ข้ามไปเนื้อหา

อีเลียด

นี่คือบทความคุณภาพ คลิกเพื่อดูรายละเอียดเพิ่มเติม
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ภาพปกมหากาพย์ อีเลียด เชื่อว่าพิมพ์ในปี ค.ศ. 1572

อีเลียด (กรีก: Ἰλιάς, Ilias; อังกฤษ: Iliad) เป็นหนึ่งในสองบทกวีมหากาพย์กรีกโบราณของโฮเมอร์ ซึ่งเล่าเรื่องราวของสงครามเมืองทรอยในช่วงปีที่สิบอันเป็นปีที่สิ้นสุดสงคราม เชื่อกันว่า อีเลียด ถูกแต่งขึ้นในช่วงศตวรรษที่แปดก่อนคริสตกาล[1] นักวิชาการหลายคนเชื่อว่า บทกวีเรื่องนี้เป็นวรรณกรรมที่เก่าแก่ที่สุดในภาษากรีกโบราณ จึงถือได้ว่าเป็นวรรณกรรมชิ้นแรกของยุโรป[2] แม้จะมีชื่อผู้ประพันธ์ปรากฏเพียงคนเดียว แต่จากลักษณะของบทกวีที่บอกเล่าสืบต่อกันมาแบบปากเปล่ารุ่นต่อรุ่น จึงมีความเป็นไปได้ว่ามีผู้ประพันธ์มากกว่าหนึ่งคน

เรื่องราวในบทกวีบรรยายถึงเหตุการณ์ในปีที่สิบซึ่งเป็นปีสุดท้ายของเหตุการณ์ที่ชาวกรีกบุกยึดนครอีเลียน หรือเมืองทรอย คำว่า "อีเลียด" หมายถึง "เกี่ยวกับอีเลียน" (ภาษาละตินเรียก อีเลียม (Ilium) ) อันเป็นชื่อเรียกส่วนนครหลวง ซึ่งแตกต่างกับ ทรอย (ตุรกี: Truva; กรีก: Τροία, Troía; ละติน: Troia, Troiae) อันหมายถึงนครรัฐที่อยู่ล้อมรอบอีเลียม แต่คำทั้งสองคำนี้มักใช้รวม ๆ กันหมายถึงสถานที่แห่งเดียวกัน

การสร้างสรรค์และฉันทลักษณ์

[แก้]

ตลอดช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 นักวิชาการต่างลงความเห็นว่า อีเลียด และ โอดิสซีย์ ประพันธ์ขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 9 ถึงต้นศตวรรษที่ 8 ก่อนคริสตกาล แต่ยังมีนักวิชาการจำนวนหนึ่งไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ คนสำคัญได้แก่ แบร์รี่ บี. พาวเวลล์ (ผู้เสนอแนวคิดว่า อีเลียด มีความเกี่ยวพันใกล้ชิดกับการประดิษฐ์คิดค้นอักษรกรีก) จี.เอส.เคิร์ค และ ริชาร์ด แจงโค ส่วนนักวิชาการอีกกลุ่มหนึ่ง (รวมถึงมาร์ติน เวสต์ และ ริชาร์ด ซีฟอร์ด) เชื่อว่ามหากาพย์ชิ้นนี้น่าจะเกิดขึ้นในราว 600-700 ปีก่อนคริสตกาล[3][4]

นักวิชาการโดยทั่วไปเชื่อกันว่า ทั้ง อีเลียด และ โอดิสซีย์ ประพันธ์ขึ้นโดยกวีคนเดียวกัน ชื่อว่า โฮเมอร์ ชาวกรีกจากแคว้นไอโอเนีย บางแห่งว่าเขาเป็นนักดนตรีพเนจรตาบอด ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวผ่านบทลำนำแบบปากเปล่า อันเป็นลักษณะของวัฒนธรรมการขับร้องในยุคโบราณ อย่างไรก็ดีมีนักวิชาการหลายคนเชื่อว่า โฮเมอร์ ไม่มีตัวตนจริง และมหากาพย์ อีเลียด และ โอดิสซีย์ ที่ตกทอดมาถึงปัจจุบันนั้นเป็นการสร้างสรรค์โดยนักประพันธ์หลาย ๆ คน ที่จดบันทึกบทลำนำลงเป็นลายลักษณ์อักษรหลังจากเวลาผ่านไปหลายร้อยปี[5]

บทกวี อีเลียด ประพันธ์ด้วยฉันทลักษณ์แบบ dactylic hexameter มีความยาวทั้งสิ้น 15,693 บรรทัด สามารถแบ่งออกได้เป็น 24 บท (หรือ 24 ม้วนกระดาษ) แนวทางการแบ่งเนื้อหาเช่นนี้ยังคงใช้มาจนถึงปัจจุบัน[6]

เรื่องราวในอีเลียด

[แก้]
โคลงบทแรกของอีเลียด
อคิลลีสพยาบาลปโตรกลัส ภาพวาดในพิพิธภัณฑ์ Altes กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน

มหากาพย์ อีเลียด เริ่มต้นด้วยประโยคต่อไปนี้

μῆνιν ἄειδε θεὰ Πηληϊάδεω Ἀχιλῆος
οὐλομένην, ἣ μυρί' Ἀχαιοῖς ἄλγε' ἔθηκεν,

ร้องเพลงเถิดเทพี โทสะแห่งอคิลลีส บุตรแห่งพีลูส

โทสะทำลายล้างอันนำความเจ็บปวดมหาศาลสู่ชาวเอเคียน

คำเปิดเรื่อง อีเลียด ของโฮเมอร์ คือ μῆνιν (mēnin) ซึ่งเป็นภาษากรีกโบราณ หมายถึง "โทสะ" เป็นการประกาศถึงธีมหลักของเรื่อง อีเลียด นั่นคือ "โทสะของอคิลลีส" เมื่ออักกะเมมนอน ผู้นำกองทัพกรีกบุกเมืองทรอย ได้หมิ่นเกียรติของอคิลลีสโดยการชิงตัวนางไบรเซอีส ทาสสาวนางหนึ่งซึ่งตกเป็นของขวัญชนะศึกของอคิลลีสไปเสีย อคิลลีสจึงถอนตัวจากการรบ แต่เมื่อปราศจากอคิลลีสกับทัพของเขา กองทัพกรีกก็ต้องพ่ายต่อเมืองทรอยอย่างย่อยยับ จนเกือบจะถอดใจยกทัพกลับ แต่แล้วอคิลลีสกลับเข้าร่วมในการรบอีก หลังจากเพื่อนสนิทของเขาคือ ปโตรกลัส ถูกสังหารโดยเฮกเตอร์เจ้าชายเมืองทรอย อคิลลีสสังหารชาวทรอยไปเป็นจำนวนมากรวมทั้งเฮกเตอร์ แล้วลากศพเฮกเตอร์ประจาน ไม่ยอมคืนร่างผู้เสียชีวิตให้มาตุภูมิซึ่งผิดธรรมเนียมการรบ จนในที่สุดท้าวเพรียม บิดาของเฮกเตอร์ ต้องมาไถ่ร่างบุตรชายกลับคืน มหากาพย์ อีเลียด สิ้นสุดลงที่งานพิธีศพของเฮกเตอร์

โฮเมอร์บรรยายภาพการศึกไว้ในมหากาพย์อย่างละเอียด เขาระบุชื่อนักรบจำนวนมาก เอ่ยถึงถ้อยคำที่ด่าทอ นับจำนวนครั้งที่เปล่งเสียงร้อง รวมถึงรายละเอียดในการปลิดชีวิตฝ่ายศัตรู การสิ้นชีวิตของวีรบุรุษแต่ละคนส่งผลให้การสงครามรุนแรงหนักยิ่งขึ้น ทัพทั้งสองฝ่ายต่างเข้าแย่งชิงเสื้อเกราะเครื่องอาวุธ และแก้แค้นต่อผู้ที่สังหารคนของตน นักรบที่โชคดีมักรอดพ้นไปได้ด้วยฝีมือขับรถของสารถี หรือด้วยการช่วยเหลือป้องกันของเหล่าเทพ รายละเอียดสงครามของโฮเมอร์นับเป็นงานวรรณกรรมที่โหดเหี้ยมและมีผู้เสียชีวิตมากที่สุด

มหากาพย์ อีเลียด มีนัยยะทางศาสนาและสิ่งเหนือธรรมชาติอยู่มาก กองทัพทั้งสองฝ่ายต่างเคร่งครัดศรัทธาต่อเทพเจ้าของตน และต่างมีนักรบที่สืบเชื้อสายมาจากเหล่าเทพด้วย พวกเขามักเซ่นสรวงบูชาเทพเจ้า ขอคำปรึกษาจากพระ และแสวงหาคำพยากรณ์เพื่อตัดสินใจว่าควรจะทำอย่างไรต่อไป พวกเทพเจ้ามักเข้าร่วมในการรบ ทั้งโดยการให้คำแนะนำและช่วยเหลือปกป้องนักรบคนโปรด บางคราวก็ร่วมรบด้วยตนเองกับพวกมนุษย์หรือกับเทพเจ้าองค์อื่น ๆ

ตัวละครหลักของมหากาพย์ อีเลียด จำนวนมากมีส่วนเชื่อมโยงสงครามเมืองทรอยเข้ากับตำนานปรัมปราอื่น ๆ เช่น ตำนานเจสันกับขนแกะทองคำ ตำนานกบฏเมืองธีบส์ และการผจญภัยของเฮราคลีส (เฮอร์คิวลีส) ตำนานปรัมปราของกรีกโบราณเหล่านี้มีเรื่องเล่ามาในหลากหลายรูปแบบ โฮเมอร์จึงค่อนข้างมีอิสระในการเลือกเอารูปแบบตามที่เขาต้องการเพื่อนำมาประกอบในมหากาพย์ รายละเอียดเพิ่มเติมโปรดดูใน ตำนานกรีกโบราณ

เรื่องราวในมหากาพย์ อีเลียด ครอบคลุมช่วงเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ในช่วงปีที่สิบและปีสุดท้ายของสงครามเมืองทรอย มิได้เล่าถึงความเป็นมาของการศึกและเหตุการณ์ในช่วงต้น (คือเรื่องที่ปารีสลักพานางเฮเลนมาจากกษัตริย์เมนนิเลอัส) และมิได้เอ่ยถึงเหตุการณ์ตอนสิ้นสุดสงคราม (คือการตายของอคิลลีส และการล่มสลายของเมืองทรอย) อย่างไรก็ดีมีบทกวีมหากาพย์เรื่องอื่นที่บรรยายความต่อจากนี้ แต่หลงเหลือรอดมาถึงปัจจุบันเพียงเล็กน้อย มีเนื้อความกระจัดกระจายเป็นส่วน ๆ ไม่ต่อเนื่อง รายละเอียดของสงครามทั้งหมด โปรดดูจากบทความเรื่อง สงครามเมืองทรอย

โครงเรื่อง

[แก้]

บทกวีเริ่มต้นขึ้นเมื่อชาวกรีกได้จับตัวนางไครเซอีส บุตรีของไครสิสนักบวชประจำวิหารของอพอลโลมาแล้ว และมอบนางให้เป็นรางวัลแก่อะกาเมมนอนกษัตริย์แห่งไมซีนี และผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพกรีก เทพอพอลโลจึงบันดาลให้เกิดโรคระบาดในกองทัพกรีก เพื่อบีบบังคับให้อะกาเมมนอนคืนตัวนางไครเซอีสให้แก่บิดาของนาง อะกาเมมนอนจึงไปบังคับเอาตัวนางไบรเซอีสจากอคิลลีสมาแทน นางไบรเซอีสเป็นทาสชาวเอเคียนที่มอบให้เป็นรางวัลแก่อคิลลีส นักรบผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งยุค อคิลลีสรู้สึกน้อยใจจึงถอนตัวออกจากการรบ

ฝ่ายเมืองทรอยนั้นมีเจ้าชายเฮกเตอร์ โอรสของท้าวเพรียม เป็นแม่ทัพนำศึกป้องกันเมืองและปกป้องครอบครัวของตน เมื่ออคิลลีสไม่ยอมร่วมรบด้วย เฮกเตอร์จึงสามารถมีชัยชนะเหนือกองทัพกรีก นักรบกรีกที่เหลืออยู่ รวมถึงโอดิซูสและดิโอมีดีส ต่างได้รับบาดเจ็บ ด้วยเวลานั้นปวงเทพต่างเข้าข้างฝ่ายเมืองทรอย ปโตรกลัสจึงปลอมตัวเป็นอคิลลีสโดยนำเสื้อเกราะของเขามาสวม และนำทัพชาวเมอร์มิดอนกลับเข้าร่วมรบเพื่อช่วยป้องกันเรือของพวกกรีกไม่ให้ถูกเผาทำลาย ปโตรกลัสถูกเฮกเตอร์สังหารสิ้นชีพ อคิลลีสจึงกลับเข้าร่วมรบเพื่อแก้แค้นให้ปโตรกลัส เขาสังหารเฮกเตอร์ได้สำเร็จด้วยการประลองตัวต่อตัว แล้วเอาร่างของเฮกเตอร์กลับไปค่ายด้วย ท้าวเพรียมลอบเข้าค่ายทัพกรีก (ด้วยความช่วยเหลือของเทพเฮอร์มีส) เพื่อไถ่ร่างของบุตรชายคืน อคิลลีสเกิดความสงสารจึงคืนให้ บทกวีจบลงที่การพิธีศพของเฮกเตอร์

รายละเอียดเล่ม

[แก้]
  • เล่ม 1 : สงครามผ่านไปเก้าปี อักกะเมมนอนจับตัวนางไบรเซอีสมาใช้แทนนางไครเซอีส อคิลลีสถอนตัวจากกองทัพด้วยความโกรธ บนเทือกเขาโอลิมปัส เหล่าเทพถกเถียงกันเรื่องผลของสงคราม
  • เล่ม 2 : อักกะเมมนอนแสร้งสั่งให้ถอยทัพเพื่อลองใจ โอดิซูสปลุกระดมทัพกรีกให้เข้าสู้ รายละเอียดกองเรือ รายละเอียดเมืองทรอยและทัพพันธมิตร
  • เล่ม 3 : ปารีสท้าเมนนิเลอัสประลองตัวต่อตัว โดยนางเฮเลนเฝ้าดูบนกำแพงเมืองทรอยข้างท้าวเพรียม ปารีสเอาชนะเมนนิเลอัสได้อย่างรวดเร็ว แต่เทพีอโฟรไดท์มาช่วยเขาไว้ ทำให้ดูเหมือนเมนนิเลอัสเป็นฝ่ายชนะ
  • เล่ม 4 : ยกเลิกการพักรบ เริ่มประจัญบาน
  • เล่ม 5 : ดิโอมีดีสมีชัยในการรบ อโฟรไดท์กับเอรีสได้รับบาดเจ็บ
  • เล่ม 6 : เกลาคัสกับดิโอมีดีสแสดงความยินดีต่อกันระหว่างพักรบ เฮกเตอร์กลับเข้าเมืองทรอยและเจรจากับภริยาของตน
  • เล่ม 7 : เฮกเตอร์สู้กับอจักส์
  • เล่ม 8 : เทพเจ้าถอนตัวจากการรบ
  • เล่ม 9 : ทัพกรีกส่งผู้แทนไปเจรจากับอคิลลีส แต่ถูกปฏิเสธอย่างไร้เยื่อใย
  • เล่ม 10 : ดิโอมีดีสและโอดิซูสลอบสืบข้อมูลในเมืองทรอย และสังหารโดลอนชาวทรอยผู้ทรยศ
  • เล่ม 11 : ปารีสทำร้ายดิโอมีดีสบาดเจ็บ อคิลลีสส่งปโตรกลัสเข้าร่วมรบ
  • เล่ม 12 : ทัพกรีกถอยกลับเข้าค่าย ถูกทัพเมืองทรอยปิดล้อม
  • เล่ม 13 : เทพโพไซดอนให้กำลังใจทัพกรีก
  • เล่ม 14 : เทพีเฮราช่วยโพไซดอนให้ช่วยทัพกรีก เทพซูสมาห้ามไว้
  • เล่ม 15 : เทพซูสห้ามโพไซดอนไม่ให้เข้ายุ่งเกี่ยวการรบ
  • เล่ม 16 : ปโตรกลัสสวมเกราะของอคิลลีสเข้าร่วมรบ สังหารซาร์เพดอน และต่อมาถูกเฮกเตอร์สังหาร
  • เล่ม 17 : สองทัพรบกันเพื่อชิงเสื้อเกราะและร่างของปโตรกลัส
  • เล่ม 18 : อคิลลีสทราบข่าวการตายของปโตรกลัส ได้รับเสื้อเกราะใหม่ มีบทบรรยายเสื้อเกราะนี้อย่างละเอียด
  • เล่ม 19 : อคิลลีสคืนดีกับอักกะเมมนอน และกลับเข้าร่วมรบ
  • เล่ม 20 : เทพเจ้ากลับเข้าร่วมในการรบอีก อคิลลีสพยายามสังหารอีเนียส
  • เล่ม 21 : อคิลลีสรบกับทัพสกาแมนเดอร์จำนวนมาก ประจันหน้ากับเฮกเตอร์ที่หน้าประตูเมืองทรอย
  • เล่ม 22 : อคิลลีสสังหารเฮกเตอร์และลากร่างของเขากลับไปค่ายทัพกรีก
  • เล่ม 23 : งานศพของปโตรกลัส
  • เล่ม 24 : ท้าวเพรียม กษัตริย์เมืองทรอย ลอบเข้าค่ายทัพกรีก ขอร้องอคิลลีสให้คืนร่างของเฮกเตอร์ อคิลลีสยอมตาม ร่างของเฮกเตอร์จึงได้นำกลับไปทำพิธีศพบนกองฟืน

เหตุการณ์หลังจาก อีเลียด

[แก้]

ตอนจบของ อีเลียด เต็มไปด้วยลางร้ายมากมายอันเนื่องจากการเสียชีวิตของเฮกเตอร์ และดูเหมือนว่าชะตาของกรุงทรอยได้มาถึงจุดจบ แต่โฮเมอร์มิได้แสดงรายละเอียดของการล่มสลายของกรุงทรอยไว้ รายละเอียดของการล่มสลายสามารถดูเพิ่มเติมได้จาก สงครามเมืองทรอย ส่วนกวีนิพนธ์ของโฮเมอร์อีกเรื่องหนึ่งคือ โอดิสซีย์ เล่าถึงเหตุการณ์ระหว่างการเดินทางกลับบ้านของโอดิซูส หลังจากเสร็จศึกกรุงทรอย กวีนิพนธ์ทั้งสองเรื่องนี้มีส่วนเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน แต่ไม่ได้ต่อเนื่องกัน

ตัวละครหลัก

[แก้]
เฮเลนแห่งทรอย ต้นเหตุแห่งสงครามล่มเมือง

มหากาพย์ อีเลียด มีตัวละครปรากฏในเรื่องเป็นจำนวนมาก ในที่นี้จะกล่าวถึงตัวละครหลักจำนวนหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญเท่านั้น

ฝ่ายเอเคียน

[แก้]

ชาวเอเคียน (Achaean) หรือที่ปัจจุบันแปลมาเป็น ชาวกรีก บางครั้งก็เรียกว่า ชาว Danaans (Δαναοί : ปรากฏในมหากาพย์ 138 ครั้ง) หรือชาว Argives ('Aργεĩοι : ปรากฏในมหากาพย์ 29 ครั้ง) มีตัวละครหลักดังนี้

  • อคิลลีส ชาวเมอร์มิดอน บุตรนางอัปสรธีทิส เมื่อเด็กได้จุ่มร่างในแม่น้ำสติกส์อันศักดิ์สิทธิ์ ทำให้กายเป็นอมตะไม่ระคายคมดาบ เว้นแต่ที่ข้อเท้าซึ่งมารดากุมไว้ขณะจุ่มร่าง
  • อักกะเมมนอน เจ้าเมืองไมซินีและอาร์กอส พี่ชายของเมนนิเลอัส เป็นแม่ทัพหลวงในการยกทัพไปตีเมืองทรอย
  • เมนนิเลอัส เจ้าเมืองสปาร์ตา เป็นสามีของนางเฮเลน
  • อจักส์ ผู้ทรงพลัง
  • ไดโอมิดีส
  • โอดิซูส หรือ ยูลิซีส ผู้เฉลียวฉลาด
  • ปโตรกลัส ญาติและสหายสนิทของอคิลลีส
  • ฟิลอกทีทีส ผู้ครองคันธนูพร้อมลูกอาบเลือดไฮดราของเฮอร์คิวลีส
  • ฟีนิกซ์

ฝ่ายทรอย

[แก้]
  • ท้าวเพรียม เจ้าเมืองทรอย บิดาของเฮกเตอร์และปารีส
  • เฮกเตอร์ เจ้าชายเมืองทรอย
  • ปารีส เจ้าชายเมืองทรอย ผู้ชิงตัวนางเฮเลนมาจากเมืองสปาร์ตา เป็นเหตุให้เกิดสงคราม
  • อีเนียส บุตรของเทพีวีนัส (หรืออโฟรไดท์) นักรบเมืองทรอย
  • นางเฮเลน เดิมเป็นภริยาของกษัตริย์เมนนิเลอัส ถูกเจ้าชายปารีสชิงตัวมาเมืองทรอย เป็นชนวนให้เกิดสงครามเมืองทรอย
  • นางเฮกคิวบา ชายาของท้าวเพรียม มารดาของเฮกเตอร์และปารีส
  • นางอันโดรมาคี ภริยาของเฮกเตอร์
  • นางไบรเซอีส ชาวเมืองทรอย ถูกจับตัวไปเป็นเชลยแก่อคิลลีส แต่นางหลงรักอคิลลีส ภายหลังถูกอักกะเมมนอนชิงตัวไป ทำให้อคิลลีสโกรธและไม่เข้าช่วยในการรบ
  • นางไครเซอีส บุตรีของไครสีส เจ้าพิธีศาลเทพอพอลโล ถูกพวกกรีกชิงตัวไปให้อักกะเมมนอน ทำให้ไครสีสทำบูชาเทพอพอลโลให้ลงมาสั่งสอนฝ่ายกรีก เป็นเหตุการณ์ที่เทพเข้ามาร่วมในการสงครามเป็นครั้งแรก

แก่นของเรื่อง

[แก้]

นอสตอส

[แก้]

นอสตอส (อังกฤษ: Nostos; กรีกโบราณ: νόστος) (พหูพจน์ nostoi) เป็นคำภาษากรีกโบราณ หมายถึง "การกลับบ้าน" คำนี้ปรากฏในมหากาพย์ทั้งสิ้น 7 ครั้ง และรูปแบบการบรรยายเช่นนี้มักปรากฏทั่วไปในวรรณกรรมกรีก เช่น มหากาพย์โอดิสซีย์ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการเดินทางกลับบ้านของโอดิซูส นับเป็นตัวอย่างที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของรูปแบบวรรณกรรมประเภทนี้ นอสตอสไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากไม่สามารถยึดเมืองทรอย จึงเป็นแรงผลักดันสำคัญของอักกะเมมนอนที่จะเอาชนะให้ได้ไม่ว่าจะต้องสูญเสียสักเท่าใด

คลีออส

[แก้]

คลีออส (Kleos ภาษากรีก: κλέος) เป็นคำภาษากรีกโบราณ หมายถึง "ชื่อเสียงอันรุ่งโรจน์" ตัวละครบางตัวโดยเฉพาะโอดิซูส คลีออสของเขาคือการได้ชัยชนะและกลับมาตุภูมิ ในขณะที่อคิลลีสอาจต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ในมหากาพย์ อีเลียด มีความตอนหนึ่งซึ่งอคิลลีสเล่าให้โอดิซูส ฟีนิกซ์ และอจักส์ สหายของเขาฟังเกี่ยวกับชะตาของเขา ว่าจะต้องเลือกระหว่างชัยชนะ กับการได้กลับบ้าน คลีออสของอคิลลีสเป็นสิ่งพิเศษ ในวรรณกรรมเอ่ยถึงว่า kleos aphthiton (ภาษากรีก: κλέος ἄφθιτον) ซึ่งหมายถึง "ชื่อเสียงอันเป็นนิรันดร์" คำนี้มีการเอ่ยถึงในมหากาพย์อีเลียด 5 ครั้ง ล้วนแต่กล่าวถึงสิ่งไม่มีชีวิต ได้แก่ คทาของอักกะเมมนอน ล้อรถของฮีบ คฤหาสน์โพไซดอน บัลลังก์เทพซูส และคฤหาสน์เฮไฟสตอส ตามลำดับ มีเพียงอคิลลีสซึ่งเป็นมนุษย์เพียงผู้เดียวได้รับการเอ่ยถึงด้วยคำนี้ ซึ่งเป็นการเน้นย้ำถึงชัยชนะอันยิ่งใหญ่ที่รอเขาอยู่ หากเขาตัดสินใจอยู่เพื่อสู้ศึกเมืองทรอย

ทิเม

[แก้]

ทิเม (Timê ภาษากรีก: тιμή) เป็นสิ่งที่เกี่ยวพันกับคลีออสอย่างใกล้ชิด มีความหมายว่า "ความเคารพนับถือ" หรือ "เกียรติ" ทิเมของแต่ละบุคคลขึ้นกับสถานะเมื่อยังมีชีวิตอยู่ หรือผลลัพธ์จากการสงคราม ปัญหาของทัพกรีกเริ่มต้นขึ้นเมื่ออักกะเมมนอนหมิ่นเกียรติไครสิสโดยการลักพาตัวบุตรสาวของเขา ต่อมาอคิลลีสก็โกรธอักกะเมมนอนเมื่อเขาแสดงออกว่าไม่ให้เกียรติแก่อคิลลีส ว่าไม่มีความสำคัญต่อทัพกรีก

พิโรธของอคิลลีส

[แก้]
The Wrath of Achilles (พิโรธของอคิลลีส) วาดโดย มิเชล ดรอลลิง ค.ศ. 1819

ดังได้กล่าวไว้ในตอนต้นแล้วว่า คำแรกของมหากาพย์ อีเลียด คือ μῆνιν (mēnin) ซึ่งหมายถึง "พิโรธ" อันเป็นการประกาศถึงหลักการของงานประพันธ์ชิ้นนั้นที่โฮเมอร์ตั้งใจสื่อออกมา นั่นคือความกริ้วโกรธาของอคิลลีส อารมณ์ของอคิลลีสเป็นตัวดำเนินเรื่องทั้งหมด นับแต่ความพ่ายแพ้ของทัพกรีก การเสียชีวิตของปโตรกลัส จนถึงการสังหารเฮกเตอร์ และนำไปสู่การล่มสลายของทรอย ซึ่งแม้จะมิได้กล่าวถึงโดยตรงใน อีเลียด แต่ได้มีการชี้นัยยะให้ทราบอย่างชัดเจนหลายครั้ง ความพิโรธของอคิลลีสปรากฏครั้งแรกในหนังสือเล่มที่ 1 เมื่ออักกะเมมนอนหมิ่นเกียรติไครสิส เจ้าพิธีศาลอพอลโลของเมืองทรอย โดยชิงตัวนางไครเซอีสบุตรีของเขามา และไม่ยอมคืนให้แม้จะเสนอ "ของขวัญมากมายเกินคณานับ"[7] ไครสีสจึงอธิษฐานต่อเทพอพอลโล ทำให้ทรงบันดาลฝนธนูมากมายตกใส่กองทัพกรีกเป็นเวลาเก้าวัน อคิลลีสกล่าวหาว่าอักกะเมมนอนเป็น "ผู้ละโมบที่สุดในหมู่มนุษย์"[8] อักกะเมมนอนยอมคืนนางไครเซอีส แต่ให้แลกกับนางไบรเซอีส ทาสสาวผู้เป็นที่รักของอคิลลีสมาแทน

โทสะของอคิลลีสคราวนี้มีเพียงเทพีอะธีนาเท่านั้นที่สามารถระงับไว้ได้ จากนั้นอคิลลีสสาบานว่าจะไม่ฟังคำสั่งของอักกะเมมนอนอีก และไปร้องขอต่อนางธีทิสผู้มารดา ให้อ้อนวอนต่อเทพซูสให้โปรดบันดาลชัยชนะแก่ฝ่ายเมืองทรอยเพื่อลงโทษอักกะเมมนอน ผลจากการนี้ทำให้ทัพเมืองทรอยโดยการนำของเฮกเตอร์เกือบจะเอาชนะทัพกรีก ขับไล่ทัพกรีกลงทะเลไปได้ (เล่มที่ 12)

"พิโรธของอคิลลีส" ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อผลการรบอีกครั้งหนึ่ง เมื่อเพื่อนสนิทของเขา (และอาจเป็นคนรักด้วย) คือ ปโตรกลัส สวมเสื้อเกราะของอคิลลีสออกไปร่วมรบ และถูกสังหารในระหว่างการรบกับเฮกเตอร์ เมื่อเนสเตอร์กลับมารายงานเขา อคิลลีสร่ำไห้เสียใจมาก คร่ำครวญและดึงทึ้งเส้นผมของตน นางธีทิสมาปลอบโยนบุตร แต่เขาก็ไม่อาจคลายความแค้นได้ อคิลลีสบอกกับมารดาว่าเขาจะแก้แค้นเฮกเตอร์ แม้ชะตาของเขาจะผูกอยู่กับเฮกเตอร์ แต่เขายอมสิ้นชีวิตเพื่อแก้แค้นให้เพื่อน

อคิลลีสกลับเข้ารบเมืองทรอยอีกครั้งด้วยโทสะอันเกิดจากความตายของปโตรกลัส เขาสังหารทหารทรอยไปมากมายจนได้พบกับเฮกเตอร์กลางสนามรบ (เล่ม 22) เขาไล่กวดเฮกเตอร์ไปรอบกำแพงเมืองถึงสามรอบก่อนจะสังหารลงได้ โทสะสุดท้ายของอคิลลีสคือการลากศพของเฮกเตอร์ไปกับรถศึกกลับไปยังค่ายกองทัพกรีก แต่ภายหลังก็ยอมส่งร่างของเฮกเตอร์คืนแก่ท้าวเพรียม ซึ่งลอบเข้ามาในค่ายกองทัพกรีก วิงวอนขอศพบุตรของตนคืน

โชคชะตา

[แก้]
ประติมากรรมนูนต่ำที่พิพิธภัณฑ์ลูฟร์ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส แสดงเหตุการณ์ในเล่ม 24 ตอนนำร่างเฮกเตอร์กลับกรุงทรอย

โชคชะตาเป็นส่วนสำคัญมากอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ ในมหากาพย์ อีเลียด ซึ่งไม่ว่ามนุษย์หรือเทพเจ้าก็ต้องเคารพอย่างเคร่งครัดเมื่อชะตานั้นได้ถูกกำหนดไว้แล้ว โดยไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ผู้ใดเป็นผู้กำหนดโชคชะตานั้นไม่ปรากฏ แต่ทั้งเทพเจ้าและมนุษย์ต่างเอ่ยถึงคำพยากรณ์ต่าง ๆ ตลอดทั้งมหากาพย์ บรรดาวีรบุรุษต่างยินดีรับชะตากรรมของตนอย่างกล้าหาญ การพยายามหลีกหนีชะตากรรมถือเป็นความขลาด ปโตรกลัสยินดีรับความตายจากเฮกเตอร์ เช่นกันกับที่เฮกเตอร์ยินดีประลองกับอคิลลีสทั้งที่รู้ว่าตนจะต้องตาย และอคิลลีสก็ยินดีตายโดยการสังหารเฮกเตอร์เพื่อแก้แค้นให้แก่สหาย และเพื่อให้กองทัพของตนสามารถชนะศึกเมืองทรอย

ในเนื้อเรื่องมีเหตุการณ์ที่แสดงถึงโอกาสจะแก้ไขเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เช่นที่เกิดกับเทพเจ้าซูส เมื่อบุตรของพระองค์คือ ซาร์เพดอน กำลังจะถูกปโตรกลัสสังหาร พระองค์สามารถบันดาลแก้ไขเหตุการณ์ได้ แต่เมื่อทรงปรับทุกข์กับเทพีเฮราพระมเหสี นางห้ามปรามไว้ พระองค์จึงต้องปล่อยให้ชะตากรรมดำเนินไปโดยไม่ได้แก้ไข อีกคราวหนึ่ง ซูสคิดจะช่วยชีวิตเฮกเตอร์ ซึ่งเป็นนักรบที่พระองค์โปรดปรานและนับถือ แต่เทพีอะธีนาก็ห้ามปรามไว้

เทพปกรณัมใน อีเลียด

[แก้]

แม้ว่าเหล่าเทพเจ้ากรีก หรือมนุษย์กึ่งเทพทั้งหลาย จะมีบทบาทอย่างมากในเรื่อง อีเลียด นักวิชาการสังเกตว่า การปรากฏของเหล่าเทพเจ้าในงานของโฮเมอร์เป็นการแหวกประเพณีดั้งเดิมที่ชาวกรีกมีต่อศรัทธาของตน เทพเจ้าใน อีเลียด ดำเนินบทบาทไปตามความประสงค์ของผู้ประพันธ์เพื่อช่วยเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้น แทนที่จะเป็นองค์อุดมคติอยู่ในปกรณัมเหมือนอย่างที่เคย เฮโรโดทัส นักประวัติศาสตร์คลาสสิกอ้างว่า โฮเมอร์และเฮสิโอดเพื่อนของเขา เป็นผู้แรกที่อ้างถึงและบรรยายลักษณะตัวละครแบบเทพเจ้าในงานประพันธ์[9]

นักวิชาการอีกคนหนึ่งคือ แมรี เลฟโควิทซ์ เขียนในหนังสือของเธอ ชื่อ Greek Gods: Human Lives (เทพเจ้ากรีกก็คือมนุษย์) แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำต่าง ๆ ของเหล่าเทพเจ้าในมหากาพย์ อีเลียด และพยายามค้นหาว่า การกระทำของเหล่าเทพเป็นไปเพื่อความต้องการส่วนตัวของพวกเขา หรือเป็นการอุปมาเปรียบเทียบกับลักษณะนิสัยของมนุษย์กันแน่ นักประพันธ์ยุคคลาสสิกหลายคน เช่น ธูซิดิดีส และ เพลโต ให้ความสนใจกับตัวละครเทพเจ้าในงานของโฮเมอร์ว่าเป็นเพียง "วิธีการบอกเล่าถึงชีวิตของมนุษย์แทนที่จะพูดความจริงตรง ๆ"[10] แต่เธอกลับเห็นว่า หากเรามองดูเหล่าเทพเจ้ากรีกในฐานะองค์ประกอบทางศาสนา มิใช่เพียงการอุปมา จะเป็นการเปิดโลกทัศน์อันยิ่งใหญ่ให้เห็นถึงอัจฉริยะของชาวกรีกโบราณ ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีหนังสือศักดิ์สิทธิ์หรือกฎเกณฑ์แห่งเหตุผลอันใด ชาวกรีกก็สามารถจินตนาการถึงเหล่าเทพที่เข้ากันได้กับองค์ประกอบของ "ศาสนา" เป็นอย่างดี[11]

อีเลียด ในฐานะมุขปาฐะ

[แก้]

มหากาพย์ อีเลียด และ โอดิสซีย์ นับว่าเป็นวรรณกรรมคลาสสิกของกรีกโบราณชิ้นสำคัญที่สุด และถือเป็นงานพื้นฐานสำคัญของวรรณกรรมกรีกในยุคต่อมา นอกเหนือจากความเป็นโคลงโบราณที่มีบทพรรณนาอย่างลึกซึ้งแล้ว มันยังเป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรมต่าง ๆ ของกรีกที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อทางศาสนาด้วย ในงานเฉลิมฉลองทางศาสนาของกรีก จะมีการขับร้องบทกวีนี้ตลอดทั้งคืน[12] (ถ้าอ่านด้วยวิธีธรรมดาจะใช้เวลาประมาณ 14 ชั่วโมง) โดยจะมีผู้ฟังเข้าและออกเรื่อย ๆ เพื่อมาฟังบทที่เขาชื่นชอบเป็นพิเศษ

นักวิชาการด้านวรรณกรรมถือเอา อีเลียด และ โอดิสซีย์ เป็นงานประพันธ์แบบกวีนิพนธ์ และมักนับว่าโฮเมอร์เป็นกวีด้วย แต่เมื่อถึงช่วงปลายคริสต์ทศวรรษที่ 19 ถึงช่วงต้นคริสต์ศตวรรณที่ 20 เหล่านักวิชาการก็เริ่มสงสัยว่าข้อสมมุติฐานนี้ถูกต้องหรือไม่ มิลแมน แพรี่ (Milman Parry) นักวิชาการยุคคลาสสิกคนหนึ่งพบว่าลักษณะงานประพันธ์ของโฮเมอร์มีความเฉพาะเจาะจงอย่างน่าประหลาด ในการเลือกใช้คำคุณศัพท์ รวมถึงคำขยายคำนาม วลี หรือประโยค ที่ซ้ำไปซ้ำมา ซึ่งเขาเห็นว่าลักษณะเช่นนี้เป็นลักษณะของเรื่องเล่าปากเปล่า หรือวรรณกรรมแบบมุขปาฐะ[13][14] ผู้แต่งจะใช้คำหรือวลีที่มีรูปแบบแน่นอนเพราะจะเข้าสัมผัสในฉันทลักษณ์แบบ hexameter ได้ง่ายกว่า ยิ่งกว่านั้น แพรี่ยังสังเกตว่าโฮเมอร์ระบุสร้อยนามของตัวละครหลักแต่ละตัวด้วยคำเฉพาะแบบสองพยางค์ซึ่งจะบรรจุลงได้ครึ่งบรรทัด จึงสันนิษฐานว่าเขาน่าจะแต่งสด ๆ ทีละครึ่งบรรทัด ส่วนครึ่งที่เหลือก็จะเอ่ยไปโดยอัตโนมัติด้วยวลีสามัญ เพื่อพิสูจน์ทฤษฎีนี้ แพรี่เดินทางไปยังยูโกสลาเวียเพื่อศึกษาวรรณกรรมมุขปาฐะของท้องถิ่นนั้น เขาพบกว่ากวีมักใช้คำที่ซ้ำ ๆ และคำเอื้อน คำสร้อย เพื่อให้มีเวลาแต่งบทกวีวรรคต่อไป การศึกษาของแพรี่ช่วยเปิดแนวทางการศึกษาแนวคิดเรื่องวรรณกรรมมุขปาฐะมากขึ้น

อีเลียด ในศิลปะและวรรณกรรมอื่น

[แก้]
ฉากหนึ่งจากเรื่อง ทรอยลัสและเครสสิดา ของ เช็กสเปียร์ ภาพวาดโดย แองเจลิกา คอฟฟ์มานน์
ภาพปก อีเลียม ของ แดน ซิมมอนส์

เรื่องสืบเนื่องจากสงครามเมืองทรอยที่สำคัญ และเป็นงานประพันธ์ของกรีก ได้แก่งานไตรภาคเรื่อง Oresteia ของ Aeschylus นักเขียนชาวกรีก เป็นเรื่องราวของอักกะเมมนอนหลังจากที่เขาเดินทางกลับจากสงคราม

วิลเลียม เช็กสเปียร์ ใช้โครงเรื่องของ อีเลียด เป็นวัตถุดิบในการเขียนบทละครเรื่อง "ทรอยลัสและเครสสิดา" (Troilus and Cressida) แต่เน้นเนื้อหาไปที่ความรักของทรอยลัส เจ้าชายเมืองทรอยและโอรสองค์หนึ่งของท้าวเพรียม กับหญิงสาวชาวทรอยชื่อ เครสสิดา บทละครนี้มักถูกนับเป็นละครชวนหัว ซึ่งเป็นเรื่องตรงข้ามกับมุมมองของสงครามเมืองทรอย เนื้อเรื่องบรรยายให้อคิลลีสเป็นคนขี้กลัว ส่วนอจักส์เป็นไอ้ทึ่ม เป็นต้น

ปี ค.ศ. 1954 ละครบรอดเวย์เรื่อง The Golden Apple เขียนบทโดย John Treville Latouche และอำนวยเพลงโดย Jerome Moross ได้ดัดแปลงเนื้อหามาจากทั้งอีเลียดและโอดิสซีย์ เนื้อเรื่องเป็นเหตุการณ์ในรัฐวอชิงตันของสหรัฐอเมริกา ในช่วงหลังสงครามระหว่างอเมริกากับสเปน เหตุการณ์ในองก์ที่หนึ่งได้แรงบันดาลใจจาก อีเลียด ส่วนองก์ที่สองได้แรงบันดาลใจจาก โอดิสซีย์

ปี ค.ศ. 1983 นวนิยายเรื่องหนึ่งของ คริสตา วูลฟ์ เรื่อง คาสซานดรา นับเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับมหากาพย์ อีเลียด อย่างสำคัญ ผู้บรรยายเรื่องราวของวูลฟ์ คือ คาสซานดรา ซึ่งบรรยายความคิดของนางก่อนจะถูกคลีเทมเนสตราสังหารในสปาร์ตา ผู้บรรยายของวูลฟ์แสดงแนวคิดของสตรีที่มีต่อสงคราม และเรื่องเกี่ยวกับสงครามเอง ซึ่งสื่อถึงความคิดของวูลฟ์ในฐานะนักเขียน และผู้เขียนเทพปกรณัมขึ้นในมุมมองใหม่โดยตีความจากการอ่านประกอบกับการเดินทางไปเยือนกรีซของเธอ

มีการ์ตูนชุดจำนวนมากที่นำเรื่องราวของสงครามเมืองทรอยมาเล่าใหม่ เรื่องที่ยาวและครอบคลุมที่สุดคือ เอจออฟบรอนซ์[15] ของนักเขียนการ์ตูน อีริค ชาโนเวอร์ ซึ่งนำเรื่องราวในวรรณกรรมกับการขุดค้นทางโบราณคดีมาผสมผสานกัน การ์ตูนชุดนี้เริ่มฉายในปี ค.ศ. 1999 มีทั้งสิ้น 7 ชุด

นักวาดภาพชาววอชิงตัน ดี.ซี. เดวิด ริชาร์ดสัน เริ่มชุดงานเขียนเกี่ยวกับ อีเลียด ในปี ค.ศ. 2002 โดยใช้ชื่อชุดว่า "สงครามเมืองทรอย" เขาตั้งใจให้ภาพวาดแต่ละภาพเป็นอนุสาวรีย์แก่ตัวละครแต่ละตัวในเรื่อง อีเลียด และตั้งชื่อตามชื่อของตัวละครที่ปรากฏในบทกวี ถึงเดือนตุลาคม ค.ศ. 2007 ริชาร์ดสันวาดภาพไปแล้วทั้งสิ้นกว่า 80 ภาพ และยังวาดไม่ครบ

วงดนตรีเพาเวอร์เมทัล ชื่อ ไบลน์การ์เดียน (Blind Guardian) ประพันธ์เพลงเกี่ยวกับ อีเลียด มีความยาว 14 นาที ชื่อ "And Then There Was Silence" ในอัลบัมปี 2002 ของพวกเขาชุด A Night at the Opera[16] ก่อนหน้านี้ในปี 1992 วงดนตรีเพาเวอร์เมทัลชื่อ แมโนวอร์ (Manowar) ประพันธ์เพลงเมดเล่ย์ความยาว 28 นาที ชื่อ "Achilles, Agony and Ecstasy in Eight Parts" ในอัลบัมชื่อ The Triumph of Steel[17]

ปี ค.ศ. 2003 นักเขียนนิยายผู้มีชื่อเสียง แดน ซิมมอนส์ ดัดแปลงมหากาพย์เรื่องนี้เป็นมหากาพย์ไซไฟ ใช้ชื่อว่า อีเลียม (Ilium) นวนิยายเรื่องนี้ได้รับรางวัลโลกัส โพลสำหรับนวนิยายวิทยาศาสตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี 2004[18]

ปี ค.ศ. 2004 ภาพยนตร์เรื่อง ทรอย นำโครงเรื่อง อีเลียด มาดัดแปลงอย่างหลวม ๆ โดยมี แบรด พิตต์ แสดงเป็น อคิลลีส ออร์ลันโด บลูม เป็น ปารีส อีริก บานา เป็น เฮกเตอร์ ฌอน บีน เป็น โอดิซูส ไบรอัน คอกซ์ เป็น อักกะเมมนอน และ ปีเตอร์ โอ ทูล เป็น เพรียม กำกับการแสดงโดยผู้กำกับชาวเยอรมัน ว็อล์ฟกัง เพเทอร์เซิน บทภาพยนตร์ใช้เค้าโครงเรื่องของโฮเมอร์เพียงเล็กน้อย ตัดบทบาทของเหล่าเทพออกไปเกือบหมด เหลือเพียงฉากของมารดาของอคิลลีส คือนางอัปสรธีทีส กระนั้นความเป็นสิ่งเหนือธรรมชาติของนางก็มิได้แสดงออกมาในภาพยนตร์ และนางยังมีอายุมากเหมือนหนึ่งเป็นมนุษย์ธรรมดา ภาพยนตร์ได้รับคำวิจารณ์ทั้งบวกและลบปะปนกันไป แต่ประสบความสำเร็จทางการเงินอย่างมากโดยเฉพาะในการออกฉายระดับนานาชาติ โดยทำเงินได้ 133 ล้านเหรียญสหรัฐสำหรับการฉายในประเทศสหรัฐอเมริกา และ 481 ล้านเหรียญสหรัฐสำหรับรายได้รวมทั่วโลก สามารถขึ้นไปอยู่ใน 60 อันดับแรกของภาพยนตร์ทำเงินตลอดกาล[19]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Pierre Vidal-Naquet, Le monde d'Homère, Perrin 2000, p19
  2. From the Iliad... เก็บถาวร 2008-05-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียงความเรื่อง ปกรณัมกรีก จาก message.net.com
  3. มาร์ติน แอล. เวสต์. Greek Epic Fragments from the Seventh to the Fifth Centuries BC สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด, 2003
  4. ริชาร์ด ซีฟอร์ด Money and the Early Greek Mind: Homer, Philosophy, Tragedy เก็บถาวร 2008-02-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์, 2004
  5. Homer จาก Crystalinks.com
  6. Iliad จาก พจนานุกรมตำนานกรีก mlahanas.de
  7. Homer. The Iliad. แปลโดย Richmond Lattimore. ชิคาโก: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยชิคาโก, 1951. 1.13.
  8. Homer. The Iliad. แปลโดย Richmond Lattimore. ชิคาโก: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยชิคาโก, 1951. 1.122.
  9. อีเลียด ของโฮเมอร์ : Classical Technology Center. http://ablemedia.com/ctcweb/netshots/homer.htm
  10. แมรี เลฟโควิทซ์. Greek Gods: Human Lives. New Haven, CT: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเยล, 2003
  11. โอลิเวอร์ แทปลิน. "Bring Back the Gods." นิวยอร์กไทมส์. 14 ธันวาคม 2003.
  12. Hum 110 Iliad Homepage หลักสูตรการเรียนการสอนที่วิทยาลัยรีดส์
  13. Casey Dué. Ancient Greek Oral Genres[ลิงก์เสีย]. มหาวิทยาลัยฮูสตัน
  14. Homeric interpretation มหาวิทยาลัยพิตส์เบิร์ก
  15. ดักลาส โวล์ค War goes graphic เก็บถาวร 2008-05-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน บทวิจารณ์ภาพยนตร์การ์ตูน เอจออฟบรอนซ์ ที่ salon.com, 21 กุมภาพันธ์ 2008
  16. บทวิจารณ์งานเพลงชุด A Night at the Opera ของ Blind Guardian
  17. เอเลียโนรา คาวัลลินิ Achilles in the age of metal (Manowar, The Triumph of Steel, 1992) เก็บถาวร 2014-09-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  18. "2004 Locus Awards". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-12-24. สืบค้นเมื่อ 2008-04-23.
  19. All-Time Worldwide Box office

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
pFad - Phonifier reborn

Pfad - The Proxy pFad of © 2024 Garber Painting. All rights reserved.

Note: This service is not intended for secure transactions such as banking, social media, email, or purchasing. Use at your own risk. We assume no liability whatsoever for broken pages.


Alternative Proxies:

Alternative Proxy

pFad Proxy

pFad v3 Proxy

pFad v4 Proxy