิ้นส่วนจึงเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย[31] จากการสำรวจราคานอแรดในตลาดมืดปรากฏว่านอแรดเอเชียมีราคาสูงถึง $30,000 ต่อกก.ซึ่งสูงกว่านอแรดแอฟริกาถึงสามเท่า[5]

การสูญเสียที่อยู่จากการเกษตรกรรมเป็นสาเหตุหนึ่งของการลดลงในประชากรแรดชวา แต่ไม่ได้เป็นสาเหตุสำคัญนักเพราะประชากรแรดชวานั้นอาศัยอยู่ในอุทยานเพียงสองแห่งที่ได้รับการปกป้องอย่างดี ถิ่นอาศัยที่เสื่อมโทรมจะขัดขวางการฟื้นตัวของประชากรให้ตกเป็นเหยื่อของการล่าสัตว์ได้โดยง่าย แม้ว่าจะมีความพยายามในการอนุรักษ์แต่โอกาสในการอยู่รอดของแรดชวาก็ยังน้อยมาก เพราะประชากรจำกัดอยู่ในพื้นที่เล็ก ๆ สองที่ทำให้อ่อนแอต่อโรคและเกิดการผสมพันธุ์กันเองในหมู่ญาติ การอนุรักษ์ทางพันธุกรรมประมาณว่าประชากรแรดทั้ง 100 ตัวนี้ควรรักษาความหลากหลายทางพันธุกรรมไว้[21]

ในประเทศไทยแรดชวาเป็นสัตว์ป่าสงวนตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535

อูจุงกูลน

[แก้]

คาบสมุทรอูจุงกูลนโดนทำลายล้างด้วยการระเบิดของภูเขาไฟกรากะตัวในปี พ.ศ. 2426 แรดชวากลับมาสร้างอาณานิคมอีกครั้งหลังการระเบิดแต่มนุษย์กลับมาเพียงจำนวนเล็กน้อยทำให้ที่นั่นเป็นสวรรค์ของแรด[21] ในปี พ.ศ. 2474 เมื่อแรดชวาเกือบจะสูญพันธุ์จากสุมาตรา รัฐบาลของหมู่เกาะอินเดียตะวันออกของดัตช์ได้ประกาศกฎหมายอนุรักษ์แรดที่เหลืออยู่[12] ในปี พ.ศ. 2510 เมื่อมีการสำรวจจำนวนประชากรแรดชวาครั้งแรกในอูจุงกูลน พบว่ามีประชากรแรดเพียง 25 ตัว ในปี พ.ศ. 2523 ประชากรเพิ่มเป็นเท่าตัวคือประมาณ 50 ตัว แม้ว่าแรดชวาในอูจุงกูลนจะไม่มีศัตรูในธรรมชาติ แต่แรดก็ยังต้องแข่งขันในเรื่องทรัพยากรที่ขาดแคลนกับสัตว์ป่าชนิดอื่นซึ่งทำให้มีจำนวนของแรดชวาต่ำกว่าขีดความสามารถในการรองรับได้ของคาบสมุทร[32] อูจุงกูลนบริหารโดยกรมป่าไม้ของอินโดนีเซีย[12] มีหลักฐานการพบลูกแรดสี่ตัวในปี พ.ศ. 2549 มีเอกสารเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้มากมาย[33]

ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2554 มีการเผยแพร่ภาพจากกล้องกับดักที่แสดงถึงแรดชวาที่โตเต็มที่และแรดวัยอ่อน ซึ่งชี้ให้เห็นว่ามีการจับคู่ผสมพันธุ์ของแรดชวาในอูจุงกูลนเมื่อไม่นานมานี้[34]

ก๊าตเตียน

[แก้]

R.s. annamiticus สปีชีส์ย่อยที่ครั้งหนึ่งกระจายพันธุ์อยู่ทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบันเหลือเพียงไม่กี่ตัวนั้นอาศัยอยู่ในอุทยานแห่งชาติก๊าตเตียนในประเทศเวียดนาม หลังสงครามเวียดนาม คาดกันว่าแรดชวาสูญพันธุ์ไปแล้ว กลยุทธ์ที่ใช้ในสงครามสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศในพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นการใช้ระเบิดเพลิง ฝนเหลือง การทิ้งระเบิดทางอากาศ และการใช้กับระเบิด สงครามยังนำมาซึ่งอาวุธสงครามราคาถูกในพื้นที่ หลังจากสงคราม ชาวบ้านยากจนที่แต่ก่อนใช้เพียงหลุมดักกลายเป็นนายพรานที่น่ากลัวจากอาวุธร้ายแรงที่มีการจัดจำหน่าย สมมุติฐานของการสูญพันธุ์นั้นเปลี่ยนไปเมื่อปี พ.ศ. 2531 เมื่อนายพรานยิงแรดเพศเมียที่โตเต็มที่ได้จึงพิสูจน์ได้ว่ามีแรดชวาเหลือรอดจากสงคราม ในปี พ.ศ. 2532 นักวิทยาศาสตร์ได้สำรวจป่าทางตอนใต้ของเวียดนามเพื่อค้นหาหลักฐานของแรดที่รอดชีวิต รอยเท้าที่พบแสดงว่ามีแรดอย่างน้อย 15 ตัวตามริมฝั่งแม่น้ำด่งไน (Dong Nai River)[35] การมีอยู่ของแรดชวาทำให้ถิ่นอาศัยของมันกลายเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติก๊าตเตียนในปี พ.ศ. 2535[30]

เป็นที่กลัวกันว่าประชากรของแรดชวาจะลดลงจนเลยจุดที่จะสามารถฟื้นฟูได้แล้ว ซึ่งนักอนุรักษ์บางคนประเมินว่าเหลือรอดเพียง 3-8 ตัวเท่านั้นและอาจจะไม่มีเพศผู้เลย[21][33] นอกจากนั้นยังเป็นที่ถกเถียงกันว่าแรดเวียดนามยังมีโอกาสที่จะอยู่รอดหรือไม่ นักอนุรักษ์บางคนอ้างว่าควรนำแรดจากอินโดนีเซียเข้ามาเพื่อรักษาจำนวนประชากรเอาไว้ แต่บางคนอ้างว่าประชากรแรดยังสามารถฟื้นฟูได้[7][36]

ในต้นเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2553 มีการพบซากแรดชวาในอุทยานแห่งชาติก๊าตเตียน แรดถูกยิงและตัดนอโดยพราน[37] ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2554 มูลนิธิแรดระหว่างประเทศ (International Rhino Foundation- IRF) และองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากลได้ยืนยันว่าแรดชวาได้สูญพันธุ์จากประเทศเวียดนามแล้ว[38][39] โดยมีข้อยืนยันจากการวิเคราะห์ทางพันธุกรรมในตัวอย่างมูลสัตว์ 22 ตัวอย่าง[39] ที่องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากลในประเทศเวียดนามและอุทยานแห่งชาติก๊าตเตียนรวบรวมไว้ในระหว่างการสำรวจตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2552 ถึง เดือนมีนาคม พ.ศ. 2553 แสดงว่ามีแรดชวาเพียงตัวเดียวเท่านั้นในอุทยาน และแรดชวาตัวนั้นถูกฆ่าตายในเดือนเมษายน พ.ศ. 2553 จึงเป็นไปได้ที่แรดชวาชนิดย่อยนี้สูญพันธุ์ไปแล้ว ปัจจุบันมีแรดชวาเหลืออยู่ที่อูจุงกูลนเพียงแห่งเดียวเท่านั้น[40] [41]

ในกรงเลี้ยง

[แก้]

ไม่มีการจัดแสดงแรดชวาในสวนสัตว์มากว่าศตวรรษ ในคริสต์ทศวรรษ 1800 มีแรดชวาอย่างน้อยสี่ตัวจัดแสดงในแอดิเลด กัลกัตตา และ ลอนดอน มีแรดชวาอย่างน้อย 22 ตัวที่มีเอกสารบันทึกว่าอยู่ในกรงเลี้ยงซึ่งบางทีอาจมีมากกว่านั้นเพราะบางครั้งมีการจำแรดอินเดียสับสนกับแรดชวา[42] แรดชวาไม่ได้อยู่สุขสบายนักในกรงเลี้ยง มีอายุสูงสุดเพียงแค่ 20 ปีซึ่งเป็นแค่ครึ่งเดียวของแรดที่อาศัยอยู่ในป่า แรดชวาในที่เลี้ยงตัวสุดท้ายตายลงที่สวนสัตว์แอดิเลดในประเทศออสเตรเลียในปี พ.ศ. 2450 ซึ่งได้รับการจัดแสดงในชื่อแรดอินเดีย[19] เนื่องจากโปรแกรมการขยายพันธุ์กระซู่ในสวนสัตว์ที่แพงและยาวนานในคริสต์ทศวรรษ 1980-1990 ได้ล้มเหลวลง ความพยายามที่จะปกป้องแรดชวาในสวนสัตว์นั้นจึงไม่มีทางเป็นไปได้[5]

แรดชวาในเชิงวัฒนธรรม

[แก้]
แรดกำลังทรมานคนบาปในเฉลียง "สวรรค์และนรก" ที่นครวัด (คริสต์ศตวรรษที่ 12)

ในอดีตมีแรดชวาอาศัยอยู่ในประเทศกัมพูชา มีรูปแรดอย่างน้อยสามรูปในรูปแกะสลักนูนต่ำในวิหารของนครวัด ปีกตะวันตกของเฉลียงด้านเหนือมีรูปแกะสลักที่แสดงภาพแรดซึ่งเป็นพาหนะของพระอัคนี แรดนั้นคาดว่าเป็นแรดชวามากกว่าแรดอินเดียซึ่งมีนอเดียวเหมือนกัน จากรอยพับบนไหล่ที่ต่อเนื่องไปทางด้านหลังแบบเดียวกับแรดชวาทำให้มีลักษณะคล้ายอาน ภาพของแรดในปีกด้านตะวันออกของเฉลียงด้านใต้แสดงรูปแรดกำลังโจมตีคนบาปในแผ่นหินที่พรรณนาถึงสวรรค์และนรก สถาปนิกที่ออกแบบวัดแห่งนี้เชื่อว่าเป็นพราหมณ์ชาวอินเดียที่ชื่อทิวการบัณฑิต (Divakarapandita) (ค.ศ. 1040–1120) ผู้รับใช้กษัตริย์พระเจ้าชัยวรรมันที่ 6, พระเจ้าธรณินทรวรมันที่ 1 และ พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ผู้สถาปนานครวัด เป็นที่เชื่อกันว่าทิวการบัณฑิตซึ่งเสียชีวิตก่อนการสร้างนครวัด ตั้งใจจะให้มีปุ่มบนผิวหนังซึ่งเป็นไปตามลักษณะของแรดอินเดีย แต่ช่างแกะสลักท้องถิ่นชาวเขมรแกะสลักรายละเอียดอื่นๆของแรดตามแรดชวาซึ่งเป็นแรดท้องถิ่นที่คุ้นเคยมากกว่า[43] ความคิดที่เชื่อมโยงแรดเป็นพาหนะของพระอัคนีเป็นไปตามวัฒนธรรมเขมร[44][45] มีภาพแรดตัวอื่นๆสลักอยู่ตรงกลางของการจัดเรียงเป็นวงกลมในแถวเดียวกับวงกลมอื่นๆที่มีภาพช้างและควายป่าในปราสาทตาพรหม เนื่องจากรูปตรงกลางถูกพิจารณาว่าเป็นสเตโกซอรัส ทำให้แผ่นหินสลักนี้มีชื่อเสียง[46]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. van Strien, N.J., Steinmetz, R., Manullang, B., Sectionov, Han, K.H., Isnan, W., Rookmaaker, K., Sumardja, E., Khan, M.K.M. & Ellis, S. (2008). Rhinoceros sondaicus. In: IUCN 2008. IUCN Red List of Threatened Species. Downloaded on 28 November 2008.
  2. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ iucn
  3. 3.0 3.1 Rookmaaker, L.C. (1982). "The type locality of the Javan Rhinoceros (Rhinoceros sondaicus Desmarest, 1822)". Zeitschrift fur Saugetierkunde. 47 (6): 381–382.
  4. Wilson, D. E., and Reeder, D. M. (eds), ed (2005). Mammal Species of the World[ลิงก์เสีย] (3rd edition ed.). Johns Hopkins University Press. ISBN 0-8018-8221-4.
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 5.5 Dinerstein, Eric (2003). The Return of the Unicorns; The Natural History and Conservation of the Greater One-Horned Rhinoceros. New York: Columbia University Press. ISBN 0-231-08450-1.
  6. Kinver, Mark (25 October 2011). "Javan rhino 'now extinct in Vietnam'". BBC News. สืบค้นเมื่อ 25 October 2011.
  7. 7.0 7.1 7.2 Santiapillai, C. (1992). "Javan rhinoceros in Vietnam". Pachyderm. 15: 25–27.
  8. Rookmaaker, Kees (2005). "First sightings of Asian rhinos". ใน Fulconis, R. (บ.ก.). Save the rhinos: EAZA Rhino Campaign 2005/6. London: European Association of Zoos and Aquaria. p. 52.
  9. Asian Rhino Specialist Group (1996). Rhinoceros sondaicus ssp. sondaicus เก็บถาวร 2008-05-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. 2007 IUCN Red List of Threatened Species. IUCN 2007. Retrieved on January 13, 2008.
  10. 10.0 10.1 10.2 10.3 Fernando, Prithiviraj (2006). "Genetic diversity, phylogeny and conservation of the Javan hinoceros (Rhinoceros sondaicus)". Conservation Genetics. 7 (3): 439–448. doi:10.1007/s10592-006-9139-4. {{cite journal}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |coauthors= ถูกละเว้น แนะนำ (|author=) (help); ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |month= ถูกละเว้น (help)
  11. Asian Rhino Specialist Group (1996). Rhinoceros sondaicus ssp. annamiticus เก็บถาวร 2008-05-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. 2007 IUCN Red List of Threatened Species. IUCN 2007. Retrieved on January 13, 2008.
  12. 12.0 12.1 12.2 12.3 Foose, Thomas J. (1997). Asian Rhinos – Status Survey and Conservation Action Plan. IUCN, Gland, Switzerland, and Cambridge, UK. ISBN 2-8317-0336-0. {{cite book}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |coauthors= ถูกละเว้น แนะนำ (|author=) (help)
  13. Rookmaaker, Kees (1997). "Records of the Sundarbans Rhinoceros (Rhinoceros sondaicus inermis) in India and Bangladesh". Pachyderm. 24: 37–45.
  14. 14.0 14.1 14.2 Rookmaaker, L.C. (2002). "Historical records of the Javan rhinoceros in North-East India". Newsletter of the Rhino Foundation of Nature in North-East India (4): 11–12. {{cite journal}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |month= ถูกละเว้น (help)
  15. 15.0 15.1 Xu, Xiufeng (1 November 1996). "The Complete Mitochondrial DNA Sequence of the Greater Indian Rhinoceros, Rhinoceros unicornis, and the Phylogenetic Relationship Among Carnivora, Perissodactyla, and Artiodactyla (+ Cetacea)". Molecular Biology and Evolution. 13 (9): 1167–1173. PMID 8896369. สืบค้นเมื่อ 2007-11-04. {{cite journal}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |coauthors= ถูกละเว้น แนะนำ (|author=) (help)
  16. 16.0 16.1 Lacombat, Frédéric (2005). "The evolution of the rhinoceros". ใน Fulconis, R. (บ.ก.). Save the rhinos: EAZA Rhino Campaign 2005/6. London: European Association of Zoos and Aquaria. pp. 46–49.
  17. Tougard, C. (2001). "Phylogenetic relationships of the five extant rhinoceros species (Rhinocerotidae, Perissodactyla) based on mitochondrial cytochrome b and 12s rRNA genes". Molecular Phylogenetics and Evolution. 19 (1): 34–44. doi:10.1006/mpev.2000.0903. PMID 11286489. {{cite journal}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |coauthors= ถูกละเว้น แนะนำ (|author=) (help)
  18. Cerdeño, Esperanza (1995). "Cladistic Analysis of the Family Rhinocerotidae (Perissodactyla)" (PDF). Novitates. American Museum of Natural History (3143). ISSN 0003-0082. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2009-03-27. สืบค้นเมื่อ 2007-11-04.
  19. 19.0 19.1 19.2 19.3 van Strien, Nico (2005). "Javan Rhinoceros". ใน Fulconis, R. (บ.ก.). Save the rhinos: EAZA Rhino Campaign 2005/6. London: European Association of Zoos and Aquaria. pp. 75–79.
  20. Munro, Margaret (May 10, 2002). "Their trail is warm: Scientists are studying elusive rhinos by analyzing their feces". National Post.
  21. 21.0 21.1 21.2 21.3 Derr, Mark (July 11, 2006). "Racing to Know the Rarest of Rhinos, Before It's Too Late". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 2007-10-14.
  22. 22.0 22.1 Cranbook, Earl of (2007). "The Javan Rhinoceros Rhinoceros Sondaicus in Borneo" (PDF). The Raffles Bulletin of Zoology. University of Singapore. 55 (1): 217–220. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2013-04-15. สืบค้นเมื่อ 2007-11-04. {{cite journal}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |coauthors= ถูกละเว้น แนะนำ (|author=) (help)
  23. นายแพทย์ บุญส่ง เลขะกุล เหล่าแรด เก็บถาวร 2010-05-31 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนสารนิยมไพร ฉบับเยาวชน มกราคม พ.ศ. 2514
  24. แรดชวา[ลิงก์เสีย] กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
  25. แรด เก็บถาวร 2015-05-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ฐานข้อมูลชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคามในประเทศไทย
  26. 26.0 26.1 Corlett, Richard T. (2007). "The Impact of Hunting on the Mammalian Fauna of Tropical Asian Forests". Biotropica. 39 (3): 202–303. doi:10.1111/j.1744-7429.2007.00271.x.
  27. Ismail, Faezah (June 9, 1998). "On the horns of a dilemma". New Straits Times.
  28. Daltry, J.C. (2000). Cardamom Mountains biodiversity survey. Cambridge: Fauna and Flora International. {{cite book}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |coauthors= ถูกละเว้น แนะนำ (|author=) (help)
  29. 29.0 29.1 29.2 29.3 Hutchins, M. (2006). "Rhinoceros behaviour: implications for captive management and conservation". International Zoo Yearbook. Zoological Society of London. 40: 150–173. doi:10.1111/j.1748-1090.2006.00150.x. {{cite journal}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |coauthors= ถูกละเว้น แนะนำ (|author=) (help)
  30. 30.0 30.1 Stanley, Bruce (June 22, 1993). "Scientists Find Surviving Members of Rhino Species". Associated Press.
  31. Emslie, R. (1999). African Rhino. Status Survey and Conservation Action Plan. IUCN/SSC African Rhino Specialist Group. IUCN, Gland, Switzerland and Cambridge, UK. ISBN 2831705029. {{cite book}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |coauthors= ถูกละเว้น แนะนำ (|author=) (help)
  32. Dursin, Richel (January 16, 2001). "Environment-Indonesia: Javan Rhinoceros Remains At High Risk". Inter Press Service.
  33. 33.0 33.1 Williamson, Lucy (September 1, 2006). "Baby boom for near-extinct rhino". BBC News. สืบค้นเมื่อ 2007-10-16.
  34. Rare rhinos captured on camera in Indonesia, video, ABC News Online, 1 March 2011 (Expires: 30 May 2011)
  35. Raeburn, Paul (April 24, 1989). "World's Rarest Rhinos Found In War-Ravaged Region of Vietnam". Associated Press.
  36. "Javan Rhinoceros; Rare, mysterious, and highly threatened". องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล. March 28, 2007. สืบค้นเมื่อ 2007-11-04.
  37. "Rare Javan rhino found dead in Vietnam". WWF, 10 May 2010
  38. Kinver, Mark (2011-10-24). "Javan rhino 'now extinct in Vietnam'". BBC News. สืบค้นเมื่อ 2011-10-24.
  39. 39.0 39.1 ประกาศอย่างเป็นทางการ แรดชวาสูญพันธุ์แล้วในเวียดนาม เก็บถาวร 2011-10-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ผู้จัดการออนไลน์ สืบค้นเมื่อ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2554
  40. Gersmann, Hanna (25 October 2011). "Javan rhino driven to extinction in Vietnam, conservationists say". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 25 October 2011.
  41. http://wwf.panda.org/who_we_are/wwf_offices/vietnam/news/?202075/Inadequate-protection-causes-Javan-rhino-extinction-in-Vietnam
  42. Rookmaaker, L.C. (2005). "A Javan rhinoceros, Rhinoceros sondaicus, in Bali in 1839". Zoologische Garten. 75 (2): 129–131.
  43. de Longh, H. H.; Prins, H. H. T.; van Strien, N.; Rookmaaker, L. G. (2005). "Some observations on the presence of one-horned rhinos in the bas reliefs of the Angkor Wat temple complex, Cambodia" (PDF). Pachyderm. 38: 98–100.
  44. Poole, C. M.; Duckworth, J. W. (2005). "A documented 20th century record of Javan Rhinoceros Rhinoceros sondaicus from Cambodia". Mammalia. 69 (3–4). doi:10.1515/mamm.2005.039.
  45. Stönner, H. (1925). "Erklärung des Nashornreiters auf den Reliefs von Angkor-Vat". Artibus Asiae. 1 (2): 128–130. doi:10.2307/3248014. JSTOR 3248014.
  46. Switek, B. (2009). "Stegosaurus, Rhinoceros, or Hoax?". Smithsonian Magazine.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
pFad - Phonifier reborn

Pfad - The Proxy pFad of © 2024 Garber Painting. All rights reserved.

Note: This service is not intended for secure transactions such as banking, social media, email, or purchasing. Use at your own risk. We assume no liability whatsoever for broken pages.


Alternative Proxies:

Alternative Proxy

pFad Proxy

pFad v3 Proxy

pFad v4 Proxy