พระอินทร์
บทความนี้อาจต้องการตรวจสอบต้นฉบับ ในด้านไวยากรณ์ รูปแบบการเขียน การเรียบเรียง คุณภาพ หรือการสะกด คุณสามารถช่วยพัฒนาบทความได้ |
พระอินทร์ | |
---|---|
เทพแห่งสายฟ้า ฟ้าผ่า ฟ้าแลบ ฟ้าร้อง ฝน น้ำตก ธรรมชาติ | |
พระอินทร์ประทับบนช้างเอราวัณ บนพระปรางค์วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร | |
ชื่อในอักษรเทวนาครี | इन्द्र / इंद |
เป็นที่บูชาใน | ศาสนาฮินดู ศาสนาพุทธ และศาสนาเชน |
ส่วนเกี่ยวข้อง | เทวราช สวรรคาธิบดี เทพโลกบาล และเทพคณะอาทิตย์ |
ที่ประทับ | เวชยันต์วิมาน ในเมืองสุทัสสนะ บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เมืองอมราวดี ในอินทรโลก (สวรรค์) |
อาวุธ | วัชระ, ศักรธนู, ศรอินทราสตร์, ดาบปรัญชะ, ขอช้าง, คทา, หอกวาสวีศักติ, จักร, สังข์ ฯลฯ |
พาหนะ | ช้างเอราวัณ ม้าอุจไจศรพ เวชยันตราชรถ เทียมม้าสีขาว มีพระมาตุลีเป็นสารถี |
เป็นที่นับถือใน | อินเดีย ไทย ลาว กัมพูชา จีน |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
คู่ครอง | พระอินทราณี, พระแม่สุธรรมา, พระแม่สุจิตรา, พระแม่สุนันทา, พระแม่สุชาดา, นางอหัลยา, นางกาลอัจนา, พระนางกุนตี, นางอัปสร 25 ล้านตน[1] |
บุตร - ธิดา | พระชยันต์, พระนางชยันตี, พระนางเทวเสนา, พาลี, อรชุน ฯลฯ |
บิดา-มารดา |
|
ตามคติศาสนาฮินดูสมัยฤคเวท ศาสนาเชน และศาสนาพุทธ พระอินทร์ (สันสกฤต: इन्द्र, อินฺทฺร; บาลี: อินฺท) เป็นเทวราช[2]ผู้ปกครองสวรรค์และอภิบาลโลก ต่อมาในสมัยปุราณะ พระอินทร์ก็ถูกลดบทบาทลงและเริ่มมีพฤติกรรมทางเพศมากขึ้น กระทั่งกลายเป็นเทวดาชั้นรองจากมหาเทพตรีมูรติในปัจจุบัน
ในรามเกียรติ์ พระอินทร์กับนางกาลอัจนามีบุตรชื่อพาลี
ศาสนาฮินดู
[แก้]ความสำคัญ
[แก้]“ | ...ผู้บังคับบัญชาอาชาชาติ ราชรถ ชนคาม และปศุสัตวานุสัตว์. ผู้กระทำให้มีซึ่งตะวันและกาลอรุณรุ่ง ผู้กระทำให้สายน้ำขับเคลื่อน โอ พระอินทร์นั่นแล้ว. พระอินทร์ผู้ปลดเปลื้องโศกาดูรแห่งอนาถาชน ผู้ปลดเปลื้องรัตติกาลด้วยอรุโณทัย ผู้กระทำให้ความไม่สมบูรณ์เป็นความสมบูรณ์... | ” |
ในยุคเริ่มแรกตามคัมภีร์ฤคเวท พระอินทร์เป็นประมุขแห่งทวยเทพ เป็นเจ้าแห่งสภาพภูมิอากาศ และเป็นเจ้าแห่งการสงคราม มีอุปนิสัยชอบช่วยเหลือสรรพสัตว์ สมัยแรกมักเรียกพระอินทร์ว่า ศักระ (แปล: ผู้องอาจเป็นเลิศ) ซึ่งขณะนั้นมีจำนวนเทวดาทั้งสิ้นสามสิบสามพระองค์ อันได้แก่ เทพคณะอาทิตย์ 12 พระองค์ เทพคณะวสุ 8 พระองค์ พระรุทระ 11 พระองค์ และพระอัศวิน 2 พระองค์ โดยมีพระอินทร์เป็นประมุขของเทวดาเหล่านี้ คัมภีร์ส่วนใหญ่กล่าวถึงวีรกรรมของพระอินทร์ในการปราบอสูรชื่อวฤตระ (Vritra) และวีรกรรมในการอภิบาลจักรวาลนานัปการ
พระอินทร์ปราบวฤตราสูร
[แก้]ในฤคเวท วฤตราสูร หรือ อหิ เป็นบุตรของพระแม่ทนุ เป็นอสูรทานพ มีกายเป็นงูใหญ่ หรือ นาค ได้ขึ้นไปลักน้ำบนสวรรค์ และไปซ่อนตัวอยู่ในถ้ำ ทำให้ไม่มีน้ำฝนตกลงสู่โลก พระพิรุณได้ขอให้พระอินทร์ไปปราบ พระอินทร์ได้ใช้กระบองทำลายถ้ำ และ ใช้วัชระผ่าท้องวฤตราสูร ทำให้น้ำฝนตกลงสู่โลก
“ | ...จะกล่าวถึงพระอินทร์ ทรงแสดงความกล้าหาญเป็นครั้งแรก โดยทรงวัชระ. พระองค์ทรงปราบงูยักษ์อหิ เปิดทางน้ำ ให้ไหลมาจากภูเขา. พระอินทร์ผู้ปราบงูยักษ์ที่อยู่บนยอดเขา โดยพระตวัษฏาร์ ผู้สร้างวัชระ. มวลน้ำไหลบ่า ดังฝูงโค ลงสู่มหาสมุทร... | ” |
ต่อมาการนับถือพระอินทร์ทวีขึ้นเรื่อย ๆ พระอินทร์กลายเป็นต้นแบบแห่งกษัตริย์ของทั้งมนุษย์และเทวดาทั้งปวง ในภควัทคีตามีบทอธิบายถึงความสำคัญของพระอินทร์ว่า[3]
“ | เปรียบกับบรรดาคัมภีร์ทั้งปวง ข้าพเจ้าคือคัมภีร์สามเวท. เปรียบกับเทวาสุรทั้งปวง ข้าพเจ้าคือพระอินทร์ ประมุขแห่งทวยเทพ. เปรียบกับสัมผัสประสาททั้งปวง ข้าพเจ้าคือปัญญาประสาท. และในสิ่งมีชีวิตทั้งปวง ข้าพเจ้าคือจิตสำนึกแห่งเขาเหล่านั้น... | ” |
สถานะและอำนาจหน้าที่
[แก้]พระอินทร์เป็นเทวดาองค์สำคัญของศาสนาพราหมณ์ โดยเป็นประมุขแห่งทวยเทพ และเป็นประธานเทวสภา มีอำนาจหน้าที่ปกครอง ควบคุม ธำรง รักษา และบำรุงสวรรคโลกและมนุษยโลก ปรากฏมากในปรัมปราของศาสนาพราหมณ์ซึ่งสงครามระหว่างพระอินทร์และความชั่วร้ายบรรดามี
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ พระอินทร์มีบทบาทลดลงโดยเป็นเทวดาชั้นรองและมีหน้าที่รองจากตรีมูรติ คือ พระศิวะ พระวิษณุ และพระพรหม อำนาจหน้าที่บางประการของพระอินทร์ถูกโอนไปให้ตรีมูรติ เช่น พระอิศวรกลายเป็นประมุขสูงสุดแห่งทวยเทพและเป็นประธานเทวสภา พระนารายณ์มีอำนาจหน้าที่อภิบาลมนุษยโลกแทน กับทั้งพลังอำนาจของพระอินทร์ยังเป็นรองตรีมูรติ เป็นต้นว่า ในคราวที่พระนารายณ์แบ่งภาคลงไปเป็นพระกฤษณะ พระกฤษณะสามารถสำแดงเดชยกเขาบังห่าฝนที่พระอินทร์บันดาลให้เกิดขึ้นมา เพื่อทรมานเหล่าผู้คน เพราะเสื่อมศรัทธาในพระอินทร์ ซึ่งเป็นเรื่องราวที่พวกพรหมณ์ของไวษณพนิกาย แต่งขึ้นภายหลังแล้วนำไปเพิ่มเติมในเรื่องราวของ พระกฤษณะเจ้าภายหลัง เพื่อลดความเชื่อถือในองค์อินทร์ ทุกศาสนาล้วนมีเทพหรือเทวดาที่วนเวียนอยู่ในวัฏสงสาร คือ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ล้วนมีอายุขัยดับไปและเกิดใหม่ มีแต่ศาสนาพุทธที่พระพุทธเจ้าที่หลุดพ้นจากวัฏสงสาร ไม่เกิด ไม่ดับ ไม่อยู่ในรูปพรหมและอรูปพรหม
นอกจากนี้แล้วยังมีความเชื่อว่า พระอินทร์เป็นเทพประจำทิศตะวันออก หรือ บูรพา อีกด้วย[4]
ลักษณะของพระอินทร์
[แก้]สมัยฤคเวท พระอินทร์มีร่างกายกำยำ ผม เครา และเล็บสีทอง มีตาทั่วตัว มี 4 กร ในสมัยต่อมา พระอินทร์เริ่มมีหน้าตาและรูปร่างสวยขึ้น โดยมีร่างกายสีแดง สีขาวนวล และกลายเป็นสีเขียวในปัจจุบัน คัมภีร์ฤคเวทมีว่า[5]
“ | รังสีแห่งพระอินทร์นั้นหรือคือสีทอง. พระอินทร์ผู้มีเคราและผมสีทองซึ่งโปรดปรานการดื่มสุรานั้นเคลื่อนไหวรวดเร็วราวกับลมกรด. พระอินทร์มีใบหน้าสวยงาม...พละกำลังแข็งแกร่งสมชาย...เป็นวีรบุรุษโดยแท้. | ” |
พระอินทร์ ยังมีนามอื่นๆอีก อาทิ เช่น พระเทวราช,พระสวรรคาธิบดี,พระวัชรหัสต์,พระวัชรปาณี,พระศักระ,พระเทเวนทร์,พระวฤษัน,พระวฤตรหัน,พระสุเรนทร์,พระโกสีย์,พระสหัสนัยน์,พระสหัสเนตร,พระสหัสรากษะ,พระปุรันทร,พระชิษณุ,พระอมรินทร์,พระศักรินทร์,พระมัฆวาน ฯลฯ
อาวุธประจำกายของพระอินทร์ได้แก่วชิราวุธ คือ วัชระ (สายฟ้า), พระขรรค์ชื่อ "ปรัญชะ," ศักรธนู, บ่วงบาศ, จักร, สังข์ ตะขอ แหตาข่าย ฯลฯ.
พระอินทร์มีพาหนะคือช้างเอราวัณ ซึ่งปรกติเป็นเทวดาองค์หนึ่ง เมื่อพระอินทร์ประสงค์จะเดินทางไปในที่ใด เทวดาเอราวัณก็จะกลายร่างเป็นช้างพาหนะ
พระอินทร์มีหนึ่งหน้า สี่มือ แต่โดยปรกติแล้วในจิตรกรรมต่าง ๆ มักปรากฏเพียงสองมือ มือหนึ่งถือวชิราวุธ[6]
ที่พักของพระอินทร์เรียก "ไวชยนต์" ตั้งอยู่ในเมืองอมราวดี บนเขาพระสุเมรุ เขาพระสุเมรุนี้เป็นที่ตั้งของชั้นฟ้าหรือสวรรคโลก บรรดาเทวดาในอมราวดีนครไร้ทุกข์ทุกประเภท วันหนึ่ง ๆ ชื่นชมและสมสู่กับอัปสร และเล่นสนุกบรรดามี[7]
ความสัมพันธ์กับเทพองค์อื่น
[แก้]พระอินทร์ วิวาห์กับพระนางศจี บุตรีของท้าวปุโลมัน ราชาทานพ มีบุตรด้วยกัน ได้แก่ พระชยันต์ อุปราชแห่งสวรรค์ พระนางชยันตี ชายาของพระศุกร์ พระนางเทวเสนา ชายาของพระขันทกุมาร
ความเจ้าชู้ของพระอินทร์
[แก้]กาลอัจนา
[แก้]ในเรื่องรามเกียรติ์ กาลอัจนา[8] เป็นเด็กสาวที่มีความน่ารักเป็นเลิศซึ่งฤๅษีโคดมสร้างขึ้นมาจากกองไฟเพื่อเป็นคู่สมรสของตน เนื่องจากได้รับคำสบประมาทจากนกกระจาบผัวเมียที่เกาะอยู่ข้างอาศรมว่าฤๅษีมีบาปเพราะไร้ผู้สืบสกุล ฤๅษีโคดมและกาลอัจนามีธิดาด้วยกันหนึ่งคนชื่อว่า สวาหะ
ภายหลังจากที่พระนารายณ์อวตารลงมาเป็นพระรามเพื่อปราบทศกัณฐ์ พระอินทร์คิดสนับสนุนพระราม และเผอิญมองลงมาจากวิมานเห็นกาลอัจนามีความน่ารักจับใจก็เกิดรักขึ้น เหาะลงมาหาในระหว่างที่ฤๅษีออกจากอาศรมเข้าป่าไปหาอาหาร ฝ่ายกาลอัจนาเห็นพระอินทร์รูปร่างหน้าตาสะสวยองอาจก็เกิดรักเช่นเดียวกัน ทั้งสองลักลอบได้เสียกันในคราวนั้นโดยไม่ทราบว่านางสวาหะแอบดูอยู่ภายนอก กาลอัจนาตั้งท้องกับพระอินทร์ ให้กำเนิดบุตรชายมีร่างกายสีเขียว ฤๅษีโคดมซึ่งไม่ทราบความจริงก็คิดว่าเป็นลูกของตน ให้ชื่อว่า กากาศ
ต่อมาเมื่อคราวที่ฤๅษีออกจากอาศรมเข้าป่าไปอีกครั้ง กาลอัจนานั่งอยู่ชานอาศรมมองขึ้นไปเห็นพระอาทิตย์มีรูปร่างหน้าตางดงามผึ่งผายก็หลงรัก ฝ่ายพระอาทิตย์ซึ่งรู้ว่ากาลอัจนาหลงรักก็เหาะลงมาสมสู่ด้วย โดยไม่ทราบว่านางสวาหะแอบดูอยู่ภายนอก กาลอัจนาตั้งท้องกับพระอาทิตย์ ให้กำเนิดบุตรชายมีร่างกายสีแดง ฤๅษีโคดมซึ่งไม่ทราบความจริงก็คิดว่าเป็นลูกของตน ให้ชื่อว่า สุครีพ
ต่อมานางสวาหะน้อยใจที่ฤๅษีโคดมเอาใจใส่บุตรชายทั้งสองมากกว่าตน จึงตัดพ้อเชิงว่ารักลูกคนอื่นมากกว่าลูกตน ฤๅษีโคดมเกิดสงสัยขึ้น เสี่ยงอธิษฐานโยนบุตรทั้งสามลงไปในน้ำ ผู้ใดเป็นบุตรที่แท้ที่จริงขอให้สามารถว่ายน้ำกลับมาหาตนได้โดยปลอดภัย ผู้ใดไม่ใช่ขอให้กลายเป็นลิง ซึ่งมีแต่นางสวาหะว่ายกลับมาหา ส่วนกากาศและสุครีพกลายเป็นลิงวิ่งเข้าป่าอีกฝั่งหายไป
ครั้นกลับถึงอาศรม ฤๅษีโคดมเดือดดาลยิ่งนัก กล่าวผรุสวาทแก่กาลอัจนา แล้วสาปให้กลายเป็นหินไปเสียจนกว่าพระรามจะผ่านมาและถอนคำสาปให้กลายเป็นคนดังเดิม คำสาปมีว่า
“ | ...คบชู้สู่สมภิรมย์รัก ทำการทรลักษณ์บัดสี ดังหญิงชั่วช้ากาลี ให้อินทรีย์ของมึงเป็นศิลา... | ” |
ก่อนจะกลายร่างเป็นก้อนหินนั้น กาลอัจฉาเห็นว่านางสวาหะปากดี จึงสาปให้ไปยืนขาเดียวอ้าปากกินลมอยู่ที่เชิงเขาจักรวาล จนกว่าจะมีบุตร ต่อมาเมื่อพระรามและกองทัพผ่านมาบริเวณนี้ ก็ได้ถอนคำสาปให้กาลอัจฉากลายเป็นคนดังเดิม
อหัลยา
[แก้]นางอหัลยา[9][10] (สันสกฤต: अहल्या, Ahalyā; แปล: ผู้หญิงสมบูรณ์แบบ[11]) เป็นเด็กสาวที่พระพรหมสร้างขึ้นด้วยเวทมนตร์ มีความน่ารักเป็นเลิศ บรรดาเทวดาชายทั้งปวงต่างใคร่ได้มาครอง พระพรหมตั้งเงื่อนไขไว้ว่าจะมอบอหลยาให้แก่บุคคลใดก็ตามที่สามารถท่องทั้งสามโลกได้ทั่วถึงเป็นบุคคลแรก พระอินทร์จึงเร่งเดินทางไปทั่วสามโลกเพื่อการนี้
ด้วยพลังอำนาจแห่งเทพระดับพระอินทร์จึงใช้เวลาพริบตาเดียวในการดังกล่าว ในขณะที่มาขอรับนางอหัลยาไปนั้น ฤๅษีนารทซึ่งนั่งอยู่ในที่ประชุมของพระพรหมด้วยท้วงว่า ความจริงแล้วยังมีมหาฤๅษีชื่อโคตมะ (เคาตม มหาฤษิ) เคยเดินทางไปตลอดสามโลกก่อนพระอินทร์เสียอีก สมควรมอบนางอหัลยาให้แก่มหาฤๅษีโคตมะ พระพรหมเห็นชอบด้วยก็ดำเนินการตามนั้น
นางอหัลยาซึ่งหลงใหลในความงามของพระอินทร์จึงผิดหวัง และลักลอบร่วมรักกับพระอินทร์อยู่สม่ำเสมอ กระทั่งครั้งหนึ่งมหาฤๅษีจับได้คาหนังคาเขา จึงสาปให้มีอวัยวะเพศหญิงผุดขึ้นเต็มร่างกายพระอินทร์ พระอินทร์จึงได้ชื่อว่า สหัสโยนี
ต่อมามหาฤๅษีโคตมะบรรเทาคำสาปให้อวัยวะเพศหญิงกลายเป็นดวงตาเสีย พระอินทร์จึงได้ชื่อว่า สหัสนัยน์ อันแปลว่า ผู้มีดวงตานับพัน[12]
ศาสนาพุทธ
[แก้]ในเอกสารทางพุทธศาสนาและศาสนาเชน มักเรียกพระอินทร์โดยทั่วไปในชื่อท้าวสักกะหรือท้าวศักระ ผู้ปกครองสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ท้าวสักกะนั้นในบางครั้งมักถูกเรียกด้วยชื่อ "อินทระ" หรือในชื่อที่เรียกขานทั่วไปอีกชื่อว่า "เทวานัม อินทระ" อันหมายถึง "จอมเทพ" หรือ "หัวหน้าแห่งเทพทั้งหลาย" พระอินทร์เป็นเทพผู้พิทักษ์พระพุทธศาสนา และเป็นพระโสดาบัน ในอดีตชาติ พระอินทร์ เกิดเป็นมฆมานพ เขาและสหายอีก 32 คน ได้ร่วมกันทำทานและสร้างศาลาที่พัก สระน้ำ และสวนสาธารณะ ไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ เมื่อตายไป มฆมานพและสหาย 32 คน ได้ไปเกิดเป็นเทพบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
ในพม่า
[แก้]ในพม่า ที่มีความเชื่อพื้นเมืองเรื่องของนะ ซึ่งมีลักษณะกึ่งผีกึ่งเทพารักษ์ มีกันอยู่หลายระดับทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติหรือนะหลวง ที่มีอยู่ทั้งหมด 37 ตน พระอินทร์ได้รับการยกให้เป็นประธานของนะหลวงทั้งหมด โดยมีชื่อเรียกว่า ตะจ้ามี่น (พม่า: သိကြားမင်း, ออกเสียง: [ðə.d͡ʑá.mɪ́ɰ̃]; จากภาษาสันสกฤต ၐကြ ศกฺร) การที่พระอินทร์ได้กลายเป็นประธานของนะหลวงนั้นเกิดขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าอโนรธาแห่งราชวงศ์พุกามในคริสต์ศตวรรษที่ 11 ที่นำเอาพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทจากอาณาจักรสุธรรมวดีของชาวมอญมาเผยแพร่ให้แก่ชาวพม่า โดยนำมาผสมกับความเชื่อเรื่องนะซึ่งเป็นความเชื่อพื้นเมืองที่มาก่อนหน้านี้[13]
ศาสนาเชน
[แก้]ศาสนาเชน พระอินทร์เป็นที่รู้จักในชื่อ "เสาธรรเมนทระ" (Saudharmendra) และคอยรับใช้พระตีรถังกร (ผู้รู้แจ้งในธรรมในศาสนาเชน) อยู่เป็นนิจ เรื่องราวของพระอินทร์ส่วนมากปรากฏโดยทั่วไปในเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับศาสดามหาวีระ
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "พระอินทร์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-04-24. สืบค้นเมื่อ 2008-04-15.
- ↑ ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554. พิมพ์ครั้งที่ ๒, กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2556. 1,544 หน้า. ISBN 978-616-7073-80-4
- ↑ 3.0 3.1 "Indra and Shiva" by KOENRAAD ELST". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-09-23. สืบค้นเมื่อ 2008-04-15.
- ↑ "ประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้ง". บ้านจอมยุทธ์. สืบค้นเมื่อ 10 June 2014.
- ↑ Hymn XXX, P. 407 The Hymns of the Atharvaveda
- ↑ (Masson-Oursel and Morin, 326).
- ↑ Rig Veda: Rig-Veda, Book 3: HYMN XXX. Indra
- ↑ "ประหวัดหนุมาน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-01-29. สืบค้นเมื่อ 2008-04-15.
- ↑ นางกาลอัจนา[ลิงก์เสีย]
- ↑ ทนต์ (นามแฝง). เทวาลัย. กรุงเทพฯ : เจริญวิทพริ้นติ้ง, 2535.
- ↑ "Ahalya" The Concise Oxford Dictionary of World Religions. John Bowker (Ed.) Oxford University Press, 2000.
- ↑ Dictionary of Hindu Lore and Legend (ISBN 0-500-51088-1) by Anna Dhallapiccola
- ↑ "Hla Tha Mein. "Thirty-Seven Nats".Retrieved 2006-07-03". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-06-24. สืบค้นเมื่อ 2011-07-28.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]หนังสือและบทความ
[แก้]- ชาตรี ประกิตนนทการ. (2552, เมษายน). คติพระอินทร์สมัยรัชกาลที่ 1: อุดมการณ์รัฐ พุทธศาสนา และสถาปัตยกรรม. ศิลปวัฒนธรรม. 30(6): 79-103.
- วรพร ภู่พงศ์พันธุ์. (2565). ทิพภาวะของกษัตริย์ในสมัยอยุธยา: กษัตริย์ในฐานะพระอินทร์. ใน ถักทอความคิด มิตรและศิษย์มอบให้ วินัย พงศ์ศรีเพียร. บรรณาธิการโดย ธีรวัต ณ ป้อมเพชร, อรพินท์ คำสอน และธิษณา วีรเกียรติสุนทร. หน้า 142-162. นครปฐม: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร.
เว็บไซด์
[แก้]- เรื่องท้าวสักกะจากอรรถกถาทางพุทธศาสนา (ในวิกิซอร์ซ)