โอลกา คอนสแตนตินอฟนา แห่งรัสเซีย
โอลกา คอนสแตนตินอฟนา แห่งรัสเซีย | |
---|---|
พระฉายาลักษณ์สมเด็จพระราชินีโอลกาแห่งกรีซ | |
สมเด็จพระราชินีแห่งชาวเฮเลนส์ | |
ระหว่าง | 27 ตุลาคม ค.ศ. 1867 - 18 มีนาคม ค.ศ. 1943 |
ก่อนหน้า | อมาเลียแห่งอ็อลเดินบวร์ก |
ถัดไป | โซเฟียแห่งปรัสเซีย |
พระราชสมภพ | 3 กันยายน ค.ศ. 1851 ณ ปาฟลอฟก์ เซนต์ปีเตอส์เบิร์ก จักรวรรดิรัสเซีย |
สวรรคต | 18 มิถุนายน ค.ศ. 1926 (74 พรรษา) |
พระราชสวามี | พระเจ้าจอร์จที่ 1 แห่งกรีซ |
พระราชบุตร | พระเจ้าคอนสแตนตินที่ 1 แห่งกรีซ เจ้าชายจอร์จ เจ้าหญิงอเล็กซานดรา เจ้าชายนิโคลัส เจ้าหญิงมาเรีย เจ้าหญิงโอลกา เจ้าชายแอนดรูว์ เจ้าชายคริสโตเฟอร์ |
ราชวงศ์ | ฮ็อลชไตน์-ก็อททอร์พ-โรมานอฟ (โดยประสูติ) กลึคส์บวร์ค (โดยการอภิเษกสมรส) |
พระราชบิดา | แกรนด์ดยุกคอนสแตนติน นีโคลาเยวิชแห่งรัสเซีย |
พระราชมารดา | เจ้าหญิงอเล็กซานดราแห่งซัคเซิน-อัลเทนบูร์ก |
ลายพระอภิไธย |
แกรนด์ดัชเชสโอลกา คอนสแตนตินอฟนาแห่งรัสเซีย (อังกฤษ: Olga Constantinovna; รัสเซีย: О́льга Константи́новна Рома́нова) ต่อมาเป็น สมเด็จพระราชินีโอลกาแห่งชาวเฮลเลนส์ (กรีก: Βασίλισσα Όλγα των Ελλήνων) (3 สิงหาคม [ปฏิทินเก่า 22 สิงหาคม] ค.ศ. 1851 – 18 มิถุนายน ค.ศ. 1926) เป็นพระมเหสีในพระเจ้าจอร์จที่ 1 แห่งกรีซ และทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แห่งกรีซเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ ใน ค.ศ. 1920 เจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระเป็นพระราชนัดดาของพระองค์
แกรนด์ดัชเชสโอลกาทรงเป็นสมาชิกพระราชวงศ์โรมานอฟ พระองค์เป็นพระธิดาในแกรนด์ดยุกคอนสแตนติน นีโคลาเยวิชกับเจ้าหญิงอเล็กซานดราแห่งซัคเซิน-อัลเทนบูร์ก พระองค์ใช้พระชนม์ชีพวัยเยาว์ในเซนต์ปีเตอส์เบิร์ก โปแลนด์ และคาบสมุทรไครเมีย พระนางอภิเษกสมรสกับพระเจ้าจอร์จที่ 1 แห่งกรีซใน ค.ศ. 1867 ขณะมีพระชนมายุ 16 พรรษา ในตอนแรก พระองค์ทรงรู้สึกไม่สบายพระทัยเมื่อได้มาประทับที่ราชอาณาจักรกรีซ แต่พระองค์ทรงเข้ามามีส่วนร่วมอย่างรวดเร็วในงานสังคมและการกุศล สมเด็จพระราชินีโอลกาทรงก่อตั้งโรงพยาบาลและศูนย์ช่วยเหลือ แต่ความพยายามของพระองค์ในการสนับสนุนให้เกิดการเข้าถึงที่มากขึ้นในการแปลพระวรสารเป็นภาษากรีก ซึ่งกระตุ้นให้เกิดการจลาจลโดยฝ่ายอนุรักษ์นิยมทางศาสนา
ต่อมาพระสวามีของพระองค์ทรงถูกลอบปลงพระชนม์ใน ค.ศ. 1913 สมเด็จพระพันปีหลวงโอลกาได้เสด็จกลับรัสเซีย เมื่อสงครามโลกครั้งที่หนึ่งได้รุนแรงมากขึ้น พระนางทรงจัดตั้งโรงพยาบาลทหารที่พระราชวังปลอฟก์ ซึ่งเป็นพระราชวังของพระอนุชา พระองค์ต้องทรงถูกคุมขังในพระราชวังหลังจากการปฏิวัติรัสเซียใน ค.ศ. 1917 จนกระทั่งสถานเอกอัครราชทูตเดนมาร์กได้เข้ามาแทรกแซง ทำให้พระองค์ทรงได้รับการปล่อยตัวและเสด็จหนีไปยังสวิตเซอร์แลนด์ พระนางโอลกาไม่สามารถเสด็จกลับกรีซได้เนื่องจากพระเจ้าคอนสแตนตินที่ 1 แห่งกรีซ พระโอรสของพระองค์ทรงถูกโค่นล้มราชบัลลังก์
ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1920 พระองค์เสด็จกลับกรุงเอเธนส์เนื่องจากพระอาการบาดเจ็บที่ร้ายแรงของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์แห่งกรีซ พระราชนัดดา หลังจากพระเจ้าอเล็กซานเดอร์สวรรคต พระองค์ทรงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จนกระทั่งมีการฟื้นฟูพระเจ้าคอนสแตนตินที่ 1 กลับคืนสู่บัลลังก์ในเดือนถัดมา หลังจากที่กองทัพกรีกพ่ายแพ้ในสงครามกรีซ-ตุรกี (ค.ศ. 1919–1922) พระราชวงศ์กรีกต้องเสด็จลี้ภัยอีกครั้ง และพระนางโอลกาใช้เวลาช่วงปลายพระชนม์ชีพในสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศสและอิตาลี
พระราชวงศ์และช่วงต้นพระชนม์ชีพ
[แก้]แกรนด์ดัชเชสโอลกาประสูติที่พระราชวังปาฟลอฟก์ ใกล้กรุงเซนต์ปีเตอส์เบิร์ก ในวันที่ 3 กันยายน [ปฏิทินเก่า 22 สิงหาคม] ค.ศ. 1851 ทรงเป็นบุตรองค์ที่สองและเป็นพระธิดาในแกรนด์ดยุกคอนสแตนติน นีโคลาเยวิชกับแกรนด์ดัชเชสอเล็กซานดรา ซึ่งเดิมคือเจ้าหญิงแห่งซัคเซิน-อัลเทนบูร์ก โดยผ่านทางพระบิราชบิดา แกรนด์ดัชเชสโอลกาเป็นพระราชนัดดา (หลานปู่) ในจักรพรรดินีโคลัสที่ 1 แห่งรัสเซีย และเป็นพระภาติยะ (หลานลุง) ในจักรพรรดิอะเลคซันดร์ที่ 2 แห่งรัสเซีย และเป็นพระญาติในจักรพรรดิอะเลคซันดร์ที่ 3 แห่งรัสเซีย[1]
ช่วงวัยเยาว์ทรงใช้พระชนม์ชีพในพระตำหนักของพระราชบิดา รวมทั้งพระราชวังปาฟลอฟก์และที่พำนักในคาบสมุทรไครเมีย พระราชบิดาของพระองค์เป็นพระอนุชาในจักรพรรดิอะเลคซันดร์ที่ 2[2] และพระราชมารดาของพระองค์ทรงได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในสตรีที่ฉลาดและสง่างามที่สุดในราชสำนัก[3] แกรนด์ดัชเชสโอลกาทรงสนิทกับพระเชษฐา คือ แกรนด์ดยุกนิโคลัสอย่างมาก และเป็นหนึ่งในพระราชวงศ์เพียงไม่กี่พระองค์ที่ยังทรงติดต่อกับแกรนด์ดยุกอยู่หลังจากที่พระองค์ทรงถูกเนรเทศไปยังทาชเคนต์[4]
ขณะทรงพระเยาว์ แกรนด์ดัชเชสโอลกาทรงถูกกล่าวถึงว่าเป็นสาวน้อยเรียบ ๆ และอวบอ้วนด้วยพระพักตร์ที่กว้างและมีพระเนตรสีฟ้าใหญ่[5] ซึ่งแตกต่างจากพระขนิษฐาของพระองค์ คือ แกรนด์ดัชเชสเวรา ซึ่งมีพระอารมณ์สงบเสงี่ยม แต่ก็ทรงขี้อายอย่างมาก ตัวอย่างเช่นเมื่อทรงถูกซักถามโดยพระอาจารย์เกี่ยวกับบทเรียน พระองค์จะมีน้ำพระเนตรไหลเต็มและวิ่งออกไปจากห้องเรียน[6]
ใน ค.ศ. 1862 แกรนด์ดยุกคอนสแตนติน นีโคลาเยวิชได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอุปราชแห่งรัสเซียโปแลนด์โดยพระราชโองการของพระเชษฐา และต้องย้ายไปยังวอร์ซอพร้อมพระมเหสีและพระโอรสธิดา การประทับที่โปแลนด์เป็นเรื่องยากลำบากสำหรับแกรนด์ดยุกคอนสแตนติน ซึ่งทรงเป็นเหยื่อในความพยายามลอบปลงพระชนม์โดยนักชาตินิยมในวันที่พระองค์เสด็จถึงเมืองหลวงของโปแลนด์[7] แม้ว่าแกรนด์ดยุกคอนสแตนตินจะทรงริเริ่มดำเนินการในการเปิดเสรีและจัดตั้งให้ภาษาโปแลนด์เป็นภาษาทางการอีกครั้ง[7] แต่การก่อกวนการปฏิรูปโดยกลุ่มชาตินิยมโปแลนด์ก็ได้ทำให้เกิดความไม่พอใจขึ้น ท้ายสุดการลุกฮือเดือนมกราคม ค.ศ. 1863 และการทำให้รุนแรงขึ้นของฝ่ายแบ่งแยกดินแดนได้ผลักดันให้พระเจ้าซาร์ทรงเรียกพระอนุชากลับในเดือนสิงหาคม[8] ประสบการณ์อันยากลำบากของแกรนด์ดัชเชสโอลกาในโปแลนด์ได้เป็นรอยแผลลึกในพระทัยของพระองค์[9]
การหมั้นและเสกสมรส
[แก้]แกรนด์ดัชเชสโอลกาทรงพบกับพระเจ้าจอร์จที่ 1 แห่งกรีซ พระสวามีในอนาคต ครั้งแรกในเดือนกันยายน ค.ศ. 1863 โดยเสด็จมาเยี่ยมจักรพรรดิอะเลคซันดร์ที่ 2 แห่งรัสเซีย พระปิตุลาของแกรนด์ดัชเชสโอลกา ที่เซนต์ปีเตอส์เบิร์ก เพื่อมาขอบพระทัยที่พระองค์ทรงสนับสนุนในการเลือกพระเจ้าจอร์จให้ขึ้นครองราชบัลลังก์กรีซ กษัตริย์หนุ่มได้ทรงมีโอกาสพบปะกับแกรนด์ดยุกคอนสแตนตินและครอบครัวที่พระราชวังปาฟลอฟก์ ซึ่งที่นั่นทำให้พระเจ้าจอร์จทรงพบกับแกรนด์ดัชเชสโอลกาครั้งแรกซึ่งขณะนั้นพระนางมีพระชนมายุ 12 พรรษา[10] พระเจ้าจอร์จประทับในรัสเซียเพียงหกวัน และดูเหมือนในขณะนั้นทั้งสองพระองค์ยังไม่ทรงสนพระทัยกันมาก[11][12]
พระเจ้าจอร์จเสด็จเยือนรัสเซียอีกครั้งใน ค.ศ. 1867 เพื่อเสด็จไปเยี่ยมเจ้าหญิงดักมาร์ พระขนิษฐา ซึ่งอภิเษกสมรสกับซาเรวิชอะเลคซันดร์ (ต่อมาคือ จักรพรรดิอะเลคซันดร์ที่ 3 แห่งรัสเซีย) ไปในปีก่อนหน้านี้ พระองค์ตัดสินพระทัยที่จะแสวงหาคู่อภิเษกสมรสและมีพระดำริที่จะสร้างความสัมพันธ์กับแกรนด์ดัชเชสแห่งรัสเซีย ซึ่งประสูติมาในอีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์ เป็นสิ่งที่สร้างความสนพระทัยให้พระองค์มาก[13] แกรนด์ดัชเชสโอลกาทรงตกหลุมรักพระเจ้าจอร์จ แต่พระองค์ก็ยังทรงกังวลและกระวนกระวายเมื่อจำต้องเสด็จออกจากรัสเซีย พระองค์กันแสงตลอดคืนในช่วงระหว่างการหมั้น[14]
พระเจ้าจอร์จทรงขอแกรนด์ดัชเชสหมั้นต่อพระบิดาและพระมารดาของแกรนด์ดัชเชส ในตอนแรกพระบิดาของแกรนด์ดัชเชสไม่เต็มพระทัยที่จะทรงยอมรับการอภิเษกสมรส เพราะทรงคิดว่าพระธิดามีพระชนมายุเพียง 15 พรรษา ซึ่งยังทรงพระเยาว์เกินไป และการที่ทรงสนิทกับพระธิดา ทำให้ทรงกังวลถึงระยะทางที่ห่างไกลระหว่างกรีซและรัสเซีย สำหรับในส่วนของแกรนด์ดัชเชสอเล็กซานดรา พระมารดา ทรงมีความกระตือรือร้นมากกว่าพระสวามี และเมื่อมีสมาชิกราชวงศ์บางพระองค์ได้ท้วงติงว่าพระธิดาของพระนางทรงเยาว์วัยเกินไป พระนางก็ทรงตอบว่าโอลกาไม่ได้เป็นเด็กตลอดไป[13]
ในที่สุดด้วยเหตุผลทางการเมืองทำให้การอภิเษกสมรสเป็นไปได้ มีการกำหนดการอภิเษกสมรสระหว่างพระเจ้าจอร์จและแกรนด์ดัชเชสโอลกา โดยจะต้องให้แกรนด์ดัชเชสโอลกามีพระชนมายุครบ 16 พรรษาบริบูรณ์ ในขณะเดียวกันแกรนด์ดัชเชสต้องเข้ารับการฝึกอบรมและต้องทำการศึกษาจนกว่าจะถึงวันอภิเษกสมรส[13]
สมเด็จพระราชินีแห่งกรีซ
[แก้]อภิเษกสมรส
[แก้]แกรนด์ดัชเชสโอลกาและพระเจ้าจอร์จอภิเษกสมรสกันที่โบสถ์ในพระราชวังฤดูหนาว กรุงเซนต์ปีเตอส์เบิร์ก วันที่ 27 ตุลาคม [ปฏิทินเก่า 15 ตุลาคม] ค.ศ. 1867 และมีการจัดงานเลี้ยงเฉลิมฉลองเป็นเวลาห้าวันเต็ม ในระหว่างพระราชพิธี แกรนด์ดัชเชสโอลกาทรงฉลองพระองค์ตามแบบราชวงศ์โรมานอฟดั้งเดิม ฉลองพระองค์เย็บด้วยด้ายเงิน ตามแบบฉลองพระองค์ของจักรพรรดินีเยกาเจรีนาที่ 2 แห่งรัสเซีย โดยคล้องด้วยห่วงโซ่เพชรขนาดใหญ่และผ้าคลุมตัวเออร์มินสีกำมะหยี่แดง แกรนด์ดัชเชสยังทรงมงกุฎเพชรโคโคชนิค ประดับด้วยตรามหามงกุฎขนาดเล็กด้านบน และทรงปล่อยพระเกศาสามเส้นให้ลงมาแตะพระอังสา (ไหล่)[15]
หลังจากงานเลี้ยงทั้งห้าวันผ่านพ้นไปแล้ว ทั้งสองพระองค์ทรงใช้เวลาฮันนีมูนในช่วงสั้น ๆ ที่พระราชวังรอปชา ซึ่งห่างจากเซนต์ปีเตอส์เบิร์ก 50 กิโลเมตรทางตะวันตกเฉียงใต้จากนั้นทั้งสองพระองค์ได้เสด็จไปยังกรีซ ซึ่งสมเด็จพระราชินีผู้ทรงพระเยาว์ได้เสด็จมาครั้งแรก[15] แต่ก่อนที่จะเสด็จออกจากรัสเซีย พระนางโอลกาได้เสด็จไปพบกับพระปิตุลาของพระองค์ คือ จักรพรรดิอะเลคซันดร์ที่ 2 พระเจ้าซาร์ทรงบอกให้พระนางโอลกา "รักประเทศใหม่ให้มากกว่าตัวเองเป็นสองเท่า"[16]
การปรับตัวที่ยากลำบาก
[แก้]การปรับพระองค์ของสมเด็จพระราชินีโอลกาต่อประเทศใหม่เป็นเรื่องยาก ก่อนที่เสด็จออกจากรัสเซียและลาจากครอบครัวของพระองค์ พระองค์ยังทรงพระเยาว์และสัมภาระที่ทรงขนมาส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยตุ๊กตาและของเล่น พระอภิบาลของพระองค์ยังกังวลถึงความเยาว์ของพระนางที่ต้องเสด็จไปยังเอเธนส์ พระองค์จึงต้องเสด็จไปพร้อมกับผู้ดูแลตำหนักเพื่อช่วยในการถวายการศึกษา[15]
เมื่อสมเด็จพระราชินีโอลกาและพระเจ้าจอร์จได้เสด็จถึงเมืองไพรีอัสโดยเรือพระที่นั่ง สมเด็จพระราชินีวัยเยาว์ทรงฉลองพระองค์สีน้ำเงินและขาว ซึ่งเป็นสีประจำชาติกรีซ เพื่อให้ฝูงชนประทับใจ ในระหว่างเดินทางสู่เมืองหลวง ได้เกิดการก่อความไม่สงบครั้งใหญ่ โดยสมเด็จพระราชินีโอลกาซึ่งไม่ทรงคุ้นเคยกับการเดินขบวนประท้วงดังกล่าว ทำให้พระองค์เกือบทรงพระกันแสง แต่อย่างไรก็ตามสมเด็จพระราชินีไม่ทรงมีเวลาพักผ่อนเนื่องจากทรงต้องปฏิบัติพระกรณียกิจในงานเต้นรำซึ่งตัวแทนทางการได้จัดขึ้นซึ่งใช้เวลาหลายวันและในขณะที่พระนางไม่สามารถเข้าใจภาษากรีกได้ ซึ่งในที่สุดแล้ว มีคนไปพบสมเด็จพระราชินีโอลกาทรงพระกันแสงอยู่ใต้บันไดและทรงกอดตุ๊กตาหมีแน่น ในเวลาเพียงไม่กี่วันหลังจากที่เสด็จถึงราชอาณาจักร ซึ่งพระนางทรงเป็นที่คาดหวังของกิจกรรมของทางการ[17]
สมเด็จพระราชินีโอลกายังคงเป็นเด็กสาวที่ทรงเข้าพระทัยดีและพระองค์พยายามเรียนรู้การปฏิบัติตนในฐานะพระราชินี ดังนั้นพระองค์ใช้เวลาเพียงไม่กี่ปีในการเรียนรู้ภาษากรีกและภาษาอังกฤษ[2] พระองค์ยังทรงเรียนรู้วัตรปฏิบัติของผู้ปกครองและการต้อนรับผู้มาเยือน ในขั้นตอนแรกพระองค์ยังทรงลังเลพระทัย แต่ทรงสามารถสร้างความประทับใจอย่างมากในการเสด็จออกรับแขกอย่างเป็นทางการครั้งแรก เนื่องจากมีพระบุคลิกที่น่าเคารพซึ่งทรงแสดงให้เห็นถึงความยึดมั่น พระเจ้าจอร์จที่ 1 ตรัสถึงว่าพระราชินีทรงทำได้ดี[18]
ในการเรียนรู้วัตรปฏิบัติของพระราชินี สมเด็จพระราชินีโอลกาทรงขอคำปรึกษาจากพระสวามีและครอบครัวของพระองค์ พระองค์ทรงติดต่อกับแกรนด์ดยุกคอนสแตนติน พระบิดาและแกรนด์ดัชเชสอเล็กซานดรา พระมารดา ซึ่งพระมารดาทรงแนะนำให้พระองค์สนพระทัยในโบราณคดีและประวัติศาสตร์กรีกสมัยโบราณเพื่อให้ทรงได้รับการสนับสนุนจากประชาชน[19]
พระชนม์ชีพส่วนพระองค์
[แก้]ตลอดชีวิตการสมรส พระเจ้าจอร์จที่ 1 และสมเด็จพระราชินีโอลกาทรงเป็นคู่ที่มีความใกล้ชิด แม้ว่ากษัตริย์จะทรงเคยนอกพระทัยเป็นครั้งคราว แต่สมเด็จพระราชินีก็ทรงยอมรับได้[20][21] และในทางกลับกันทรงปฏิบัติต่างจากธรรมเนียมในสมัยนั้น ทั้งสองพระองค์ทรงใช้เวลาร่วมกันบ่อยครั้ง มีพระโอรสธิดาหลายพระองค์ ซึ่งเจริญพระชันษาภายใต้การอบรมเลี้ยงดูที่อบอุ่น[22] แต่เนื่องด้วยวัย พระเจ้าจอร์จที่ 1 มักจะทรงโต้เถียงกับพระโอรส และสมเด็จพระราชินีโอลกาทรงเสียพระทัยบ่อยครั้งเมื่อเกิดการทะเลาะวิวาทซึ่งมักจะมีเป็นระยะในครอบครัว[23]
โดยส่วนพระองค์แล้ว พระเจ้าจอร์จที่ 1 และสมเด็จพระราชินีโอลกามักจะตรัสภาษาเยอรมันเนื่องจากเป็นเพียงภาษาเดียวที่ทั้งสองพระองค์สามารถสื่อเข้าพระทัยกันได้ ในความเป็นจริงช่วงนั้น พระเจ้าจอร์จที่ 1 ไม่ทรงสันทัดในภาษาฝรั่งเศสและภาษารัสเซีย ในขณะที่สมเด็จพระราชินีไม่สามารถตรัสภาษาเดนมาร์ก ดังนั้นจึงตรัสภาษากรีกหรือไม่ก็ภาษาอังกฤษ[24] แต่เมื่อต้องตรัสกับพระโอรสธิดา ทั้งสองพระองค์จะใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก[25] แม้ว่าพระโอรสธิดาจะต้องตรัสเป็นภาษากรีกด้วยพระองค์เอง[26] เจ้าชายแอนดรูว์ทรงปฏิเสธที่จะตรัสภาษาอื่น ๆ กับพระราชบิดาและพระราชมารดา ยกเว้นแต่เพียงภาษากรีกเท่านั้น[27]
ในกรีซ พระชนม์ชีพของพระราชวงศ์ค่อนข้างเงียบและถอนตัวออกจากสังคม ราชสำนักเอเธนส์ไม่ได้โอ่อ่าและหรูหรานักเมื่อเทียบกับเซนต์ปีเตอส์เบิร์ก[28] และในบางครั้งเมืองหลวงของกรีซได้เป็นสิ่งที่น่าเบื่อสำหรับสมาชิกราชวงศ์[29] ในช่วงฤดูใบไม้ผลิและฤดูหนาว พระราชวงศ์ได้แบ่งไปประทับที่พระราชวังหลวงในเอเธนส์ และพระราชวังตาโตยที่ตั้งอยู่บริเวณเชิงภูเขาพาร์นิธา จากนั้นในช่วงฤดูร้อน พระราชวงศ์ได้ประทับที่มอนเรปอส, คอร์ฟู และเสด็จไปประทับต่างประเทศที่อิกซ์เลส์แบ็งส์ในฝรั่งเศส ไม่ก็จะเสด็จไปเยี่ยมเมืองหลวงของรัสเซีย หรือ พระราชวังฟรีเดนบอร์กและพระราชวังเบิร์นสตอฟฟ์ในเดนมาร์ก[30] พระญาติจากต่างประเทศก็จะเสด็จมากรีซบ่อย ๆ (จักรพรรดินีแห่งรัสเซีย, ซาเรวิชแห่งรัสเซีย, เจ้าหญิงแห่งเวลส์ เป็นต้น)[31]
เมื่อประทับอยู่ในเมืองหลวงของกรีซ เป็นเรื่องที่ไม่ปกติที่พระราชวงศ์ได้ใช้เวลาในวันอาทิตย์ไปที่ฟาเลรัม และทรงพระดำเนินไปบนทะเลริมหาด สมเด็จพระราชินีโอลกาและพระโอรส เจ้าชายจอร์จจะประทับรถม้าโดยสารประจำทางกลับพระราชวัง ในเส้นทางที่สงวนไว้สำหรับพระราชวงศ์เท่านั้น เมื่อรถม้าหยุด มีเสียงแตรดังมาจากพระราชวังและพระราชวงศ์ต้องเสด็จลงจากรถม้าโดยเร็ว เนื่องจากทรงปรารถนาที่จะไม่ให้ผู้โดยสารคนอื่นรอนาน ทัศนคตินี้ทำให้พระราชวงศ์ยังคงสามารถรักษาความนิยมในหมู่ประชาชนได้ พระเจ้าจอร์จที่ 1 เคยตรัสกับพระโอรสธิดาว่า "จงอย่าลืมว่าตนเองเป็นชาวต่างชาติในหมู่ชาวกรีก และต้องมั่นใจว่าจะไม่ทำให้พวกเขาจดจำเราในเรื่องนี้ได้"[31]
สมเด็จพระราชินีโอลกาทรงทุกข์ทรมานมากกว่าพระสวามีของพระองค์ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากพระอุปนิสัยดั้งเดิมของพระนางและทรงคิดถึงพระชนม์ชีพของพระองค์ในรัสเซียมาก ห้องประทับของพระองค์เต็มไปด้วยรูปเคารพที่มาจากรัสเซีย และในพระวิหารของพระราชวัง พระองค์ทรงร้องเพลงสวดเป็นภาษาสลาฟร่วมกับพระโอรสธิดา โดยเมื่อเรือสัญชาติรัสเซียผ่านเมืองหลวง พระองค์มักจะเสด็จเยี่ยมเรือรัสเซียซึ่งเทียบท่าที่ไพรีอัสและพระองค์ทรงเชิญกะลาสีชาวรัสเซียมายังพระราชวัง[32] นับตั้งแต่อภิเษกสมรสในค.ศ. 1867 สมเด็จพระราชินีโอลกาทรงเป็นสตรีเพียงหนึ่งเดียวในประวัติศาสตร์ที่ทรงได้รับตำแหน่งจอมพลแห่งกองทัพเรือจักรวรรดิรัสเซีย ซึ่งเป็นเกียรติยศที่ทรงได้รับพระราชทานในวันอภิเษกสมรส[14] พระองค์ได้รับเกียรติจากกองทัพเรือกรีซในการตั้งนามเรือตามพระนามของพระองค์[33]
เมื่อเจ้าชายคริสโตเฟอร์ พระโอรสองค์ที่แปดและองค์สุดท้ายของพระเจ้าจอร์จและพระราชินีโอลกา ประสูติในค.ศ. 1888 พระองค์ทรงเรียกพระโอรสว่า "เจ้ารัสเซียตัวน้อย" ของพระองค์ เนื่องจากพระองค์มีพระประสูติกาลพระโอรสธิดาองค์ก่อนหน้านี้ในกรีซ ส่วนเจ้าชายคริสโตเฟอร์ประสูติที่พระราชวังปาฟลอฟก์ พระโอรสมีพระบิดามารดาอุปถัมภ์คือ จักรพรรดิอะเลคซันดร์ที่ 3 พระเทวันและจักรพรรดินีมารีเยีย ฟอโดรอฟนา พระขนิษฐาในพระเจ้าจอร์จที่ 1[34] ในปีถัด ๆ มา สมเด็จพระราชินีทรงพอพระทัยอย่างมากในการเสกสมรสพระโอรสธิดาทั้งสามพระองค์ได้แก่ เจ้าชายนิโคลัส, เจ้าหญิงอเล็กซานดราและเจ้าหญิงมาเรีย เสกสมรสกับพระราชวงศ์โรมานอฟ โดยการเสกสมรสนี้เป็นสาเหตุที่พระองค์จะได้เสด็จไปรัสเซียบ่อย
อิทธิพลทางการเมือง
[แก้]เนื่องจากทรงเป็นเชื้อพระวงศ์ในราชวงศ์โรมานอฟ สมเด็จพระราชินีโอลกาจึงทรงต่อต้านระบอบประชาธิปไตยอย่างรุนแรงและทรงสนับสนุนระบอบอัตตาธิปไตย เจ้าชายนิโคลัส พระโอรสของพระองค์ทรงเขียนบันทึกความทรงจำของพระองค์ว่า วันหนึ่งเมื่อพระองค์ตรัสถึงความสำคัญของมติมหาชน สมเด็จพระราชินีทรงโต้แย้ง (ในภาษาฝรั่งเศส) ว่า "แม่ชอบที่จะถูกปกครองโดยราชสีห์ตัวหนึ่งที่เติบโตมาอย่างดีมากกว่าที่จะถูกปกครองโดยพวกหนูสี่ร้อยตัวที่เป็นแบบเดียวกับตัวแม่นะ"[35]
แต่ความสนพระทัยในการเมืองของพระองค์กลับถูกจำกัด ถึงแม้นักเขียนบางคนเสนอว่าพระองค์ทรงสนับสนุนพรรครัสเซียและแนวคิดแพนสลาฟก็ตาม[36] แต่ทุกคนก็ยอมรับว่าพระองค์ไม่ทรงมีอิทธิพลทางการเมืองใด ๆ เหนือพระสวามีและไม่ทรงใช้อิทธิพลเข้าแทรกแซงระบบรัฐสภาของกรีซ[37][38] ในความเป็นจริง พระเจ้าจอร์จที่ 1 มักจะทรงเคารพในรัฐธรรมนูญตลอดรัชกาลของพระองค์และไม่ทรงถูกอิทธิพลในพระราชวงศ์เข้าครอบงำเมื่อทรงต้องตัดสินพระทัยทางการเมือง[39] แต่อิทธิพลของพระประมุขกลับเห็นได้ชัดมากขึ้นในพระราชบุตร โดยพระโอรสพระองค์ที่สองคือ เจ้าชายจอร์จ ทรงได้รับการแต่งตั้งเป็นข้าหลวงใหญ่แห่งรัฐครีตในระหว่าง ค.ศ. 1898 ถึง ค.ศ. 1906 ตามบันทึกของเอ็ดเวิร์ด เดรียอุลท์ และมิเชล รีริเทียร์ บันทึกว่า พระนางโอลกาและเจ้าชายทรงมีส่วนร่วมอย่างมากในการทำให้นโยบายของพระองค์มั่นคงยิ่งขึ้นซึ่งท้ายที่สุดนโยบายประสบความล้มเหลว[40]
ด้วยทรงมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับพระประมุขแห่งรัสเซีย ทั้งสองพระองค์จึงต้องทรงดำเนินการปกครองเพื่อปกป้องกรีซ เมื่อครั้งที่พระนางโอลกาทรงตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก (หลังจากความพ่ายแพ้ในสงครามกรีซ-ตุรกี (1897)[41]) เนื่องจากทรงกลายเป็นแรงกระตุ้นให้ให้ชาวสลาฟต่อต้านราชอาณาจักรกรีซ ดังนั้นในช่วงต้นของสงครามบอลข่านครั้งที่หนึ่ง สมเด็จพระราชินีโอลกาทรงแสดงจุดยืนต่อต้าานอิทธิพลของบัลแกเรียในเทสซาโลนีกีและไม่ทรงลังเลที่จะมีกระแสพระราชดำรัสในเชิงรักชาติก่อนพระเจ้าซาร์เฟอร์ดินานด์ที่ 1 แห่งบัลแกเรีย[42] แต่ดูเหมือนว่าสมเด็จพระราชินีโอลกาจะไม่ทรงเชื่อในแนวคิดที่ชาวกรีกจะทำการพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิลคืนจากออตโตมัน เนื่องจากในจุดนี้ทรงโปรดให้รัสเซียเข้ามามีอิทธิพลเหนือช่องแคบมากกว่า[43]
ท้ายที่สุด บทบาททางการเมืองของสมเด็จพระราชินีโอลกาจะเป็นไปในเชิงสัญลักษณ์เสียส่วนใหญ่และอิทธิพลลดลงอย่างมากเหลือเพียงการเสด็จออกมหาสมาคมต้อนรับผู้มาเยือนในเอเธนส์ เหล่าสตรีชนชั้นสูงและเจ้าหน้าที่ต่างประเทศชาวกรีก ซึ่งต้องปรารถนาที่จะเข้าเฝ้าพระองค์[44] แต่พระองค์ก็ทรงไปให้ความสำคัญแก่พระราชกรณียกิจด้านสังคมสงเคราะห์แทน
พระราชกรณียกิจด้านสังคมสงเคราะห์
[แก้]สมเด็จพระราชินีโอลกาทรงได้รับความนิยมโดยแท้จริงและทรงมีส่วนร่วมในงานการกุศลอย่างกว้างขวาง[10][45] พระองค์ไม่ทรงสนพระทัยที่ทรงเป็นชาวต่างชาติที่แตกต่างจากชาวกรีก เมื่อครั้งเสด็จมาถึงเอเธนส์ ในช่วงนั้นมีพระประมุขเพียง 16 พระองค์ที่มีพระราชกรณียกิจด้านการกุศลในการสงเคราะห์ผู้ป่วย ขอทาน เด็กและสตรี สมเด็จพระราชินีโอลกาจึงทรงอุปถัมภ์สถานเลี้ยงเด็กกำพร้าอมาลีเอียน ซึ่งเป็นสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าที่ก่อตั้งโดยสมเด็จพระราชินีอมาเลียแห่งกรีซ สมเด็จพระราชินีองค์ก่อนหน้า ซึ่งตั้งอยูเบื้องหลังสวนของพระราชวัง และทรงอุปถัมภ์โรงเรียนอาร์ซาเคโอซึ่งเป็นโรงเรียนสตรีขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บนถนนมหาวิทยาลัย พระองค์ทรงก่อตั้งสถาบันต่าง ๆ เพื่อคนยากจน พระองค์ทรงใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์และเงินบริจาคจากผู้ร่ำรวย ในการสร้างโรงพยาบาลสำหรับผู้ป่วยหนักและสำหรับผู้พิการซึ่งสูงอายุ และทรงสร้างสถานพักฟื้นผู้ป่วยสำหรับผู้ป่วยที่เป็นวัณโรค[46]
ในเมืองหลวง พระองค์ทรงก่อตั้งสมาคมเพื่อช่วยเหลือคนยากจนและช่วยเหลือให้บุตรของคนยากจนเข้าเรียนระดับอนุบาล และทรงมีครัวซุปในไพรีอัสซึ่งเป็นโรงเรียนสอนทำอาหารสำหรับเด็กสาวที่ยากจน สถาบันนี้ประสบความสำเร็จอย่างมาก ซึ่งต่อมาเปลี่ยนมาเป็นโรงเรียนสอนในวันอาทิตย์สำหรับบุตรสาวของแรงงาน และได้ขยายเป็นโรงเรียนสอนทอผ้าสำหรับเด็กหญิงและสตรีสูงวัยที่ประสบปัญหาด้านการเงิน[47]
ก่อนการเสด็จมายังกรีซของพระนางโอลกา ในกรีซมีเพียงฑัณฑสถานประเภทเดียว ซึ่งทั้งผู้ชาย ผู้หญิงและเยาวชนที่กระทำผิดได้ถูกจองจำในสถานที่เดียวกัน แต่อันเนื่องมาจากการสนับสนุนทางการเงินจากจอร์จ อเวรอฟ นักปรัชญา ทำให้พระองค์สามารถก่อตั้งอาคารฑัณฑสถานหญิงในเมืองหลวงและอาคารอีกแห่งสำหรับเยาวชนที่ประทำผิด การดำเนินการนี้ทำให้เกิดการปฏิรูประบบเรือนจำทั่วประเทศ[48]
พระองค์ยังทรงอุปถัมภ์โรงพยาบาลทหารสองแห่งและทรงบริจาคพระราชทรัพย์แก่โรงพยาบาลอีวานเกลิสมอส ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่ใหญ่ที่สุดในย่านดาวน์ทาวน์ของกรุงเอเธนส์[10][49] สมเด็จพระราชินีโอลกาทรงก่อตั้งโรงพยาบาลรัสเซียในไพรีอัส จากบันทึกความทรงจำของแกรนด์ดัชเชสอเล็กซานดราแห่งรัสเซีย พระราชธิดา ซึ่งสิ้นพระชนม์ที่มอสโกในค.ศ. 1891 ระบุว่าถึงแม้โรงพยาบาลจะเปิดรับกะลาสีเรือชาวรัสเซียเป็นหลัก แต่โรงพยาบาลก็เปิดบริการให้แก่นักเดินเรือทุกคนที่เดินทางมายังกรีซ ด้วยค่าธรรมเนียมในอัตราที่ต่ำในราคาสามสิบเล็บตาและไม่ต้องเสียเงินค่ายา[50]
อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จครั้งใหญ่ของสมเด็จพระราชินีคือ การเกื้อหนุนการก่อตั้งโรงพยาบาลอีวานเกลิสมอส ซึ่งสร้างด้วยการสนับสนุนทางการเงินจากอันเดรียส ซินกรอส นายธนาคารผู้มีจิตกุศล โรงพยาบาลแห่งนี้เป็นสถาบันที่มีความทันสมัยมาก ซึ่งให้บริการทั้งเป็นสถานรักษาและโรงเรียนการพยาบาลภายใต้การดูแลของมิสไรน์ฮาร์ด ซึ่งเป็นพยาบาลชาวเดนมาร์กที่ได้เดินทางมายังกรีซในช่วงสงครามกับจักรวรรดิออตโตมัน ในสงครามกรีก-ตุรกี (1897) เมื่อประทับอยู่ในเมืองหลวง พระองค์จะเสด็จไปเยือนโรงพยาบาลนี้เกือบทุกวันเพื่อเสด็จเยี่ยมผู้ป่วยและตรวจสอบการดำเนินงานของโรงพยาบาล[51][52].
ในช่วงรัชกาลของพระเจ้าจอร์จที่ 1 สมเด็จพระราชินีโอลกายังทรงประกอบพระราชกรณียกิจในฐานะพยาบาลในช่วงที่กรีซเกิดปัญหาความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งพระนางโอลกาพร้อมพระราชธิดาและพระสุณิสา ได้ทรงก่อตั้งโรงพยาบาลภาคสนามในแนวหน้าของสมรภูมิและเสด็จดูแลทหารที่บาดเจ็บด้วยพระองค์เอง ในช่วงสงครามกรีก-ตุรกี (1897) และสงครามบอลข่านครั้งที่หนึ่ง (1912-1913)[53] การปฏิบัติพระราชกิจเพื่อผู้บาดเจ็บทำให้พระนางทรงได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์กาชาดพร้อมกับเจ้าหญิงโซเฟียแห่งปรัสเซีย พระสุณิสา โดยทางได้รับการพระราชทานจากสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักรในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1897[54]
ไม่นานหลังจากความพ่ายแพ้ของกรีซในสงครามกรีก-ตุรกี ค.ศ. 1897 ได้เกิดการลอบปลงพระชนม์พระสวามีและพระราชธิดาของพระองค์ด้วยกระสุนปืนจากชาวกรีกที่ไม่พอใจ ใน ค.ศ. 1898 แม้การลอบปลงพระชนม์จะล้มเหลว แต่สมเด็จพระราชินีโอลกายังทรงปฏิบัติพระราชกิจต่อไปโดยไม่มีทหารองครักษ์คุ้มกัน[10] การประกอบพระราชกรณียกิจด้านสังคมสงเคราะห์นี้ ทำให้สมเด็จพระราชินีทรงได้รับความนิยมในหมู่พสกนิการอย่างรวดเร็วและทรงกลายเป็นสมเด็จพระราชินีแห่งกรีซที่ทรงได้รับความนิยมที่สุดในประวัติศาสตร์[55] แต่ถึงกระนั้นก็ไม่ได้ทำให้เกิดความขัดแย้งให้เพิ่มมากขึ้นในช่วงรัชสมัยของพระสวามี
ความขัดแย้งอีวานเกลีกา
[แก้]ในฐานะที่ทรงเป็นอีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์ตั้งแต่ประสูติ สมเด็จพระราชินีโอลกาทรงเริ่มตระหนักถึงในช่วงที่เสด็จเยี่ยมทหารที่ได้รับบาดเจ็บในสงครามกรีก-ตุรกี (1897) ซึ่งมีทหารหลายนายไม่มีความสามารถในการอ่านคัมภีร์ไบเบิลได้[16] พระคัมภีร์รูปแบบที่ใช้โดยศาสนจักรกรีซนั้นได้รวมทั้งพระคัมภีร์ไบเบิลฉบับแปลกรีก (Septuagint) ในภาคพันธสัญญาเดิมและพระคัมภีร์ภาษากรีกดั้งเดิมในภาคพันธสัญญาใหม่ พระคัมภีร์ทั้งสองฉบับได้เขียนขึ้นด้วยภาษาโคอีนกรีก ในขณะที่บรรพบุรุษของพระนางทรงใช้รูปแบบคาทารีโวซา หรือที่เรียกว่า รูปแบบอักษรเดโมติกกรีกในภาษากรีกสมัยใหม่ คาทารีโวซาเป็นรูปแบบภาษาทางการ ซึ่งได้ประกอบจากรูปแบบคำโบราณในคำภาษากรีกสมัยใหม่ โดยได้ดัดแปลงปรับปรุงด้วยการใช้คำศัพท์ "ที่ไม่ใช่กรีก" จากภาษาอื่น ๆ ในยุโรปและภาษาตุรกี และยังมีรูปของไวยกรณ์โบราณประกอบด้วย (ซึ่งแก้ไขให้เข้าใจง่าย) ภาษากรีกสมัยใหม่ หรือกรีกเดโมติกนี้เป็นรูปแบบภาษาที่มีการใช้กันในหมู่ประชาชนทั่วไป สมเด็จพระราชินีโอลกาทรงตัดสินพระทัยให้มีการแปลพระคัมภีร์ให้เป็นรูปแบบที่ชาวกรีกร่วมสมัยโดยส่วนใหญ่เข้าใจได้มากที่สุด มากกว่าการที่จะต้องให้ประชาชนไปเรียนภาษาโคอีนกรีก แต่อย่างไรก็ตามฝ่ายต่อต้านการแปลพระคัมภีร์ได้พิจารณาว่า มันเป็นเหมือน"ประหนึ่งการละทิ้ง 'มรดกอันศักดิ์สิทธิ์' ของกรีซ"[56]
ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1901 การแปลพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่จากภาษาโคอีนกรีกไปเป็นภาษากรีกสมัยใหม่ซึ่งพระนางทรงสนับสนุนได้ตีพิมพ์โดยไม่ผ่านการอนุมัติจากเถรสมาคมกรีก พระคัมภีร์ตั้งราคาไว้ที่หนึ่งดรักมา ซึ่งราคาต่ำกว่าต้นทุนจริงมาก และเป็นฉบับที่ขายดี เพื่อลดความขัดแย้งกับฝ่ายต่อต้านการแปล ทั้งข้อความเก่าและข้อความใหม่ยังคงได้รับการรวมไว้และภาพตรงข้ามหน้าแรกได้มีการเขียนระบุไว้ว่า "สำหรับใช้ศึกษาในครอบครัวเท่านั้น" มากกว่าการใช้ในโบสถ์[57]
ในขณะเดียวกัน การแปลอีกสำนวนหนึ่งได้แปลสำเร็จโดยอเล็กซานดรอส พัลลิส ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนหลักในขบวนการเคลื่อนไหวทางวรรณกรรมที่สนับสนุนการใช้อักษรเดโมติกในภาษาเขียน การตีพิมพ์ฉบับแปลนี้ได้เริ่มตีพิมพ์เป็นชุดบทความในหนังสือพิมพ์ อโครโปลิส ในวันที่ 9 กันยายน ค.ศ. 1901[58] นักศาสนศาสตร์สายบริสุทธิ์ได้ประณามพระคัมภีร์ฉบับแปลนี้ว่า "เป็นการเย้ยหยันมรดกตกทอดที่ล้ำค่าของชาติ" และอัครบิดร โจอาคิมที่ 3 แห่งคอนสแตนติโนเปิลทรงออกมาประณามพระคัมภีร์ฉบับแปลนี้[59] ฝ่ายของสื่อหนังสือพิมพ์ของกรีกได้ออกมากล่าวหาพัลลิสและผู้สนับสนุนอักษรเดโมติกว่าเป็นพวกดูหมิ่นศาสนาและเป็นพวกขายชาติ[58] การจลาจลได้เกิดขึ้นในวันที่ 8 พฤศจิกายน เริ่มจากกลุ่มนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเอเธนส์ ซึ่งบางส่วนได้ถูกปลุกระดมจากอาจารย์ที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยม[60] กลุ่มนักศึกษาได้เรียกร้องให้มีการปัพพาชนียกรรมพัลลิสและทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการแปลพระคัมภีร์ รวมทั้งสมเด็จพระราชินีโอลกาและโปรโคปิอุส มุขนายกมหานครแห่งเอเธนส์ ซึ่งเป็นผู้อำนวยการแปลหลักตามคำขอของสมเด็จพระราชินี[61]
กองทัพได้ถูกเรียกมาเพื่อรักษาความสงบและจัดการความขัดแย้ง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 8 คนและบาดเจ็บกว่า 60 คน[62] ในเดือนธันวาคมสำเนาการแปลพระคัมภีร์ฉบับสมเด็จพระราชินีโอลกาถูกยึดและไม่ได้รับการอนุญาตให้จัดจำหน่าย ทุกคนที่ขายหรืออ่านสำนวนพระคัมภีร์ฉบับแปลได้ถูกข่มขู่ด้วยการปัพพาชนียกรรม[63] ความขัดแย้งนี้เรียกว่า "อีวานเกลีกา (Evangelika) "[64] หรือ "ปัญหาพระวรสาร" ซึ่งมาจากคำว่า "Evangelion" (อีวานเกเลียน) ซึ่งเป็นภาษากรีกของคำว่า "Gospel" (พระวรสาร) และเหตุการณ์นี้นำไปสู่การสละตำแหน่งของมุขนายกมหานคร โปรโคปิอุส และการล่มสลายของรัฐบาลนายกรัฐมนตรียอร์โยส ธีโอโตกิส[65][66]
สมเด็จพระพันปีหลวง
[แก้]เหตุการณ์การลอบปลงพระชนม์พระเจ้าจอร์จที่ 1
[แก้]ใน ค.ศ. 1913 สงครามบอลข่านครั้งที่หนึ่งสิ้นสุดลงด้วยความพ่ายแพ้ของจักรวรรดิออตโตมันต่อกองทัพพันธมิตรกรีซ บัลแกเรีย เซอร์เบียและมอนเตเนโกร การขยายอาณาเขตของราชอาณาจักรกรีซที่ได้รับจากตุรกีได้ทำให้เกิดความขัดแย้ง และเห็นได้ชัดอย่างรวดเร็วคือความขัดแย้งระหว่างกองทัพพันธมิตรสันนิบาตบอลข่าน รัฐบาลกรุงเอเธนส์และรัฐบาลกรุงโซเฟียต่างพยายามต่อสู้กันเพื่อครอบครองแคว้นเทสซาโลนีกี[67]
เพื่อเป็นการยืนยันสิทธิของราชอาณาจักรกรีกเหนือเมืองหลักของแคว้นมาซิโดเนีย พระเจ้าจอร์จที่ 1 จึงเสด็จไปยังเมืองเหล่านั้น หลังจากชัยชนะทางการทหารขององค์รัชทายาท คือ มกุฎราชกุมารคอนสแตนติน ในวันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ. 1912 ในระหว่างที่ประทับอยู่ที่เมืองเทสซาโลนีกีเป็นเวลานาน ทุก ๆ วันพระองค์มักจะเสด็จพระดำเนินไปตามท้องถนน อย่างที่ทรงเคยทำเป็นประจำในกรุงเอเธนส์ แต่ในวันที่ 18 มีนาคม ค.ศ. 1913 นักอนาธิปไตย อเล็กซานดรอส ไซนัส ได้กระทำการลอบปลงพระชนม์พระเจ้าจอร์จที่ 1 ด้วยอาวุธปืนหนึ่งนัด ในขณะที่พระองค์กำลังเสด็จพระดำเนินอยู่ใกล้ ๆ หอคอยขาว[68]
ในช่วงที่พระสวามีถูกลอบปลงพระชนม์ สมเด็จพระราชินีโอลกาทรงอยู่ห่างไกลจากพระองค์ โดยประทับอยู่ที่เอเธนส์ พระสุณิสา คือ มกุฎราชกุมารีโซเฟียและเจ้าหญิงเฮเลน พระราชนัดดา ทรงเป็นผู้นำข่าวมาแจ้งแก่พระองค์[N 1] เมื่อพระองค์ทรงทราบ สมเด็จพระราชินีทรงพยายามทำให้พระทัยเย็นลงกับสิ่งที่เกิดขึ้น และตรัสว่า "มันคงเป็นไปตามพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า" และพระนางทรงเตรียมการเสด็จไปยังเทสซาโลนีกีในวันถัดไป เมื่อถึงเมืองแถบมาซิโดเนีย สมเด็จพระราชินีโอลกาและพระราชวงศ์เสด็จไปยังสถานที่เกิดเหตุและเสด็จไปรับพระบรมศพก่อนที่จะเสด็จกลับกรุงเอเธนส์ มีการฝังพระบรมศพที่พระราชวังตาโตย[69]
สำหรับสมเด็จพระราชินีโอลกา เหตุการณ์นี้ถือเป็นเหตุการณ์ที่ทรงต้องสูญเสียพระสวามี อีกทั้งยังทรงสูญเสียบทบาทอย่างเป็นทางการในการประกอบพระราชกรณียกิจในฐานะสมเด็จพระราชินี การขึ้นครองราชย์ของพระเจ้าคอนสแตนตินที่ 1 ได้ทำให้พระชายาของพระองค์ คือ พระนางโซเฟีย ได้กลายเป็นสมเด็จพระราชินีแห่งกรีซพระองค์ใหม่ ในตอนนี้พระนางโอลกาจึงกลายเป็นสมเด็จพระพันปีหลวง ซึ่งทรงต้องย้ายไปประทับที่ตึกปีกของพระราชวัง แต่ก็ประทับไม่นานนัก เนื่องจากพระองค์เสด็จกลับไปเยือนภูมิลำเนาของพระนาง ซึ่งประทับอยู่กับแกรนด์ดยุกคอนสแตนติน คอนสแตนติโนวิชแห่งรัสเซีย พระอนุชาและครอบครัวอย่างเป็นเวลานานที่พระราชวังปาฟลอฟก์[70]
เสด็จกลับรัสเซียและสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
[แก้]ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1914 สมเด็จพระพันปีหลวงโอลกาประทับอยู่ที่รัสเซียในช่วงการปะทุของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง[71] ซึ่งประเทศสัมพันธมิตร ได้แก่ รัสเซีย อังกฤษและฝรั่งเศส ทำการรบกับฝ่ายมหาอำนาจกลาง ได้แก่ เยอรมนี ออสเตรีย-ฮังการี และจักรวรรดิออตโตมัน พระองค์ตัดสินพระทัยประทับในเซนต์ปีเตอส์เบิร์กและทรงก่อตั้งโรงพยาบาลทหารเพื่อสนับสนุนด้านการสงครามของรัสเซีย[72]
ขณะประทับอยู่ที่พระราชวังปาฟลอสก์ ซึ่งในตอนนี้ผู้ครอบครอง คือ แกรนด์ดยุกคอนสแตนติน คอนสแตนติโนวิช พระอนุชาของพระนาง สมเด็จพระพันปีหลวงโอลกาทรงก่อตั้งคลินิกที่พระราชวังนี้เพื่อรักษาทหารที่ได้รับบาดเจ็บโดยทรงดำเนินการร่วมกับแกรนด์ดัชเชสเอลิซาเบธ มาฟริเคียฟนา พระชายาในพระอนุชา สมาชิกพระราชวงศ์พระองค์อื่น ๆ เช่น เจ้าหญิงเฮเลนแห่งเซอร์เบีย และพระนัดดาของพระนางโอลกา คือ แกรนด์ดัชเชสมาเรีย ปาฟลอฟนา ได้ทำการก่อตั้งโรงพยาบาลภาคสนามในแนวหน้า[73]
แต่สงครามเลวร้ายลงและก่อให้เกิดวิกฤตที่รุนแรงในรัสเซีย สมเด็จพระพันปีหลวงโอลกาทรงพยายามเตือนถึงภัยอันตรายที่พระราชวงศ์ต้องเผชิญ และพระองค์ทรงพยายามเตือนจักรพรรดินีอะเลคซันดรา ฟอโดรอฟนา พระมเหสีในจักรพรรดินิโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซีย ใน ค.ศ. 1916 ถึงภัยอันตรายของการปฏิวัติแต่จักรพรรดินีปฏิเสธที่จะรับฟัง ไม่กี่สัปดาห์ต่อมา สมเด็จพระพันปีหลวงโอลกาแห่งกรีซทรงต้องประสบกับความพิโรธของจักรพรรดินีอะเล็กซันดรา หลังจากที่จักรพรรดินีทรงต้องลงพระนามในคำขออภัยโทษให้แก่พระนัดดาของพระนางโอลกา คือ แกรนด์ดยุกดมิตรี ปาฟโลวิช ซึ่งทรงถูกเนรเทศไปยังสงครามที่แนวหน้าเปอร์เซีย ในข้อหาที่ทรงมีส่วนร่วมในการลอบสังหารนักรหัสยลัทธิคนโปรดของจักรพรรดินี คือ กริกอรี รัสปูติน[74]
การปฏิวัติรัสเซีย
[แก้]ในที่สุด การปฏิวัติก็ได้เกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1917 ระบอบซาร์ล่มสลาย สถานะของสมเด็จพระพันปีหลวงโอลกาและครองครัวของพระนางก็ประสบกับความยากลำบากอย่างรวดเร็ว พระขนิษฐาและพระนัดดาของพระองค์ตัดสินพระทัยเสด็จออกจากวังปาฟลอสก์ แต่สมเด็จพระพันปีหลวงโอลกายังคงประทับอยู่ที่เดิม ทรงปฏิเสธที่จะเสด็จออกไป และท้ายที่สุดทรงพบว่าพระนางเองต้องประทับอย่างโดดเดี่ยว เหลือแต่เพียงข้าราชบริพารหญิงชื่อว่า แอนนา เอกอรอวา (หลังจากการปฏิวัติเอกอรอวาได้ทำงานรับใช้เจ้าชายคริสโตเฟอร์แห่งกรีซและต่อมากลายเป็นพระอภิบาลในพระโอรสของพระองค์ เจ้าชายไมเคิล[75]) เนื่องจากการขาดแคลนอาหาร สตรีทั้งสองจำต้องรับประทานเพียงขนมปังแห้ง ๆ ชิ้นเล็กที่แช่ในน้ำมันคุณภาพต่ำ โดยเฉพาะในปาฟลอสก์ ความปลอดภัยของที่นี่ไม่สามารถเป็นหลักประกันได้ และเพียงเวลาไม่กี่วันหลังจากการปฏิวัติเดือนตุลาคม พวกบอลเชวิกบุกรุกและเข้าปล้นพระราชวัง พระนางโอลกาทรงไม่ได้รับอันตรายใด ๆ นางสนองพระโอษฐ์เป็นผู้ที่พยายามปกป้องพระนางจากฝูงชนปฏิวัติ[76]
พระนางตัดสินพระทัยที่จะเสด็จออกจากรัสเซียด้วยความจำเป็น แต่กลุ่มบอลเชวิกพยายามที่จะไม่ให้พระนางเสด็จหนีไปและความช่วยเหลือทางการทูตจากกรีซก็ไม่มีมาถึงเนื่องจากประสบปัญหาความแตกแยกแห่งชาติ โดยในทางตรงกันข้ามกับสมเด็จพระพันปีหลวงโอลกา คือ พระโอรสองค์โตของพระองค์ พระเจ้าคอนสแตนตินที่ 1 ทรงดำเนินนโยบายทางการเมืองที่เป็นกลาง[77] พระมารดาของพระองค์ทรงเป็นชาวรัสเซีย และพระมเหสีของพระองค์ทรงเป็นชาวเยอรมัน เป็นพระขนิษฐาในจักรพรรดิวิลเฮล์มที่ 2 แห่งเยอรมนี นโยบายทางการเมืองของพระองค์ทำให้ทรงต้องมีความขัดแย้งกับนายกรัฐมนตรี อีเลฟเทริออส เวนิเซลอส ซึ่งนิยมฝ่ายสัมพันธมิตร พระเจ้าคอนสแตนตินทรงถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้นิยมเยอรมันและรัฐบาลเอเธนส์ได้รับการยกย่องอย่างน่าสงสัยในลอนดอนและปารีส เหตุการณ์นี้จึงเรียกว่า "ความแตกแยกแห่งชาติ" นายกรัฐมนตรีเวนิเซลอสจัดตั้งรัฐบาลคู่ขนานที่เทสซาโลนิกีเพื่อต่อต้านพระเจ้าคอนสแตนติน ในเดือนมิถุนายน พระเจ้าคอนสแตนตินทรงถูกปลดออกจากราชบัลลังก์และต้องลี้ภัยไปยังสวิตเซอร์แลนด์ ฝ่ายสัมพันธมิตรไม่ต้องการให้กรีซเป็นสาธารณรัฐและไม่ต้องการให้มกุฎราชกุมารจอร์จ ครองราชย์สืบต่อ ราชบัลลังก์จึงถูกแทนที่ด้วยพระโอรสองค์ที่สองครองราชย์เป็น พระเจ้าอเล็กซานเดอร์แห่งกรีซ ผู้ซึ่งถือกันว่าทรงนิยมสัมพันธมิตรมากกว่า และควบคุมได้ง่ายกว่าพระเชษฐา[78] เวนิเซลอสได้ก้าวขึ้นสู่อำนาจอย่างเต็มรูปแบบ ในขณะที่ผู้สนับสนุนกษัตริย์พระองค์ก่อนได้ถูกจับกุมหรือประหารชีวิต[79]
การลี้ภัยครั้งแรก
[แก้]หลังจากทรงร้องขอความช่วยเหลือมาเป็นเวลาหลายปี สถานเอกอัครราชทูตเดนมาร์กในรัสเซียได้ออกหนังสือเดินทางให้สมเด็จพระพันปีหลวงโอลกา ซึ่งพระองค์ทรงใช้เดินทางเข้าเยอรมนีในวันก่อนที่เยอรมนีจะพ่ายแพ้ และในที่สุดทรงเข้าไปร่วมกับพระโอรสองค์โตและพระราชวงศ์ที่ลี้ภัยอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์ในช่วงต้น ค.ศ. 1919[80] ส่วนสมาชิกพระราชวงศ์รัสเซียพระองค์อื่น ๆ ไม่สามารถหลบหนีออกมาได้ พระราชวงศ์เหล่านี้ได้ถูกปลงพระชนม์ซึ่งมีทั้งจักรพรรดิ จักรพรรดินีและพระโอรสธิดาทั้งห้าพระองค์, พระเชษฐาและพระอนุชาของพระนางโอลกา แกรนด์ดยุกนิโคลัสและแกรนด์ดยุกดมิตรี ตามลำดับ, พระนัดดาทั้งสามของพระนางโอลกา ได้แก่ เจ้าชายจอห์น, เจ้าชายคอนสแตนตินและเจ้าชายอิกอร์ รวมทั้งพระเชษฐภคินีในพระจักรพรรดินี คือ แกรนด์ดัชเชสเอลิซาเบธ เฟโอโดรอฟนาแห่งรัสเซีย[81]
ในสวิตเซอร์แลนด์ พระเจ้าคอนสแตนตินที่ 1 และพระราชวงศ์ต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวและไม่มีรายได้ รัฐบาลกรีกภายใต้นายกรัฐมนตรีเวนิเซลอสปฏิเสธไม่จ่ายเงินประจำปีแก่อดีตกษัตริย์และสั่งห้ามการติดต่อใด ๆ กันระหว่างกษัตริย์ผู้ลี้ภัยกับพระโอรสคือ พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ เนื่องด้วยพระพลานามัยเริ่มที่อ่อนแอ อดีตกษัตริย์มีพระอาการซึมเศร้ามากขึ้น[82] การปฏิวัติรัสเซียและการแตกแยกแห่งชาติได้ทำให้สมเด็จพระพันปีหลวงโอลกาถูกเพิกถอนสิทธิในทรัพย์สินที่เป็นอสังหาริมทรัพย์และทรงต้องดำรงพระชนม์ที่ฟุ่มเฟือยน้อยลงเมื่อเทียบกับในอดีต[83] แต่พระนางก็ทรงทำได้ ทรงมีความสุขกับการใช้เวลามากขึ้นประทับกับพระโอรสและพระนัดดา หลังจากที่ต้องทรงแยกจากกันตลอดระยะเวลาสงครามที่ยาวนาน[84]
ผู้สำเร็จราชการแห่งกรีซ
[แก้]ในวันที่ 2 ตุลาคม ค.ศ. 1920 พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ทรงถูกลิงทรงเลี้ยงกัดระหว่างทรงพระดำเนินในสวนพระราชวังตาโตย รอยกัดได้กลายเป็นแผลติดเชื้อ และได้ยกระดับเป็นภาวะพิษเหตุติดเชื้อ ในวันที่ 19 ตุลาคม พระองค์ทรงเริ่มมีพระสติคลั่ง ทรงร้องเรียกหาพระมารดาขณะที่ประทับอยู่บนพระแท่น แต่รัฐบาลกรีกปฏิเสธที่จะให้อดีตพระราชินีโซเฟียเสด็จกลับมายังกรีซ[85] ด้วยทรงเป็นห่วงพระโอรสและทรงทราบว่าพระอัยยิกาของพระโอรสเป็นเชื้อพระวงศ์เพียงพระองค์เดียวที่ยังคงเป็นที่ชื่นชอบของกลุ่มนิยมเวนิเซลอส อดีตพระราชินีโซเฟียทรงร้องขอให้สมเด็จพระพันปีหลวงโอลกาเสด็จไปยังเอเธนส์เพื่ออภิบาลพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ หลังจากใช้เวลาหลายวันในการเจรจา สมเด็จพระพันปีหลวงทรงได้รับอนุญาตให้เสด็จกลับกรีซ แต่การเดินทางกลับล่าช้าเนื่องจากประสบกับพายุในทะเล พระนางโอลกาเสด็จมาถึงในอีก 12 ชั่วโมง หลังจากพระนัดดาสวรรคตในวันที่ 25 ตุลาคม[86] ในวันที่ 29 ตุลาคม พระบรมศพของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ได้รับการฝังที่ตาโตย สมเด็จพระพันปีหลวงโอลกาเป็นพระราชวงศ์เพียงพระองค์เดียวของกรีกที่เข้าร่วมพระราชพิธี[87]
ด้วยความที่ยังไม่เห็นด้วยกับการเสด็จกลับมาของพระเจ้าคอนสแตนตินที่ 1 และมกุฎราชกุมารจอร์จ รัฐบาลของอีเลฟเทริออส เวนิเซลอสจึงเสนอราชบัลลังก์แก่พระโอรสองค์ที่สามในพระเจ้าคอนสแตนตินคือ เจ้าชายปัพโลส แต่เจ้าชายทรงปฏิเสธที่จะครองบัลลังก์ก่อนพระราชบิดาและพระเชษฐา เว้นแต่จะมีการลงประชามติเพื่อให้พระองค์เป็นประมุขแห่งรัฐ[88] แต่ในช่วงวันที่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์สวรรคต เวนิเซลอสพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งทั่วไปในกรีซ ค.ศ. 1920 ในวันที่ 17 พฤศจิกายน พลเรือตรี ปัพโลส โคอันตูริโอทิส ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตั้งแต่การสวรรคตของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์และเป็นฝ่ายเวนิเซลอส ได้ลาออกจากการเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และนายกรัฐมนตรีคนใหม่ คือ ดีมิทริออส รอลลิส ได้ทูลเชิญให้สมเด็จพระพันปีหลวงโอลกาขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระองค์ทรงดำรงในตำแหน่งนี้เป็นเวลาหนึ่งเดือนจนกระทั่งพระเจ้าคอนสแตนตินที่ 1 พระโอรสกลับคืนสู่ราชบัลลังก์ในวันที่ 19 ธันวาคม หลังจากการลงประชามติในกรีซ ค.ศ. 1920 ประชาชน 99% สนับสนุนการกลับคืนสู่บัลลังก์ของพระองค์[89]
การลี้ภัยครั้งที่สองและสวรรคต
[แก้]พระเจ้าคอนสแตนตินที่ 1 เสด็จกลับคืนสู่บัลลังก์ได้เพียง 18 เดือนซึ่งอยู่ในช่วงสงครามกรีซ-ตุรกี (ค.ศ. 1919-22) ที่เริ่มต้นตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1919 ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1921 กองทัพกรีกพ่ายแพ้ที่สมรภูมิซาการ์ยา ทำให้เป็นจุดเริ่มต้นของการถอนทัพกรีกออกจากตุรกี ด้วยความที่กองทัพสัมพันธมิตรไม่พอใจนโยบายของพระเจ้าคอนสแตนตินที่ 1 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งทำให้รัฐบาลกรุงเอเธนส์ขาดการสนับสนุนจากภายนอก[90] มุสตาฟา เคมาล อตาเติร์ก ผู้นำคนใหม่ของตุรกี ได้ยึดคืนสมีร์นาและเทรซตะวันออก ซึ่งถูกผนวกโดยรัฐบาลกรุงเอเธนส์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุด[91]
ต่อมาเกิดการรัฐประหารโดยกลุ่มทหารที่ไม่พอใจ พระเจ้าคอนสแตนตินที่ 1 สละราชบัลลังก์เป็นครั้งที่สองในวันที่ 27 กันยายน ค.ศ. 1922 พระองค์เสด็จลี้ภัยไปยังอิตาลี พร้อมกับพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ รวมทั้ง สมเด็จพระพันปีหลวงโอลกาด้วย และพระโอรสองค์โตของพระองค์ได้ขึ้นสืบราชบัลลังก์ต่อเป็นเวลาไม่กี่เดือน คือ พระเจ้าจอร์จที่ 2[92] ภายในช่วงหลายเดือนนี้ พระเจ้าคอนสแตนตินที่ 1 เสด็จสวรรคตในอิตาลี หนึ่งในพระโอรสของสมเด็จพระพันปีหลวงโอลกา คือ เจ้าชายแอนดรูว์แห่งกรีซและเดนมาร์ก ถูกจับกุมโดยการปกครองระบอบใหม่ จำเลยหลายคนถูกตั้งข้อหาว่าเป็นผู้ทรยศต่อชาติในการพิจารณาคดีจำเลยทั้งหกที่ดำเนินการโดยคณะรัฐประหาร อดีตนายกรัฐมนตรี นักการเมืองอาวุโสและนายพลในกองทัพหลายคนที่เป็นฝ่ายกษัตริย์นิยมถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้า[93] นักการทูตต่างประเทศมองว่าเจ้าชายแอนดรูว์ทรงตกอยู่ในอันตราย และสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 แห่งสหราชอาณาจักร สมเด็จพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 13 แห่งสเปน ประธานาธิบดีแรมง ปวงกาเร รวมถึงสมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 11 ทรงส่งผู้แทนไปยังเอเธนส์เพื่อเจรจาไกล่เกลี่ยนให้แก่เจ้าชายแอนดรูว์[94] เจ้าชายแอนดรูว์ทรงรอดพระชนม์ แต่ทรงถูกเนรเทศตลอดพระชนม์ชีพและครอบครัวของพระองค์ต้องลี้ภัยด้วยเรือเฮชเอ็มเอส คาลิปโซ (ดี61) ของราชนาวีอังกฤษ[95][96]
สมเด็จพระพันปีหลวงโอลกาทรงได้รับเงินรายปีจากสาธารณรัฐเฮเลนิกที่สอง ซึ่งไม่เหมือนกับพระโอรสธิดาและพระนัดดาของพระองค์ที่ไม่ได้รับเงินรายปีเลย แต่พระองค์ก็ยังคงประคับประคองข้าราชบริพารเก่าแก่ซึ่งหลบหนีมาจากกรีซพร้อมกับพระนางซึ่งทำให้พระนางทรงเหลือพระราชทรัพย์ไว้ใช้สอยไม่เกิน 20 ปอนด์สเตอร์ลิงต่อเดือน[83] (มีค่าประมาณ 900 ปอนด์ใน ค.ศ. 2010) แต่อย่างไรก็ตาม พระองค์ทรงได้รับการสนับสนุนจากครอบครัวของพระองค์ที่กระจายไปทั่วยุโรปตะวันตก ในสหราชอาณาจักร พระนางประทับอยู่ที่บ้านสเปนเซอร์, ลอนดอน ซึ่งเป็นที่ประทับของพระโอรสองค์สุดท้องคือ เจ้าชายคริสโตเฟอร์ และทรงไปประทับที่ย่านรีเจนท์ปาร์ค ที่ซึ่งแกรนด์ดัชเชสมารี พระนัดดาของพระนาง ทรงเช่าตำหนักซานดริงแฮม ซึ่งเป็นตำหนักของสมเด็จพระราชชนนีอเล็กซานดรา พระเชษฐภคินีในพระสวามีของพระองค์ และทรงไปประทับที่พระราชวังวินด์เซอร์และพระราชวังบักกิงแฮม ที่ซึ่งพระนัดดาของพระองค์คือ พระเจ้าจอร์จที่ 5 ทรงให้พระนางเช่าห้องชุด[97]
ช่วงปีสุดท้ายของสมเด็จพระพันปีหลวงโอลกาทรงประสบกับพระพลานามัยที่ย่ำแย่ พระอาการขัดยอกทำให้ทรงต้องประทับรถเข็น และทรงต้องประทับที่ปารีสหลายครั้งเพื่อรักษาพระเนตร ด้วยพระเนตรที่ไม่ดีทำให้พระเจ้าจอร์จที่ 5 ทรงพระสรวลอย่างหนักเมื่อสมเด็จพระพันปีหลวงทรงเข้าใจผิดว่ารูปปั้นเปลือยกายของเลดีโกไดวา คือ พระราชานุสาวรีย์ของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร[94] ด้วยความที่ต้องทรงพึ่งพาผู้อื่นมากขึ้น สมเด็จพระพันปีหลวงโอลกาเสด็จไปประทับกับเจ้าชายคริสโตเฟอร์ ซึ่งเป็นเวลาสั้น ๆ หลังจาก เจ้าหญิงอนาสตาเซีย พระชายาองค์แรกของพระองค์สิ้นพระชนม์ใน ค.ศ. 1923 สมเด็จพระพันปีหลวงโอลกาสิ้นพระชนม์ในวันที่ 18 มิถุนายน ค.ศ. 1926 ซึ่งมีสองหลักฐานว่าสิ้นพระชนม์ที่ตำหนักวิลลาอนาสตาเซียของเจ้าชายคริสโตเฟอร์ในโรม[98] หรือสิ้นพระชนม์ที่โป (จังหวัดปีเรเน-อัตล็องติก)[99]
แม้ว่ากลุ่มสาธารณรัฐนิยมจะเถลิงอำนาจในกรีซอยู่ แต่สมเด็จพระพันปีหลวงโอลกายังคงได้รับความนิยมสูงสุดและรัฐบาลสาธารณรัฐในเอเธนส์เสนอที่จะออกค่าใช้จ่ายสำหรับพระราชพิธีฝังพระศพและดำเนินการส่งพระศพของพระองค์กลับมายังกรีซ อย่างไรก็ตาม พระโอรสธิดาของพระนางได้ปฏิเสธข้อเสนอนี้ และเลือกที่จะฝังพระศพของพระนางในอิตาลี เคียงข้างพระราชโอรสคือ พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ 1 ซึ่งพระบรมศพของพระเจ้าคอนสแตนตินที่ 1 รัฐบาลกรีซปฏิเสธที่จะยอมรับ[100] พระราชพิธีฝังพระศพของพระองค์จัดขึ้นในวันที่ 22 มิถุนายน ค.ศ. 1926 ที่โบสถ์ออร์ทอด็อกซ์ในโรม และในวันรุ่งขึ้นก็ย้ายพระศพไปพักที่สุสานใต้ดินในโบสถ์รัสเซียที่ฟลอเรนซ์[101][102] หลังจากมีการฟื้นฟูระบอบราชาธิปไตยในกรีซ ค.ศ. 1935 พระศพของพระองค์ได้ฝังใหม่ที่ตาโตยในวันที่ 17 พฤศจิกายน ค.ศ. 1936[103]
ทรัพย์สินของพระองค์ส่วนมากถูกริบโดยสหภาพโซเวียตและรัฐบาลสาธารณรัฐกรีก อสังหาริมทรัพย์ของพระนางทรงมีเครื่องเพชรอัญมณีอยู่ด้วยโดนมีการรายงานจากเดอะไทมส์ว่ามีมูลค่าทั้งสิ้น 100,000 ปอนด์สเตอร์ลิง (ซึ่งเป็นมูลค่ามากกว่า 4,500,000 ปอนด์สเตอร์ลิงในปัจจุบัน) ซึ่งทรัพย์สินเหล่านี้มีการแบ่งปันให้พระโอรสธิดาของพระองค์ และพระโอรสธิดาในพระเจ้าคอนสแตนตินที่ 1[104] ด้วยความบอบช้ำจากการปฏิวัติรัสเซีย ทำให้พระนางโอลกาทรงอยากตัดความสัมพันธ์กับประเทศที่ฆ่าล้างครอบครัวของพระองค์ ก่อนสิ้นพระชนม์ พระองค์ทรงให้พระเจ้าจอร์จที่ 2 พระนัดดาให้สัตย์สัญญาแก่พระองค์ว่าจะทรงขอให้มีการส่งคืนเถ้ากระดูกของเจ้าหญิงอเล็กซานดรา พระธิดาของพระนาง ที่ฝังอยู่ในมหาวิหารปีเตอร์และปอล กรุงเซนต์ปีเตอส์เบิร์ก ความปรารถนาของพระองค์สำเร็จใน ค.ศ. 1940 หลังจากมีการฟื้นฟูสถาบันกษัตริย์กรีซ[105] พระเจ้าจอร์จที่ 2 ทรงขอร้องรัฐบาลโซเวียตให้ส่งพระศพของเจ้าหญิงอเล็กซานดรา พระปิตุจฉาให้กลับมาฝังใหม่ในกรีซ ซึ่งรัฐบาลโซเวียตอนุญาต
พระราชตระกูล
[แก้]เชิงอรรถอ้างอิง
[แก้]เชิงอรรถ
[แก้]- ↑ แต่ฮิวโก วิคเกอร์ ซึ่งได้เขียนพระประวัติของเจ้าหญิงอลิซแห่งบัทเทนแบร์ก ได้บันทึกว่า เจ้าหญิงอลิซ เจ้าชายแอนดรูว์แห่งกรีซและเดนมาร์กและเจ้าชายจอร์จแห่งกรีซและเดนมาร์ก ทรงเป็นผู้มาแจ้งข่าวแก่สมเด็จพระราชินี กล่าวใน Hugo Vickers, Alice, Princess Andrew of Greece, Hamish Hamilton, Londres, 2000, p. 105.
รายการอ้างอิง
[แก้]- ↑ Montgomery-Massingberd 1977, pp. 469–474.
- ↑ 2.0 2.1 Van der Kiste 1999, p. 26.
- ↑ Mateos Sáinz de Medrano 2004, pp. 69–70.
- ↑ King & Wilson 2006, pp. 55, 109–110.
- ↑ King & Wilson 2006, p. 36.
- ↑ King & Wilson 2006, pp. 36–38.
- ↑ 7.0 7.1 King & Wilson 2006, p. 35.
- ↑ King & Wilson 2006, pp. 34–36.
- ↑ Christmas 1914, p. 81.
- ↑ 10.0 10.1 10.2 10.3 The Times (London), Monday 21 June 1926, p. 19.
- ↑ Walter Christmas, King George of Greece, MacBride, Naste & Company, New York, 1914, p. 81.
- ↑ John Van der Kiste, Kings of the Hellenes. The Greek Kings 1863-1974, Sutton publishing, 1999, p. 14 et 25.
- ↑ 13.0 13.1 13.2 Van der Kiste 1999, pp. 24–25.
- ↑ 14.0 14.1 King & Wilson 2006, p. 37.
- ↑ 15.0 15.1 15.2 Van der Kiste 1999, pp. 25.
- ↑ 16.0 16.1 Carabott 1993, p. 123.
- ↑ Mateos Sáinz de Medrano 2004, p. 69; Van der Kiste 1999, p. 26.
- ↑ Marie von Bothmer, « Queen Olga of Greece, née Grand Duchess of Russia » dans The Sovereign ladies of Europe, Adamant Media Corporation, 1899, p. 172-173.
- ↑ Mateos Sáinz de Medrano 2004, p. 70.
- ↑ Hugo Vickers, Alice, Princess Andrew of Greece, Hamish Hamilton, Londres, 2000, p. 68.
- ↑ Gelardi 2006, p. 181; Vickers 2000, p. 68.
- ↑ Van der Kiste 1999, p. 36.
- ↑ Van der Kiste 1999, p. 53.
- ↑ Greg King et Penny Wilson, op. cit., p. 88.
- ↑ Forster 1958, p. 74.
- ↑ Van der Kiste 1999, p. 42.
- ↑ Mateos Sáinz de Medrano 2004, p. 73; Vickers 2000, p. 309.
- ↑ Michael of Greece 2004, p. 27.
- ↑ Bertin 1982, p. 150.
- ↑ Mateos Sáinz de Medrano 2004, pp. 70–73.
- ↑ 31.0 31.1 Michael LLewellyn Smith, Olympics in Athens. 1896, Profile Books, Londres, 2004, p. 20-23.
- ↑ Van der Kiste 1999, pp. 26, 39.
- ↑ Driault & Lheritier 1926, pp. 227, 319, 424, vol. III.
- ↑ Michel de Grèce, op. cit., p. 26-27.
- ↑ Prince Nicholas of Greece, My Fifty Years, Hutchinson & Co., Londres, 1926, p. 51
- ↑ Édouard Driault et Michel Lhéritier, Histoire diplomatique de la Grèce de 1821 à nos jours, Tome IV, Paris, PUF, 1926, p. 270 et 477.
- ↑ John Van der Kiste, op. cit., p. 41.
- ↑ Édouard Driault et Michel Lhéritier, op. cit., Tome III, p. 323.
- ↑ John Van der Kiste, op. cit., p. 18 et 20-21.
- ↑ Édouard Driault et Michel Lhéritier, op. cit., Tome IV, p. 499-500 et 529.
- ↑ Édouard Driault et Michel Lhéritier, op. cit., Tome IV, p. 365.
- ↑ John Van der Kiste, op. cit., p. 73.
- ↑ Édouard Driault et Michel Lhéritier, op. cit., Tome IV, p. 464.
- ↑ John Van der Kiste, op. cit., p. 40.
- ↑ Vickers 2000, p. 67.
- ↑ Walter Christmas, op. cit., p. 129.
- ↑ Walter Christmas, op. cit., p. 129-130.
- ↑ Walter Christmas, op. cit., p. 130.
- ↑ Christmas 1914, p. 131; Mateos Sáinz de Medrano 2004, p. 72.
- ↑ Christmas 1914, pp. 130–131.
- ↑ Walter Christmas, op. cit., p. 131.
- ↑ Ricardo Mateos Sainz de Medrano, op. cit., p. 72.
- ↑ Walter Christmas, op. cit., p. 265-266 et 368.
- ↑ Gelardi 2006, p. 83.
- ↑ Hugo Vickers, op. cit., p. 67.
- ↑ Carabott 1993, p. 125.
- ↑ Carabott 1993, p. 124.
- ↑ 58.0 58.1 Carabott 1993, p. 126.
- ↑ "The Struggle for a Bible in Modern Greek". The Watchtower. Watch Tower Bible and Tract Society of Pennsylvania. 15 November 2002. สืบค้นเมื่อ 2 November 2014.
- ↑ Carabott 1993, pp. 128–130.
- ↑ Carabott 1993, pp. 123, 129–130.
- ↑ Carabott 1993, pp. 117, 131.
- ↑ Carabott 1993, p. 131.
- ↑ Carabott 1993, p. 117.
- ↑ Campbell & Sherrard 1968, p. 198; Carabott 1993, p. 131.
- ↑ The Times (London), Tuesday 26 November 1901, p. 9.
- ↑ John van der Kiste, op. cit., p. 72.
- ↑ John van der Kiste, op. cit., 72-75.
- ↑ John van der Kiste, op. cit., 76-77.
- ↑ Mateos Sáinz de Medrano 2004, p. 85; Michael of Greece 2004, p. 27.
- ↑ Van der Kiste 1999, p. 87.
- ↑ Van der Kiste 1999, p. 116.
- ↑ King & Wilson 2006, p. 155; Michael of Greece 2004, p. 78.
- ↑ King & Wilson 2006, pp. 163–164; Van der Kiste 1998, p. 191.
- ↑ Michael of Greece 2004, p. 78.
- ↑ King & Wilson 2006, pp. 166, 186.
- ↑ Van der Kiste 1999, pp. 89–90.
- ↑ Van der Kiste 1999, pp. 104–108.
- ↑ Van der Kiste 1999, pp. 112–115.
- ↑ Mateos Sáinz de Medrano 2004, pp. 89–90; Van der Kiste 1999, p. 116.
- ↑ Montgomery-Massingberd 1977, pp. 470–476; Van der Kiste 1998, pp. 198–202.
- ↑ Mateos Sáinz de Medrano 2004, p. 90.
- ↑ 83.0 83.1 Van der Kiste 1999, p. 147.
- ↑ Vickers 2000, p. 145.
- ↑ Van der Kiste 1999, pp. 122–123.
- ↑ Van der Kiste 1999, pp. 123–124.
- ↑ Van der Kiste 1999, p. 125.
- ↑ Van der Kiste 1999, pp. 125–126; Vickers 2000, p. 148.
- ↑ Van der Kiste 1999, p. 126.
- ↑ Bertin 1982, p. 230; Van der Kiste 1999, pp. 129–130.
- ↑ Van der Kiste 1999, pp. 134–137.
- ↑ Van der Kiste 1999, p. 137.
- ↑ The Times (London), Friday 1 December 1922, p. 12.
- ↑ 94.0 94.1 Van der Kiste 1999, p. 140.
- ↑ Van der Kiste 1999, pp. 140–141; Vickers 2000, pp. 170–171.
- ↑ The Times (London), Tuesday 5 December 1922, p. 12.
- ↑ Mateos Sáinz de Medrano 2004, pp. 92–93, 318; Van der Kiste 1999, p. 147.
- ↑ Van der Kiste 1999, p. 147; Vickers 2000, p. 180.
- ↑ Montgomery-Massingberd 1977, p. 325.
- ↑ Vickers 2000, pp. 180–181.
- ↑ Van der Kiste 1999, p. 147; Vickers 2000, pp. 180–181.
- ↑ The Times (London), Friday 25 June 1926, p. 13.
- ↑ Forster 1958, p. 198; Mateos Sáinz de Medrano 2004, p. 188.
- ↑ The Times (London), Tuesday 22 June 1926, p. 15.
- ↑ Mateos Sáinz de Medrano 2004, p. 327.
- ↑ 106.0 106.1 Montgomery-Massingberd 1977, pp. 468–471.
- ↑ 107.0 107.1 107.2 107.3 107.4 Montgomery-Massingberd 1977, pp. 184–186.
- ↑ 108.0 108.1 108.2 Montgomery-Massingberd 1977, pp. 136–141.
- ↑ 109.0 109.1 109.2 Montgomery-Massingberd 1977, p. 237.
- ↑ 110.0 110.1 Montgomery-Massingberd 1977, pp. 265–266.
- ↑ Montgomery-Massingberd 1977, p. 240.
อ้างอิง
[แก้]- Bramsen, Bo (1992). Huset Glücksborg. Europas svigerfader og hans efterslægt [The House of Glücksburg. The Father-in-law of Europe and his descendants] (ภาษาเดนมาร์ก) (2nd ed.). Copenhagen: Forlaget Forum. ISBN 87-553-1843-6.
- Bertin, Célia (1982). Marie Bonaparte (ภาษาฝรั่งเศส). Paris: Perrin. ISBN 2-262-01602-X.
- Campbell, John; Sherrard, Philip (1968). Modern Greece. London: Ernest Benn.
- Carabott, Philip (1993). "Politics, Orthodoxy and the Language Question in Greece: The Gospel Riots of November 1901" (PDF). Journal of Mediterranean Studies. 3: 117–138. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 7 February 2012. สืบค้นเมื่อ 5 August 2012.
- Christmas, Walter; translated by A. G. Chater (1914). King George of Greece. New York: MacBride, Nast & Company.
- Driault, Édouard; Lheritier, Michel (1926). Histoire diplomatique de la Grèce de 1821 à nos jours (ภาษาฝรั่งเศส). Paris: PUF.
- Forster, Edward S. (1958). A Short History of Modern Greece 1821–1956, 3rd edition. London: Methuen and Co.
- Gelardi, Julia (2006). Born to Rule: Granddaughters of Victoria, Queens of Europe. London: Headline Review. ISBN 0-7553-1392-5.
- King, Greg; Wilson, Penny (2006). Gilded Prism: The Konstantinovichi Grand Dukes and the Last Years of the Romanov Dynasty. East Richmond Heights, California: Eurohistory. ISBN 0-9771961-4-3.
- Mateos Sáinz de Medrano, Ricardo (2004). La Familia de la Reina Sofía, La Dinastía griega, la Casa de Hannover y los reales primos de Europa (ภาษาสเปน). Madrid: La Esfera de los Libros. ISBN 84-9734-195-3.
- Michael of Greece (2004). Mémoires insolites (ภาษาฝรั่งเศส). Paris: XO. ISBN 2-84563-186-3.
- Montgomery-Massingberd, Hugh, บ.ก. (1977). Burke's Royal Families of the World (1st ed.). London: Burke's Peerage. ISBN 0-85011-023-8.
- Nicholas of Greece (1926). My Fifty Years. London: Hutchinson & Co.
- Van der Kiste, John (1998). The Romanovs 1818–1958. Stroud, Gloucestershire: Sutton Publishing. ISBN 0-7509-1631-1.
- Van der Kiste, John (1999). Kings of the Hellenes: The Greek Kings 1863–1974. Stroud, Gloucestershire: Sutton Publishing. ISBN 0-7509-2147-1.
- Vickers, Hugo (2000). Alice: Princess Andrew of Greece. London: Hamish Hamilton. ISBN 0-241-13686-5.
- Zeepvat, Charlotte (2007). Romanov Autumn: The Last Century of Imperial Russia. Stroud, Gloucestershire: Sutton Publishing. ISBN 978-0-7509-4418-2.
ก่อนหน้า | โอลกา คอนสแตนตินอฟนา แห่งรัสเซีย | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
ดัชเชสอเมเลียแห่งโอลเดนบูร์ก | สมเด็จพระราชินีแห่งกรีซ (27 ตุลาคม ค.ศ. 1867 – 18 มีนาคม ค.ศ. 1913) |
เจ้าหญิงโซเฟียแห่งปรัสเซีย |