ข้ามไปเนื้อหา

ราพันเซล เจ้าหญิงผมยาวกับโจรซ่าจอมแสบ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ราพันเซล เจ้าหญิงผมยาวกับโจรซ่าจอมแสบ
Theatrical release poster
ใบปิดภาพยนตร์
กำกับ• นาธาน เกรโน (Nathan Greno)
• ไบรอน ฮาวเวิร์ด (Byron Howard)
บทภาพยนตร์แดน โฟเกิลแมน (Dan Fogelman)
สร้างจากราพันเซล ของ พี่น้องกริม
อำนวยการสร้าง• รอย คอนลี (Roy Conli)
• จอห์น แลสเซเทอร์ (John Lasseter)
• เกล็น คีแอน (Glen Keane)
นักแสดงนำ• แมนดี มัวร์ (Mandy Moore)
แซคารี ลีวาย (Zachary Levi)
• ดอนนา เมอร์ฟี (Donna Murphy)
ผู้บรรยายแซคารี ลีวาย (Zachary Levi)
ตัดต่อทิม เมอร์เท็นส์ (Tim Mertens)
ดนตรีประกอบเพลง:
อลัน เมนเคน (Alan Menken)
เนื้อเพลง:
เกล็น สเลเทอร์ (Glenn Slater)
บริษัทผู้สร้าง
ผู้จัดจำหน่ายวอลต์ดิสนีย์พิกเชอส์
วันฉาย 24 พฤศจิกายน 2553
3 มีนาคม 2554
ความยาว100 นาที[1]
ประเทศสหรัฐอเมริกา
ภาษาอังกฤษ
ทุนสร้าง260 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[2]
ทำเงิน592.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[2]

ราพันเซล เจ้าหญิงผมยาวกับโจรซ่าจอมแสบ[3] (อังกฤษ: Tangled) เป็น ภาพยนตร์เพลงแนวตลกร้ายและเพ้อฝันสัญชาติอเมริกัน วอลต์ดิสนีย์แอนิเมชันสตูดิโอส์สร้างด้วยคอมพิวเตอร์แอนิเมชันเมื่อ พ.ศ. 2553 และเป็นภาพยนตร์แอนิเมชันซึ่งฉายในโรงภาพยนตร์เป็นลำดับที่ 1 ของวอล์ดิสนีย์ มีเนื้อหาอิงเทวนิยายเยอรมันเรื่อง ราพันเซล (Rapunzel) ของพี่น้องกริม อย่างหยาบ ๆ และในภาคภาษาอังกฤษนั้น แมนดี มัวร์, ซาชารี เลวี และ ดอนนา เมอร์ฟีย์ ให้เสียงตัวละครเด่น ๆ [4]

เดิมชื่อภาษาอังกฤษของภาพยนตร์นี้คือ Rapunzel แต่ก่อนออกฉายเล็กน้อยได้เปลี่ยนเป็น Tangled ภาพยนตร์นี้ฉายในโรงภาพยนตร์ระบบสามมิติเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2553 ส่วนในประเทศไทย ฉายเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2554 นอกจากนี้เคยทำเป็นภาพยนตร์แอนิเมชัน บาร์บี้ ในชื่อตอนว่า Barbie as Rapunzel (บาร์บี้ เจ้าหญิงราพันเซล) เมื่อปี 2089 สร้างโดย แมทเทล และ ยูนิเวอร์แซล พิคเจอร์ อินเตอร์เนชันแนล[5] การจัดสร้างภาพยนตร์ใช้เวลาถึงหกปี และแอลเอไทมส์รายงานว่า ใช้ทุนไปราว ๆ สองร้อยหกสิบล้านดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นภาพยนตร์แอนิเมชันที่ใช้จ่ายเงินไปมากที่สุดทีเดียว[6]

เนื้อเรื่อง

[แก้]

หยาดแสงอาทิตย์หยาดหนึ่งตกลงสู่พื้นโลก และงอกงามขึ้นเป็นดอกไม้เรืองแสงสวยงามประกอบด้วยสรรพคุณเยียวยาความเจ็บป่วย หญิงชรานางหนึ่งชื่อว่า "กอเธล" พบเจอเข้า จึงใช้ดอกไม้นั้นเพื่อคงความเยาว์วัยดุจหญิงสาวของตนเอง โดยวิธีร้องเพลงมนตร์แก่ดอกไม้นั้นว่า "บุปผาเรืองแสงส่อง เปล่งฤทธาของเจ้า ช่วยย้อนวันให้เรา คืนสิ่งที่เคยได้ครอง" นางนำสุ่มมาครอบดอกไม้นั้นเพื่อเก็บไว้ใช้แต่ผู้เดียว

หลายร้อยปีผ่านไป เกิดมีอาณาจักรขึ้นบริเวณนั้น ราชินีอันเป็นที่รักแห่งอาณาจักรดังกล่าวประชวรขณะใกล้ให้ประสูติกาล ทหารและพลเมืองช่วยกันค้นหาวิธีแก้ไข และพบดอกไม้นั้นเข้าโดยบังเอิญ ราชินีทรงได้รับการรักษา และมีประสูติกาลแก่ธิดาพระนามว่า "ราพันเซล" ผู้มีเกศางามดังทอง และบัดนี้ เกศาของพระธิดากลายเป็นแหล่งสรรพคุณวิเศษของดอกไม้นั้นแทน ในคืนนั้น กอเธลลักพาพระธิดาไปซ่อนไว้ในหอคอยสูงกลางป่า แล้วเลี้ยงดูประดุจบุตรในอุทร เพื่อใช้ผมของราพันเซลช่วยให้ตนเองคงความเยาว์วัยต่อไป นางทราบดีว่า ถ้าตัดผมของราพันเซลออก ผมนั้นจะเสื่อมสรรพคุณ และเปลี่ยนจากสีทองเป็นสีน้ำตาลทันที ดังนั้น นางจึงปล่อยให้เกศาของราพันเซลยาวโดยมิได้ตัดเลย และมิให้ราพันเซลออกนอกหอคอยเลย ทั้งนี้ ทุก ๆ ปี ในวันคล้ายวันประสูติราพันเซล พระราชาและราษฎรของพระองค์จะปล่อยโคมลอยนับแสนดวงขึ้นสู่ฟ้า พวกเขาหวังว่าโคมลอยจะนำพาพระธิดาของพวกเขากลับมาอีกครั้ง

ในวันก่อนวันคล้ายวันประสูติปีที่สิบแปดของราพันเซล เธอขอให้กอเธลอนุญาตให้เธอออกไปดูโคมลอยนอกหอคอย แต่กอเธลไม่อนุญาต และให้สาเหตุว่า "โลกภายนอกมีแต่ภยันตรายและความชั่ว"

ขณะเดียวกัน กลุ่มโจรกลุ่มหนึ่ง นำโดย ฟลิน ไรเดอร์ ชายหนุ่มรูปงาม ได้ขโมยศิราภรณ์ของเจ้าหญิงผู้หายสาบสูญนั้นไปจากพระราชวัง ระหว่างที่เหล่าองครักษ์ไล่ตามกลุ่มโจรอย่างติดพันนั้น แม็กซิมัส ม้าของหัวหน้าองครักษ์ คลาดจากกลุ่มโดยไม่มีผู้ขี่ ม้าแม็กซิมัสจึงออกตามล่าฟลินเอง ในเวลานั้น ฟลินหลอกเอาศิราภรณ์ไปจากเพื่อนร่วมกลุ่ม แล้วหนีขึ้นไปซ่อนตัวที่หอคอยของราพันเซลซึ่งเขาพบโดยบังเอิญ แต่เขาถูกราพันเซลฟาดด้วยกระทะจนสลบไป เธอซ่อนเขาไว้ในตู้เสื้อผ้าของเธอ แล้วริบศิราภรณ์ไว้

เมื่อกอเธลกลับมา ราพันเซลขอให้นางไปเก็บเปลือกหอยมาให้เป็นของขวัญวันเกิดเพื่อนำมาทำสีระบายภาพ กอเธลยอมใช้เวลาเดินทางสามวันไปเอาของขวัญมาให้ ระหว่างนั้น ราพันเซลตกลงกับฟลินว่า ถ้าอยากได้ศิราภรณ์คืน ให้พาเธอออกไปนอกหอคอยเพื่อไปชมดูเหล่าโคมลอยที่เธอเข้าใจว่าเป็น "หมู่ดาว" ซึ่งปรากฏขึ้นทุก ๆ วันคล้ายวันเกิดของเธอ ฟลินพยายามให้ราพันเซลเลิกเดินทางแล้วกลับหอคอยไปเสีย โดยพาเธอไปค้างแรมที่ร้านลูกเป็ดหน่อมแน้ม (Snuggly Duckling Parlor) ที่เต็มไปด้วยคนเถื่อนชาวไวกิง ทว่า ชาวไวกิงกลับเอ็นดูราพันเซล และราพันเซลแนะนำให้พวกเขาทำความฝันของตนให้สำเร็จเหมือนที่เธอกำลังจะไปดูโคมลอยที่ฝันหามานาน

ระหว่างเดินทาง กอเธลพบม้าแม็กซิมัสที่ไม่มีคนขี่ และเกิดกังวลขึ้นมาว่า อาจมีคนไปพบราพันเซล จึงรีบกลีบไปยังหอคอย แต่พบว่า ราพันเซลไม่อยู่แล้ว ขณะนั้น เหล่าองครักษ์มาถึงร้านลูกเป็ดหน่อมแน้มเพื่อจับกุมฟลิน แต่ชาวไวกิงช่วยฟลินและราพันเซลหนีไปได้ การไล่ล่ายุติลงเมื่อม้าแม็กซิมัสทำให้เขื่อนแตก และฟลินกับราพันเซลติดอยู่ในถ้ำน้ำท่วมไร้ทางออก เมื่อคิดว่า ตนกำลังใกล้ความตาย เขาสารภาพว่า อันที่จริงตนเองชื่อ ยูจีน ฟิตซ์เฮอร์เบิร์ต ส่วนราพันเซลก็สารภาพว่า เธอมีเส้นผมวิเศษที่เรืองแสงได้เวลาที่เธอร้องเพลงมนต์ ทันใด ผมของเธอก็เรืองแสงขึ้นและชี้ทางออกให้แก่คนทั้งสอง ทั้งคู่จึงออกจากถ้ำปิดตายนั้นได้ และราพันเซลได้ใช้ผมของเธอเยียวยาบาดแผลของยูจีน คืนนั้น กอเธลติดตามมาพบราพันเซล และบอกเธอว่า ยูจีนไม่สนใจเธอจริง เขาประสงค์เพียงได้ศิราภรณ์เท่านั้น โดยกอเธลยืนยันให้ราพันเซลทดสอบยูจีนโดยคืนศิราภรณ์ให้ดู

เช้าวันต่อมา ม้าแม็กซิมัสพบยูจีน แต่ได้กลายเป็นเพื่อนกับราพันเซลไป และยอมร่วมทางไปกับคนทั้งสองเพื่อกลับอาณาจักรแล้วพาราพันเซลไปดูโคมลอย คืนนั้น ยูจีนพาราพันเซลล่องเรือไปกลางอ่าวหน้าพระราชวังเพื่อชมดูโคมลอยอย่างใกล้ ๆ ณ ที่นั้น ราพันเซลคืนศิราภรณ์ให้เขา แต่เขากล่าวว่า เขาไม่ต้องการมันอีกต่อไปแล้วเมื่อเขาได้พบเธอ ทันใด เขาสังเกตเห็นเพื่อนโจรของเขาที่เขาทิ้งมา เขาจึงละราพันเซลไปพบเพื่อนเพื่อยกศิราภรณ์ให้ ทว่า เพื่อนโจรจับเขามัดติดกับเรือแล้วให้แล่นเข้าไปในท่าของพระราชวัง พวกเขาบอกแก่ราพันเซลว่า ยูจีนทรยศความรู้สึกของเธอโดยชิงศิราภรณ์จากไปแล้ว และพวกเขาจะจับเธอเพื่อเอาผมเธอไปขายเสียเดี๋ยวนี้ แต่กอเธลช่วยราพันเซลไว้ได้ และพาเธอกลับหอคอย ทว่า ทั้งหมดนี้เป็นแผนการของกอเธล วันนั้น ยูจีนถูกจับและถูกพิพากษาประหารชีวิตด้วยการแขวนคอ ม้าแม็กซิมัสจึงนำพาชาวไวกิงที่ร้านลูกเป็ดหน่อมแน้มมาช่วยยูจีน และไปช่วยราพันเซลที่หอคอย

ราพันเซลคิดทบทวนเรื่องราวต่าง ๆ ที่ได้พบขณะเดินทางไปดูดูโคมลอย เธอจึงทราบว่า เธอคือเจ้าหญิงที่หายไปจากอาณาจักร และเธอพยายามหลบหนี กอเธอจึงจับเธอไว้ และเมื่อยูจีนมาถึงหอคอย กอเธลแทงเขาจากข้างหลัง แล้วกล่าวว่า นางจะพาราพันเซลหนีไปอยู่ที่อื่นแล้ว แต่ราพันเซลขอให้เธอให้ใช้ผมรักษายูจีนก่อน เธอจะยอมเป็นของกอเธลตลอดไป ก่อนราพันเซลจะได้ช่วยเยียวยายูจีน ยูจีนคว้าเศษกระจกมาตัดผมของราพันเซลเสียจนสั้น เส้นผมของราพันเซลจึงเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มและสูญเสียสรรพคุณไป กอเธลบันดาลโทสะเป็นอันมาก และร่างกายนางก็เปลี่ยนกลับสู่ความชราอย่างรวดเร็ว จนนางมิอาจยอมรับเงาของตนในกระจกได้ นางใช้ผ้าคลุมปิดหน้าตนเองไว้ ด้วยความโกรธและตื่นตกใจ นางวิ่งพล่านจนล้มคะมำพุ่งออกจากหน้าต่างหอคอยดิ่งลงสู่พื้นเบื้องล่าง ร่างกายของนางก็ร่วงโรยขึ้นเรื่อย ๆ ก่อนนางจะปะทะกับพื้นแล้วป่นเป็นเถ้ากระดูกไป

ยูจีนค่อย ๆ ตายลงในอ้อมแขนของราพันเซล ด้วยความเสียใจ ราพันเซลร้องไห้และร้องเพลงมนต์ หยาดน้ำตาของเธอหยดลงบนแก้มของยูจีน และยังให้เขาฟื้นจากความตายอีกครั้ง ทั้งสองกอดและจูบกัน แล้วพากันกลับอาณาจักร พระหทัยของราชาและราชินีนั้นท้นไปด้วยน้ำตาของความปีติที่ได้พบพระธิดาอีกครั้ง หลายปีต่อมา ยูจีนและราพันเซลเสกสมรสกัน ส่วนชาวไวกิงก็ทำความฝันของพวกตนให้เป็นจริง ฝ่ายม้าแม็กซิมัสนั้นก็ได้บรรจุเป็นเจ้าหน้าที่ชั้นสูงในกององครักษ์

ตัวละคร

[แก้]
ชื่อ พากย์
อังกฤษ[7] ไทย
ราพันเซล (Rapunzel) แมนดี มัวร์ (Mandy Moore) ชนนัยน์ สุขวัจน์
ยูจีน ฟิตซ์เฮอร์เบิร์ต (Eugene Fitzherbert)
หรือ ฟลิน ไรเดอร์ (Flynn Rider)
ซาชารี เลวี (Zachary Levi) อภินันท์ ธีระนันทกุล พูด
พิชญากร แช่มช้อย ร้อง
กอเธล (Gothel) ดอนนา เมอร์ฟีย์ (Donna Murphy) สุกานดา บุณยธรรมิก
พี่น้องสแตบบิงตัน (Stabbington Brothers) รอน เพิร์ลแมน (Ron Perlman) สปัลศิลป์ ศิริชัย
โจรมือตะขอ (Hook-Hand Thug) แบรด การ์เรต (Brad Garrett) เกรียงศักดิ์ เหรียญทอง พูด
กฤษณะ ศฤงคารนนท์ ร้อง
โจรจมูกใหญ่ (Big Nose Thug) เจฟฟรีย์ แทมเบอร์ (Jeffrey Tambor)
วแลเดมีร์ (Vladamir) ริชาร์ด คีเอล (Richard Kiel) สปัลศิลป์ ศิริชัย
โจรเตี้ย (Short Thug) พอล เอฟ. ทอมป์กินส์ (Paul F. Tompkins) เอกชัย พงศ์สมัย
โจรเลิฟลอร์น (Lovelorn Thug) กฤษณะ ศฤงคารนนท์
หัวหน้าราชองครักษ์ (Captain of the Guard) เอ็ม. ซี. เกนีย์ (M. C. Gainey) เกรียงศักดิ์ เหรียญทอง
ราชองครักษ์ (Guard) ทอม เคนนีย์ (Tom Kenny)
พาสกาล (Pascal) แฟรงก์ เวลเกอร์ (Frank Welker)
แม็กซิมัส (Maximus)
หมายเหตุ:     = ไม่ทราบ   และ     = ใช้เสียงดั้งเดิม

อนึ่ง ในฉบับภาษาไทยนั้น นอกจาก กฤษณะ ศฤงคารนนท์ จะพากย์ด้วยแล้ว เขายังเป็นผู้กำกับการพากย์ด้วย ส่วนบทภาษาไทยนั้น ธนัชชา ศักดิ์สยามกุล แปล

การผลิต

[แก้]

ระยะเวลาและกำหนดการ

[แก้]

แอลเอไทมส์รายงานว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ใช้เวลาพัฒนาถึงหกปี และใช้เงินไปมากกว่าสองร้อยหกสิบล้านดอลลาร์สหรัฐ[6]

เดิมทีในเดือนเมษายน 2550 มีการประกาศว่า จะให้ ดีน เวลลินส์ (Dean Wellins) นักแอนิเมชันและนักเขียนเรื่องผู้เคยได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลแอนนี มาร่วมกำกับภาพยนตร์นี้กับ เกล็น คีแอน (Glen Keane)[8] วันที่ 9 ตุลาคม ปีถัดมา มีรายงานว่า ทั้งคู่ลาออก และมีการแต่งตั้ง ไบรอน ฮาวเวิร์ด (Byron Howard) กับ นาธาน เกรโน (Nathan Greno) และคณะ มาแทนที่ คณะของฮาวเวิร์ดเคยทำงานให้แก่ดิสนีย์ในภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก เรื่อง ซูเปอร์โฮ่ง ฮีโร่หัวใจเต็มร้อย (Bolt) มาก่อน โดยคีแอนที่ลาออกจากตำแหน่งผู้กำกับนั้นจะไปเป็นผู้อำนวยการบริหารการผลิตและผู้ควบคุมแอนิเมชัน ส่วนเวลลินส์จะไปทำภาพยนตร์สั้นเรื่องอื่น[9]

การเปลี่ยนชื่อ

[แก้]
ตราสัญลักษณ์อย่างเป็นทางการของ Rapunzel ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็น Tangled

ในเบื้องต้น มีการโฆษณาภาพยนตร์เรื่องนี้โดยใช้ชื่อว่า Rapunzel Unbraided ("ราพันเซลไม่ได้ถักเปียนะ") แล้วเปลี่ยนเป็น Rapunzel ("ราพันเซล") เฉย ๆ[10]

เนื่องจากดิสนีย์เห็นว่า ภาพยนตร์เรื่องก่อนหน้า มหัศจรรย์มนต์รักเจ้าชายกบ ที่ฉายในปี 2551 นั้น ยังไม่ได้ดั่งใจ ถึงแม้ว่า ภาพยนตร์นี้จะได้รับคำวิพาษ์วิจารณ์ไปในทางบวก และนำรายได้จากทั่วโลกมาเกือบสองร้อยเจ็ดสิบล้านดอลลาร์สหรัฐก็ตาม ประกอบกับดิสนีย์มองว่า หากภาพยนตร์เรื่องใหม่นั้นใช้ชื่อ Rapunzel จะไม่จูงใจเด็กหนุ่มมาชมดู[11] [12] ดิสนีย์จึงเปลี่ยนชื่อภาพยนตร์เรื่องใหม่อีกครั้ง จาก Rapunzel เป็น Tangled ("อีนุงตุงนัง") โดยคาดว่าน่าจะจูงใจทั้งหญิงทั้งชายมากขึ้น และจะได้เน้นย้ำบทบาทของฟลิน ไรเดอร์ พระเอกของเรื่อง มากขึ้นด้วย[12]

ในครั้งนี้ ดิสนีย์ถูกประณามเป็นอันมากกว่า ละทิ้งชื่อที่เป็นแบบแผนไปเพียงเพื่อประโยชน์ทางการตลาด โดย ฟลอยด์ นอร์แมน อดีตนักแอนิเมชันและนักเขียนเรื่องของดิสนีย์และพิกซาร์ แถลงว่า "ไอ้แนวความคิดเรื่องเปลี่ยนชื่อคลาสสิก ๆ อย่าง 'ราพันเซล' ไปเป็น 'อีนุงตุงนัง นี่ ผมว่ามันโฉดเขลาสิ้นดี ผมฟันธงเลยว่า เขาจะไม่ได้อะไรจากการเปลี่ยนชื่อนี้ จะได้อย่างเดียวก็แต่การถูกผู้คนมองว่าดิสนีย์พยายามหาคนมาดูหนังเพิ่ม"[13] และ จัสติน ชาง (Justin Chang) จากนิตยสารวาไรอิที (Variety) เปรียบว่า การกระทำครั้งนี้ของดิสนีย์ เหมือนกับเปลี่ยนชื่อ The Little Mermaid ("เงือกน้อยผจญภัย") ไปเป็น Beached ("เกยตื้น")[14]

วันที่ 24 พฤศจิกายน 2553 อันเป็นวันที่เผยแพร่ภาพยนตร์ครั้งแรก ผู้กำกับภาพยนตร์ทั้งสองคนแถลงว่า การเปลี่ยนชื่อมิใช่การตัดสินใจเพื่อการตลาด แต่เพราะว่า ราพันเซลไม่ใช่ตัวเอกเพียงคนเดียวของเรื่อง แต่เป็นทั้งราพันเซลและฟลิน ไรเดอร์ ผู้กำกับทั้งคู่กล่าวด้วยว่า "ก็เหมือนกับที่คุณจะไปเรียก Toy Story ("ทอยสตอรี") ว่า Buzz Lightyear ("บัซ ไลต์เยียร์" ตัวเอกของเรื่องคู่กับ นายอำเภอวูดี) นั้นก็ไม่ได้อยู่แล้ว" และว่า พวกตนต้องการชื่อที่แสดงถึงแก่นเรื่องอย่างแท้จริงเท่านั้น[15]

แอนิเมชัน

[แก้]
รูปแบบของราพันเซล ที่ผู้กำกับคีแอนต้องการให้มี "ผมสวย"

ภาพยนตร์นี้ทำขึ้นโดยใช้เทคโนโลยีที่เรียก การสร้างจินตภาพด้วยคอมพิวเตอร์ (computer-generated imagery) แต่ก็อ้างอิงภาพลักษณ์แบบดั้งเดิมจากภาพเขียนผ้าใบเก่า ๆ ด้วย มีการใช้ชุดภาพเขียนโรโกโกของ ฌ็อง-ออนอเร ฟราโฌนาร์ (Jean-Honoré Fragonard) จิตรกรชาวฝรั่งเศส โดยเฉพาะภาพ เดอะสวิง (The Swing) มาใช้เป็นแนวทางศิลปะของภาพยนตร์ เพราะผู้กำกับคีแอนเห็นว่าเป็นผลงานที่ "ทั้งน่าเพ้อฝัน ทั้งงามงดสดใส"[16]

ผู้กำกับคีแอนประสงค์ให้รูปลักษณ์และสัมผัสในภาพยนตร์เป็นแบบที่ดิสนีย์เคยวาดด้วยมือแต่ก่อน แต่ในรูปแบบสามมิติ เขาจึงจัดการสัมมนาชื่อ "ของดีจากสองโลก" (The Best of Both Worlds) เพื่อให้จิตรกรคอมพิวเตอร์กราฟิก และจิตรกรวาดมือ จำนวนห้าสิบคน ของดิสนีย์ มาถกกันเรื่องข้อดีข้อด้อยของการวาดมือและระบบสามมิติ[17] เพราะมีข้อจำกัดบางประการทางเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ภาพยนตร์สร้างด้วยเทคโนโลยีการสร้างจินตภาพด้วยคอมพิวเตอร์จึงไม่เคยใช้งานที่ทำงานมือเลย แต่ในสมัยหลัง เทคโนโลยีพัฒนาขึ้นมาก ทำให้สามารถผสมผสาน "งานทำมือ" และ "งานทำคอมป์" เข้าด้วยกันได้ แล้วเลือกใช้จุดที่ดีที่สุดของทั้งสอง คีแอนเน้นย้ำว่า เขาพยายามให้คอมพิวเตอร์ "คำนับจิตรกรวาดมือ" มากกว่าให้คอมพิวเตอร์ครองโลกศิลปะ เขากล่าวด้วยว่า เขาประสบความสำเร็จในการทำให้คอมพิวเตอร์ "ว่าง่ายอย่างดินสอ" และเรียกทัศนคติของเขาว่า "การวาดภาพสามมิติ" (three dimensional drawing) ด้วยเทคโนโลยีอันอยู่ในความควบคุมของจิตกร เมื่อเริ่มงาน เครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ ที่คีแอนต้องการมีเพื่อให้ผลงานออกมามีคุณภาพสูงนั้น ยังไม่มีในพื้นโลก ดิสนีย์แอนิเมชันสตูอิโอส์จึงต้องสร้างสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาเอง[16] คีแอนกล่าวว่า "มันไม่มีเส้นผมเสมือนจริงเหมือนถ่ายรูปเอาได้ ผมอยากได้ผมสวย แล้วเราก็เลยประดิษฐ์หนทางใหม่สำหรับให้ได้ผมสวยนั้น ผมอยากให้ประะสมความอบอุ่นและความรู้แจ้งเห็นจริงแบบใช้มือวาดเข้าไปในซีจีไอ [การสร้างจินตภาพด้วยคอมพิวเตอร์]"[18]

เป้าหมายหลักเป้าหมายหนึ่งของนักแอนิเมชันคือ สร้างความเคลื่อนไหวของสรรพสิ่งให้ดูนุ่มนวลเหมือนวาดมืออย่างในภาพยนตร์เก่า ๆ ของดิสนีย์ คีแอนยกเรื่องนี้ให้เป็นผลงานของ ไคล์ สตราวิตซ์ (Kyle Strawitz) นักแอนิเมชันสามมิติของดิสนีย เขากล่าวว่า สตราวิตซ์ "เอาบ้านมากจากเรื่องสโนว์ไวต์ แล้วสร้างมัน เขาระบายสีมัน เพื่อให้มันดูเป็นบ้านแบนเรียบ แต่ทันใด มันก็เคลื่อนไหวได้ แล้วก็มีมติ เขาเก็บรายละเอียดทุกอย่างราวกับเป็นความนุ่มนวลและโค้งควับแห่งแปรงสีน้ำ ไคล์ช่วยให้เราได้ผู้หญิงในภาพ สวิง ของฟราโฌนาร์...เรากำลังใช้...เทคนิคทันสมัยที่สุดเพื่อทำให้เกิดบุคลิกมนุษย์เสมือนจริงจนใครก็เถียงไม่ได้ และก็ให้เกิดบรรยากาศพร้อมสรรพด้วย"[16]

อย่างไรก็ดี เทคโนโลยีการสร้างจินตภาพด้วยคอมพิวเตอร์ที่มีนั้นยังมีข้อขัดข้องอยู่บ้าง โดยเฉพาะในเรื่องจัดการเส้นผมของราพันเซล เคลลี วาร์ด (Kelly Ward) วิศวกรซอฟต์แวร์ชั้นผู้ใหญ่ของดิสนีย์ จึงสละเวลาหกปีนั่งเขียนโปรแกรมขึ้นมา เพื่อทำให้ควบคุมเส้นผมของราพันเซลได้ตามต้องการ[19] เขาพัฒนาโปรแกรมจำลองการเคลื่อนไหวของเส้นผมชื่อ "ไดนามิกไวรส์" (Dynamic Wires) และเคยนำโปรแกรมนี้ไปใช้ในภาพยนตร์เรื่อง ซูเปอร์โฮ่ง ฮีโร่หัวใจเต็มร้อย โปรแกรมดังกล่าวยุติความกังวลของเหล่าผู้กำกับในเรื่องเส้นผมยาวสลวยของราพันเซลได้ในเดือนมีนาคม 2553[20]

นอกจากนี้ ยังมีการใช้เทคโนโลยีเรขาคณิตแยกส่วนต่างอย่างเด่นชัด (discrete differential geometry) เพื่อสร้างผลตามที่ต้องการและพิชิตความยากลำบากบางประการในเรื่องผมของราพันเซล โดยเฉพาะเพื่อให้ผมพลิวไสวเมื่อต้องลม และลอยไปตามน้ำได้อย่างไม่น่าเชื่อ เทคโนโลยีดังกล่าวยังให้นักแอนิเมชันทำหน้าที่อันเฉพาะเจาะจงของตนได้ดังใจ จากที่เดิมต้องใช้เวลาหลายวันก็ลดลงเหลือเพียงไม่กี่นาที[21]

คณะทำงานฝ่ายสามมิติได้ตั้งอยู่บทการเข้าถึงความสุนทรีย์ทางศิลปะ มากกว่าจะเพ่งเป้าหมายไปยังความเหมือนจริง โรเบิร์ต นิวแมน (Robert Neuman) ผู้ควบคุมมุมมองสามมิติของภาพยนตร์ กล่าวว่า "เรากำลังจมดิ่งสู่ความนุ่มลึกอย่างเป็นศิลปะมากกว่าครั้งไหน ๆ และเราก็ไม่ได้ใส่จะถ่ายทอดความลึกซึ้งของกล้องกับมุมภาพอย่างตรงไปตรงมา หากเราใฝ่ใจจะตีความมันมากกว่า" ในการนี้ คณะทำงานได้ใช้เทคโนโลยีใหม่ที่เรียก "มัลติ-ริกกิง" (multi-rigging) ที่สร้างขึ้นจากกล้องเสมือนจริงจำนวนหลายคู่ แต่ละคู่ทำหน้าที่อย่างเป็นเอกเทศของตนในแต่ละองค์ประกอบเป็นราย ๆ ไป โดยจะเพิ่มความลึกซึ้งให้แก่ฉาก เช่น ในฉากหลัง, ฉากหน้า และลีลาตัวละคร โดยไม่เกี่ยวโยงกับกล้องคู่อื่น ๆ เลย พอนำกล้องทั้งหมดมาประสมกันในการผลิตขั้นตอนต่อมา จะได้ผลลัพธ์เป็น "อะไรบางอย่างที่เป็นไปไม่ได้โดยทัศนวิสัยในโลกจริง แต่ก็สร้างภาพลักษณ์น่าดึงดูดให้แก่ภาพยนตร์"[22]

เพลงประกอบภาพยนตร์

[แก้]
ราพันเซล เจ้าหญิงผมยาวกับโจรซ่าจอมแสบ: เพลงประกอบภาพยนตร์ต้นฉบับ
Tangled: Original Soundtrack
ซาวด์แทร็กอัลบั้มโดย
วางตลาด16 พฤศจิกายน 2553
บันทึกเสียง2553
แนวเพลงลูกทุ่งร็อก, มัชฌิมยุค, ประกอบภาพยนตร์
ค่ายเพลงวอลต์ดิสนีย์

เพลงประกอบภาพยนตร์ต้นฉบับนั้น อลัน เมนเคน (Alan Menken) ผู้ได้รับรางวัลอะแคเดมีอะวอดส์ถึงแปดครั้ง รับหน้าที่ประพันธ์ และเกล็น สเลเทอร์ (Glenn Slater) เขียนเนื้อร้อง[23] เมนเคนกล่าวว่า เขาพยายามประสมดนตรีแบบมัชฌิมยุคเข้ากลับเพลงลูกทุ่งแนวร็อกในยุค 1960 เพื่อให้เกิดแนวเพลงใหม่ ๆ[24]

ลำดับชื่อเพลงร้อง/บรรเลงยาว
1."When Will My Life Begin?
(ท. "เมื่อไรชีวิตจะเริ่มต้น")"
แมนดี มัวร์
(ชนนัยน์ สุขวัจน์)
2:32
2."When Will My Life Begin? (Reprise 1)
(ท. "เมื่อไรชีวิตจะเริ่มต้น (รีไพรส์ 1)")"
มัวร์
(ชนนัยน์ สุขวัจน์)
1:03
3."Mother Knows Best?
(ท. "แม่รู้กว่าใคร")"
ดอนนา เมอร์ฟีย์
(สุกานดา บุณยธรรมิก)
3:10
4."When Will My Life Begin? (Reprise 2)
(ท. "เมื่อไรชีวิตจะเริ่มต้น (รีไพรส์ 2)")"
มัวร์
(ชนนัยน์ สุขวัจน์)
2:06
5."I've Got a Dream
(ท. "ฉันมีความฝัน")"
แบรด การ์แรต, เจฟฟรีย์ แทมบอร์,
มัวร์, ซาชารี เลวี, และคนอื่น ๆ
(ชนนัยน์ สุขวัจน์, สุเมธ องอาจ,
พิชญากร แช่มช้อย,
กิตติคุณ สดประเสริฐ, ธานี พูนสุวรรณ)
3:11
6."Mother Knows Best (Reprise)
(ท."แม่รู้กว่าใคร (รีไพรส์)")"
เมอร์ฟีย์
(สุกานดา บุณยธรรมิก)
1:38
7."I See the Light
(ท. "เห็นแสงประกาย")"
มัวร์, เลวี
(ชนนัยน์ สุขวัจน์, สุเมธ องอาจ)
3:44
8."Healing Incantation
(ท. "บทเพลงรักษา")"
มัวร์
(ชนนัยน์ สุขวัจน์)
0:54
9."Flynn Wanted"อลัม เมนเคน2:51
10."Prologue"เมอร์ฟีย์, เดลานี สเตน2:02
11."Horse with No Rider"เมนเคน1:57
12."Escape Route""1:57
13."Campfire""3:21
14."Kingdom Dance""2:20
15."Waiting For the Lights""2:47
16."Return to Mother""2:06
17."Realization and Escape""5:50
18."The Tear Heals"เมนเคน, มัวร์7:37
19."Kingdom Celebration"เมนเคน1:50
20."Something That I Want"เกรซ พอตเตอร์2:43

เพลงหลายเพลงถูกตัดออกจากภาพยนตร์ เช่น "What More Could I Ever Need?" ที่ใช้เพลง "When Will My Life Begin?" ซึ่งแต่งขึ้นใหม่แทน นอกจากนี้ เมนเคนยังกล่าวว่า เขาแต่งเพลงสำหรับตอนเริ่มภาพยนตร์เอาไว้ถึงห้าหกเพลง[25]

อนึ่ง เมนเคนยังให้สัมภาษณ์ว่า เดิมเขาแต่งเพลงรักที่ชื่อ "You Are My Forever" ให้กอเธลร้องต่อราพันเซลในแนวแม่ลูก แต่ได้ตัดเพลงดังกล่าว เพราะต้องการให้ฟลิน ไรเดอร์ ร้องเพลงแนวรักใคร่กับราพันเซลแทน โดยเปลี่ยนไปให้กอเธลร้องเพลง "Mother Knows Best" และให้ฟลินกับราพันเซลร้อง "I See the Light"[26]

ภาพยนตร์นี้ปิดด้วยเพลง "Something That I Want" ที่ เกรซ พอตเตอร์ (Grace Potter) จากวงร็อกสัญชาติอเมริกันชื่อ เกรซพอตเตอร์แอนด์น็อกเทอร์นัลส์ (Grace Potter and the Nocturnals) ร้อง เพลงนี้พอตเทอร์ปรับปรุงเนื้อร้องเองด้วย ส่วนในภาพยนตร์ที่พากย์ภาษาสเปนนั้น เพลงดังกล่าวได้รับการแปลเป็นภาษาสเปน ชื่อ "Algo Quiero Querer" แล้วให้ แฟนนี ลู (Fanny Lú) ขับร้อง[27]

อัลบัมเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้อยู่อันดับที่ 44 ในบิลบอร์ด 200, อันดับที่ 27 ในสถิติเพลงประกอบภาพยนตร์ และอันดับที่ 3 ในสถิติอัลบัมเพลงเด็ก[28][29][30]

ส่วนในฉบับภาษาไทยนั้น ธานี พูนสุวรรณ แปลเนื้อร้อง และสุกานดา บุณยธรรมิก กำกับการร้อง ทั้งคู่ยังร่วมร้องบางเพลงด้วย บันทึกเสียงทั้งพูดและร้องที่เกคโค สตูดิโอ คอมเพล็กซ์ ภายในการควบคุมของ บริษัทดิสนีย์แคแรกเตอร์วอยเซสอินเทอร์เนชันนัล (Disney Character Voices International, Inc)

รางวัล

[แก้]

ภาพยนตร์นี้ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลหลายสิบรางวัล สมาคมผู้สื่อข่าวต่างชาติประจำฮอลลีวูด (Hollywood Foreign Press Association) ส่งเข้าชิงรางวัลลูกโลกทองคำ (Golden Globe Awards) สองสาขา คือ ภาพยนตร์แอนิเมชันยอดเยี่ยม และเพลงต้นฉบับยอดเยี่ยมสำหรับเพลง "I See the Light" แต่สาขาแรกแพ้ให้แก่ ทอยสตอรี 3 (Toy Story 3) ของดิสนีย์ด้วยกันเอง และสาขาที่สองพ่ายต่อ บาร์รัก เวทีร้อน (Burlesque) สมาคมผู้สื่อข่าวต่างชาติแห่งฮอลลีวูดยังเสนอให้ชิงรางวัลแอนนี (Annie Awards) สองสาขา คือ ภาพยนตร์แอนิเมชันยอดเยี่ยม และบทภาพยนตร์แอนมิชันยอดเยี่ยม

อนึ่ง ภาพยนตร์นี้ยังได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลสมาคมวิจารณ์ภาพยนตร์ฟินิกซ์ (Phoenix Film Critics Society Awards) สองสาขา คือ ภาพยนตร์แอนิเมชันยอดเยี่ยม และเพลงต้นฉบับยอดเยี่ยมสำหรับเพลง "I've Got a Dream" แต่ก็แพ้แก่ ทอยสตอรี 3 กับ บาร์รัก เวทีร้อน ตามลำดับ และเพลง "I See the Light" ยังได้เข้าชิงสาขาเพลงต้นฉบับยอดเยี่ยมในรางวัลอะแคเดมีครั้งที่ 83 (83rd Academy Awards) ด้วย ทว่า แพ้ให้แก่เพลง "We Belong Together" จาก ทอยสตอรี 3 ไปอีกหน ภาพยนตร์นี้ยังได้รับการส่งเข้าชิงรางวัลแซตเทิร์นสำหรับภาพยนตร์แอนิเมชันยอดเยี่ยม (Saturn Award for Best Animated Film) ครั้งที่ 37 ด้วย

อย่างไรก็ดี ภาพยนตร์เรื่องนี้ชนะเลิศสาขาฉากสามมิติยอดเยี่ยมแห่งปี (best 3D scene of the year) ใน รางวัลสมาคมศิลปะสร้างสรรค์สามมิติระหว่างประเทศ (International 3D Society Creative Arts Awards) ครั้งที่สอง[31]

รางวัล สาขา ผลลัพธ์
รางวัลอะแคเดมีครั้งที่ 83 (83rd Academy Awards)[32] เพลงยอดเยี่ยม ("I See the Light") เสนอชื่อเข้าชิง
รางวัลแอนนีครั้งที่ 38 (38th Annie Awards)[33] Best Animated Feature Film เสนอชื่อเข้าชิง
บทภาพยนตร์แอนมิชันยอดเยี่ยม [แดน ฟอเกิลแมน (Dan Fogelman)] เสนอชื่อเข้าชิง
รางวัลสมาคมวิจารณ์ภาพยนตร์แพร่ภาพกระจายเสียง 2010 (Broadcast Film Critics Association Awards 2010)[34] ภาพยนตร์แอนิเมชันยอดเยี่ยม เสนอชื่อเข้าชิง
เพลงยอดเยี่ยม ("I See the Light") เสนอชื่อเข้าชิง
รางวัลลูกโลกทองคำครั้งที่ 68 (68th Golden Globe Awards)[35] ภาพยนตร์แอนิเมชันยอดเยี่ยม เสนอชื่อเข้าชิง
เพลงยอดเยี่ยม ("I See the Light") เสนอชื่อเข้าชิง
รางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ 2010 (National Movie Awards 2010) แอนิเมชัน ชนะ
รางวัลสมาคมวิจารณ์ภาพยนตร์ฟินิกซ์ (Phoenix Film Critics Society Awards)[36] ภาพยนตร์แอนิเมชันยอดเยี่ยม เสนอชื่อเข้าชิง
เพลงยอดเยี่ยม ("I've Got a Dream") เสนอชื่อเข้าชิง
รางวัลแซตเทิร์นครั้งที่ 37 (37th Saturn Awards) ภาพยนตร์แอนิเมชันยอดเยี่ยม เสนอชื่อเข้าชิง
รางวัลสมาคมศิลปะสร้างสรรค์สามมิติระหว่างประเทศ (International 3D Society Creative Arts Awards) ครั้งที่สอง (พ.ศ. 2554)[31] ฉากสามมิติยอดเยี่ยมแห่งปี ชนะ
รางวัลทีนชอยส์ 2011 (2011 Teen Choice Awards)[37] ตัวเลือกประเภทภาพยตร์ - แอนิเมชัน เสนอชื่อเข้าชิง
ตัวเลือกประเภทเสียงพากย์ภาพยนตร์แอนิเมชัน (ซาชารี เลวี) เสนอชื่อเข้าชิง

อ้างอิง

[แก้]
  1. Tangled: 100 minutes (Starz 08/2011 Schedule, Page 4)
  2. 2.0 2.1 "Tangled (2010)". Box Office Mojo. สืบค้นเมื่อ 2011-05-25.
  3. "ปกดีวีดี". สืบค้นเมื่อ 2011-11-23.[ลิงก์เสีย]
  4. "Walt Disney Studios Rolls Out Slate of 10 New Animated Motion Pictures Through 2012". PR Newswire. สืบค้นเมื่อ 2010-11-23.
  5. "Disney Pictures Home Page". Disney.go.com. Disney. สืบค้นเมื่อ 2009-12-24.
  6. 6.0 6.1 Chmielewski, Dawn C.; Eller, Claudia (November 21, 2010). "Disney Animation is closing the book on fairy tales". Los Angeles Times. สืบค้นเมื่อ 2010-11-23.
  7. IMDb (2010). "Full cast and crew for Tangled". สืบค้นเมื่อ 12 กรกฎาคม 2011.
  8. "Rapunzel Gets Second Director". The Laughing Place. April 12, 2007. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-01-07. สืบค้นเมื่อ November 23, 2010.
  9. "Ain't It Cool News: Glen Keane leaving Disney's RAPUNZEL. Who's stepping up?". AintItCool.com. October 10, 2008. สืบค้นเมื่อ March 13, 2011.
  10. Jim Hill (2005-08-08). ""Rapunzel Unbraided" aims to be " ... a film of astonishing beauty."". Jim Hill Media. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-01-21. สืบค้นเมื่อ 2010-10-06.
  11. "The Princess and the Frog @ Yahoo Movies". Yahoo listing of mainstream reviews. สืบค้นเมื่อ April 11, 2011.
  12. 12.0 12.1 Dawn C. Chmielewski & Claudia Eller (2010-03-09). "Disney restyles 'Rapunzel' to appeal to boys". Los Angeles Times. สืบค้นเมื่อ 2010-03-12.
  13. Claudia Eller (2010-03-09). "Disney wrings the pink out of 'Rapunzel'". Los Angeles Times. The idea of changing the title of a classic like Rapunzel to Tangled is beyond stupid. I'm convinced they'll gain nothing from this except the public seeing Disney as desperately trying to find an audience.
  14. Justin Chang. "'Tangled' Review". Variety. สืบค้นเมื่อ 2011-03-23.
  15. "How did Rapunzel become 'Tangled'? Directors Nathan Greno and Byron Howard set the record straight". Entertainment Weekly. Time Inc. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-06-19. สืบค้นเมื่อ 2011-03-23.
  16. 16.0 16.1 16.2 Desowitz, Bill (November 4, 2005). "Chicken Little & Beyond: Disney Rediscovers its Legacy Through 3D Animation". Animation World Network. สืบค้นเมื่อ July 5, 2006.
  17. Holson, Laura M. (2005-09-18). "Disney Moves Away From Hand-Drawn Animation". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 2006-06-05.
  18. Bill Desowitz (2006-09-08). "'Little Mermaid' Team Discusses Disney Past and Present". AWN.com. สืบค้นเมื่อ 2011-01-21.
  19. "Roundtable Interview with Glen Keane". DAPs. March 17, 2011. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ September 21, 2012. สืบค้นเมื่อ April 11, 2011.
  20. "'Tangled' directors unravel film's secrets". SiouxCityJournal.com. December 5, 2010. สืบค้นเมื่อ December 8, 2010.
  21. Patricia Cohen (December 29, 2010). "Perfecting Animation, via Science". NYTimes.com. สืบค้นเมื่อ December 12, 2012.
  22. "Get 'Tangled' up in hair-raising 3D!". The Manila Bulletin Newspaper Online. January 24, 2011. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ January 30, 2011. สืบค้นเมื่อ June 20, 2011.
  23. Graham, Bill (2010-09-27). "Alan Menken Exclusive Interview Tangled". Collider.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-12-01. สืบค้นเมื่อ 2010-11-26.
  24. Hammond, Pete (2010-09-09). "Oscar's Animation Race Just Got 'Tangled'". Deadline Hollywood. สืบค้นเมื่อ 2010-11-26.
  25. "Alan Menken Talks 'Tangled', 'Sister Act', 'Leap of Faith', 'The Hunchback of Notre Dame', 'Aladdin' & More". BroadwayWorld.com. 2010-11-15. สืบค้นเมื่อ 2010-11-23.
  26. "Tangled". Animated Views Forum. สืบค้นเมื่อ November 23, 2010.
  27. "Fanny Lu canta para Walt Disney". Elespectador.com. สืบค้นเมื่อ March 13, 2011.
  28. "Music Albums, Top 200 Albums & Music Album Charts". Billboard.com. สืบค้นเมื่อ March 13, 2011.
  29. "Soundtracks". Billboard.com. สืบค้นเมื่อ March 13, 2011.
  30. "Kids Albums". Billboard.com. สืบค้นเมื่อ March 13, 2011.
  31. 31.0 31.1 "Dragon, Pixar, Disney top 3D Society Creative Arts Awards". AnimationMagazine.net. สืบค้นเมื่อ February 10, 2011.
  32. "Academy Awards nomination list". TheState.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-04-05. สืบค้นเมื่อ January 25, 2011.
  33. "The Annie Awards". AnnieAwards.org. สืบค้นเมื่อ December 16, 2010.
  34. "'Black Swan' leads Critics' Choice nominations". insidemovies.ew.com. สืบค้นเมื่อ March 16, 2011.
  35. Reynolds, Simon (December 14, 2010). "In Full: Golden Globes - Movie Nominees". Digital Spy. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-10-19. สืบค้นเมื่อ December 14, 2010.
  36. "Phoenix Film Critics Name THE KINGS SPEECH Best Film of 2010". Phoenix Film Critics Society. 2010-12-29. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-12-30. สืบค้นเมื่อ 2010-12-29.
  37. "Teen Choice Awards Nominees – 2011 List". NationalLedger.com. June 29, 2011. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-03-09. สืบค้นเมื่อ July 1, 2011.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
pFad - Phonifier reborn

Pfad - The Proxy pFad of © 2024 Garber Painting. All rights reserved.

Note: This service is not intended for secure transactions such as banking, social media, email, or purchasing. Use at your own risk. We assume no liability whatsoever for broken pages.


Alternative Proxies:

Alternative Proxy

pFad Proxy

pFad v3 Proxy

pFad v4 Proxy