ข้ามไปเนื้อหา

วงศ์กิ้งก่าคาเมเลี่ยน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Chamaeleonidae)
กิ้งก่าคาเมเลี่ยน
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: สมัยไมโอซีนตอนต้น-ปัจจุบัน, 26–0Ma
Chamaeleo zeylanicus
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Reptilia
อันดับ: Squamata
อันดับย่อย: Iguania
อันดับฐาน: Acrodonta
วงศ์: Chamaeleonidae
สกุล
      Native range of Chamaeleonidae

วงศ์กิ้งก่าคาเมเลี่ยน (อังกฤษ: Chameleon) เป็นวงศ์ของสัตว์เลื้อยคลานจำพวกกิ้งก่า ใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Chamaeleonidae

ลักษณะ

[แก้]

เป็นกิ้งก่าที่มีรยางค์ขาและมีลักษณะจำเพาะคือ ลำตัวแบนข้างมาก หางมีกล้ามเนื้อเจริญและใช้ยึดพันกิ่งไม้ได้ บนหัวและด้านหลังของคอมีสันเจริญขึ้นมาปกคลุม นิ้วเท้าแยกจากกันเป็นสองกลุ่ม คือ 2 นิ้วกับ 3 นิ้ว และอยู่ตรงกันข้ามกัน โดยนิ้วเท้าของขาหน้าเป็นกลุ่มของนิ้วที่ 1, 2 และ 3 และกลุ่มของนิ้วที่ 4 และ 5 ส่วนนิ้วเท้าของขาหลังเป็นกลุ่มของนิ้วที่ 1 และ 2 และกลุ่มของนิ้วที่ 3, 4 และ 5 ซึ่งเป็นการปรับปรุงเพื่ออาศัยบนต้นไม้โดยใช้ยึดติดกับกิ่งไม้

นอกจากนี้แล้วยังสามารถยืดลิ้นออกจากปากได้ยาวมาก เนื่องจากกระดูกการปรับปรุงโครงสร้างของกระดูกไฮออยด์ ตามีลักษณะโปนขึ้นมาทางด้านบนของหัวและแต่ละข้างเคลื่อนไหวเป็นอิสระจากกัน สามารถใช้ดวงตาเพียงข้างเดียวคำนวณระยะทางได้ถูกต้องแม่นยำ ซึ่งต่างจากสัตว์มีกระดูกสันหลังชั้นอื่นที่ต้องใช้ตาทั้งสองข้างถึงจะคำนวณระยะทางได้ แต่ทว่ากิ้งก่าคาเมเลี่ยนไม่สามารถที่จะมองเห็นภาพในตำแหน่งหลังหัวได้[1] เปลือกตามีแผ่นหนังปกคลุม เกล็ดปกคลุมลำตัวมีขนาดเล็กและเรียงตัวต่อเนื่องกัน ไม่มีกระดูกในชั้นหนัง กระดูกหัวไหล่ไม่มีกระดูกอินเตอร์คลาวิเคิลและไม่มีกระดูกไหปลาร้า บางชนิดมีหางสั้นและบางชนิดมีหางยาว พื้นผิวด้านบนของลิ้นมีตุ่ม ฟันที่ขากรรไกรเกาะติดกับพื้นผิวกระดูกโดยตรง กระดูกพเทอรีกอยด์ไม่มีฟัน อีกทั้งยังถือว่าเป็นกิ้งก่าที่สามารถเปลี่ยนสีได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย เพื่อใช้ในการพรางตัว กิ้งก่าคาเมเลี่ยนหากินและใช้ชีวิตในเวลากลางวัน ขณะที่กลางคืนจะเป็นเวลาพักผ่อน เซลล์เม็ดสีก็จะพักการทำงานด้วย ดังนั้นในเวลากลางคืน สีต่าง ๆ ของกิ้งก่าคาเมเลี่ยนจะซีดลง บางชนิด บางตัวอาจจะซีดเป็นสีขาวทั้งตัวเลยก็มี[1]

มีความแตกต่างกันของขนาดลำตัวมาก โดยสกุลที่มีขนาดเล็กที่สุด คือ Brookesia และ Rhampholeon มีความยาวของลำตัว 2.5-5.5 เซนติเมตร และสกุล Chamaeleo มีขนาดลำตัวใหญ่ที่สุดโดยมีความยาวของลำตัว 7–63 เซนติเมตร ทุกสกุลทุกชนิดมีสีสันลำตัวสดใสสวยงามทั้ง เหลือง, เขียว, ฟ้า หรือแดง ยกเส้นสกุล Brookesia ที่มีสีลำตัวคล้ำ อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าและส่วนมากอาศัยและหากินบนต้นไม้ แต่ในสกุล Brookesia มีหางสั้นจะอาศัยบนพื้นดิน ออกหากินในเวลากลางวันและกินแมลงเป็นอาหารหลัก แต่ก็สามารถกินนกได้ โดยพบเป็นซากในกระเพาะของชนิดที่มีขนาดใหญ่ คือ Trioceros melleri และ Chamaeleo oustaleti เป็นต้น ขยายพันธุ์โดนการวางไข่ แต่สกุล Bradypodion และบางชนิดในสกุล Chamaeleo ตกลูกเป็นตัว จำนวนไข่และจำนวนลูกสัมพันธ์กับขนาดตัว

กิ้งก่าคาเมเลี่ยนมีทั้งหมดด้วยกันประมาณ 140–150 ชนิด แพร่กระจายพันธุ์ในทวีปแอฟริกา บนเกาะมาดากัสการ์ (โดยเฉพาะบนเกาะมาดากัสการ์จะพบได้ประมาณครึ่งหนึ่ง)[1] และบางพื้นที่ในอินเดีย และภาคพื้นอาหรับ รวมทั้งยุโรปตอนใต้ คือ สเปน และโปรตุเกส โดยเป็นกิ้งก่าที่นิยมเลี้ยงกันเป็นสัตว์เลี้ยง [2]

การจับเหยื่อ

[แก้]

กิ้งก่าคาเมเลี่ยนจัดได้ว่าเป็นกิ้งก่าที่มีความโดดเด่นมากในหลายอย่างที่แตกต่างจากกิ้งก่าในวงศ์อื่น ประการหนึ่งก็คือ การใช้ลิ้นยาวในการจับเหยื่อ คือ แมลง กินเป็นอาหาร โดยมีความยาวของลิ้นมากกว่าความยาวลำตัวถึง 2 เท่า ที่ปลายลิ้นจะมีก้อนเนื้อและมีสารเหนียวเคลือบอยู่ ตัวลิ้นมีกล้ามเนื้อวงแหวนขนาดใหญ่ และมีกล้ามเนื้อตามความยาวของลิ้น กล้ามเนื้อวงแหวนถูกล้อมรอบด้วยก้านกระดูกอ่อนที่เจริญจากกระดูกฮัยโอแบรนเคียม ส่วนกล้ามเนื้อฮัยโอกลอสซัสอยู่ทางด้านท้ายของลิ้น กระดูกอ่อนเอนโทกลอสซัสเป็นแผ่นกระดูกกว้างสม่ำเสมอแต่ส่วนทางด้านหน้าเรียวแคบ กลไกของการยืดลิ้น คือ ลดขากรรไกรล่างต่ำลงและยกกระดูกฮัยออยด์ขึ้นพร้อมกันกับยืดลิ้นไปข้างหน้า ในจังหวะเริ่มต้นค่อนข้างช้าต่อจากนั้นลิ้นได้ยืดออกจากปากอย่างรวดเร็วซึ่งเกิดจากการทำงานของกล้ามเนื้ออย่างฉับพลัน ลิ้นที่ยืดได้ยาวเนื่องจากกล้ามเนื้อวงแหวน กล่าวคือ เมื่อกล้ามเนื้อหดตัวทำให้ตัวลิ้นหดแคบลงแต่ยาวขึ้นและยาวเลยส่วนปลายของกระดูกอ่อนแอโทกลอสซัส ลิ้นที่ยืดออกจากปากมีอัตราความเร็ว 5.8 เซนติเมตรต่อวินาที เมื่อลิ้นสัมผัสกับตัวเหยื่อ ถ้าตัวเยนื่อมีขนาดเล็กจะติดอยู่ที่ส่วนปลายของลิ้น แต่ถ้าเหยื่อมีขนาดใหญ่ ก็จะติดกับเนื้อเยื่อบนลิ้น [3]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 The Invisible Lizard, "Weird Creatures with Nick Baker". สารคดีทางอนิมอลพลาเน็ต ทางทรูวิชั่นส์: พุธที่ 30 มกราคม 2556
  2. วีรยุทธ์ เลาหะจินดา, 2552: หน้า 374–375
  3. วีรยุทธ์ เลาหะจินดา, 2552: หน้า 152

บรรณานุกรม

[แก้]
  • เลาหะจินดา, วีรยุทธ์ (2552). วิทยาสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก. โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. ISBN 978-616-556-016-0.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
pFad - Phonifier reborn

Pfad - The Proxy pFad of © 2024 Garber Painting. All rights reserved.

Note: This service is not intended for secure transactions such as banking, social media, email, or purchasing. Use at your own risk. We assume no liability whatsoever for broken pages.


Alternative Proxies:

Alternative Proxy

pFad Proxy

pFad v3 Proxy

pFad v4 Proxy